ชื่อผลงาน การประเมินโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
สู่สถานศึกษาโรงเรียนวัดธัญญาราม
ผู้รายงาน นางนงลักษณ์ พาจันดี ตำแหน่ง ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดธัญญาราม
หน่วยงานที่สังกัด สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2
ปีการศึกษา 2563
บทสรุปสำหรับผู้บริหาร
รายงานการประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสภาพแวดล้อม ปัจจัยนำเข้า กระบวนการและผลผลิตของการดำเนินโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาโรงเรียนวัดธัญญาราม สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาสุราษฎร์ธานี เขต 2 โดยใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP Model) โดยแบ่งช่วงการประเมินเป็น 3 ระยะ คือระยะที่ 1 ก่อนดำเนินโครงการ ระยะที่ 2 ระหว่างการดำเนินโครงการ ระยะที่ 3 หลังการดำเนินโครงการ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียน ครูผู้สอนและนักเรียน จำนวน 68 คน ใช้เครื่องมือประเภทแบบสอบถาม ประมาณค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือ แบบสอบถามด้านสภาพแวดล้อมและกระบวนการของโครงการ ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.92 แบบสอบถามด้านผลผลิตของโครงการ ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.84 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินพบว่า
การประเมินโครงการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงสู่สถานศึกษาโรงเรียน วัดธัญญาราม โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาตามรายด้านของการประเมิน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก ทั้ง 4 ด้าน เรียงตามค่าเฉลี่ยดังนี้ ประเด็นด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ ประเด็นด้านผลผลิตของโครงการ ประเด็นด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ และประเด็นด้านกระบวนการของโครงการ
ประเด็นด้านสภาพแวดล้อมของโครงการ โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือการบริหารจัดการสถานศึกษาโดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปกำหนดในวิสัยทัศน์ของโรงเรียน รองลงมาคือนำโครงการเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติโดยกำหนดอยู่ในแผนปฏิบัติการของโรงเรียน
ประเด็นด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือ โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมและทรัพยากรที่เอื้อต่อการดำเนินการตามโครงการเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมาคือโรงเรียนจัดครู บุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ตรงตามภารกิจที่ได้รับมอบหมายอย่างเพียงพอและเหมาะสม และโรงเรียนมีแนวทางส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากร ทุกระดับพัฒนาตนเองให้มีความรู้ความสามารถในการดำเนินโครงการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ประเด็นด้านกระบวนการของโครงการ โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อพบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินทุกข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุดคือ โรงเรียนมีการจัดกิจกรรมปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมพื้นฐานในการดำเนินชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง รองลงมาคือโรงเรียนบริหารจัดการอาคารสถานที่และแหล่งเรียนรู้ในสถานศึกษา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยการแต่งตั้งผู้รับผิดชอบอย่างเหมาะสม
ประเด็นด้านผลผลิตการดำเนินโครงการ พบว่า
1 การประเมินความรู้ ความเข้าใจปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของครูและนักเรียน โรงเรียนวัดธัญญาราม ปีการศึกษา 2563 พบว่า มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงผ่านเกณฑ์ที่กำหนด ร้อยละ 86.05
2 การนำแนวความคิดปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน โดยภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมิน อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาในแต่ละรายข้อพบว่า ผ่านเกณฑ์ การประเมินทุกข้อ ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด มีชีวิตที่เรียบง่าย อยู่อย่างพออยู่ พอกิน พอใช้ รองลงมาคือมีความซื่อสัตย์ กตัญญู รู้คุณและมีความอ่อนน้อมถ่อมตนต่อพ่อแม่ ครูอาจารย์และผู้มีพระคุณ
ข้อเสนอแนะเพื่อปรับปรุงโครงการในโอกาสต่อไป
1. ควรนำรูปแบบการประเมินแบบ CIPP Model ไปประยุกต์ใช้ในการประเมินโครงการอื่นๆ ของโรงเรียน เพื่อตรวจสอบขั้นตอนของกิจกรรมทุกขั้นตอน และนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการวางแผน แก้ปัญหาหรือพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุดต่อผู้เรียน
2. ส่งเสริมให้บุคลากรในสถานศึกษานำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงาน การเรียนการสอนในทุกกลุ่มสาระและติดตาม ประเมินผลการพัฒนาบุคลากรตาม หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ในการพัฒนาสถานศึกษาให้เกิดประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. ศึกษาโรงเรียนที่มีสภาพพื้นที่ สภาพปัญหาและความต้องการที่คล้ายคลึงกับโรงเรียนวัดธัญญาราม เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินงาน นำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุก ๆ ส่วนของโครงการและกิจกรรม