ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาห้องสมุดส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนบ้านหนองผือ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 1
ผู้ประเมิน นายไตรภพ จันทร์ศรี
ปี พ.ศ. 2563
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาห้องสมุดเพื่อส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนบ้านหนองผือ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 1 ครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ประเมินด้านสภาวะแวดล้อมของโครงการพัฒนาห้องสมุดเพื่อส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนบ้านหนองผือตามความเห็นของกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอนและผู้ปกครอง 2) ประเมินด้านปัจจัยเบื้องต้นของโครงการพัฒนาห้องสมุดเพื่อส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนบ้านหนองผือตามความเห็นของกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน และผู้ปกครอง 3) ประเมินด้านกระบวนการดำเนินงานของโครงการพัฒนาห้องสมุดเพื่อส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนบ้านหนองผือตามความเห็นของกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน และผู้ปกครอง4) ประเมินด้านผลที่ได้รับของโครงการพัฒนาห้องสมุดเพื่อส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนบ้านหนองผือ ตามความเห็นของกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองและ 5) ประเมินด้านผลกระทบของโครงการพัฒนาห้องสมุดเพื่อส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนบ้านหนองผือตามความเห็นของกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครองโดยประยุกต์ใช้รูปแบบประเมินของซิปป์ (CIPP Model) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินรวมทั้งสิ้นจำนวน 86คน ประกอบด้วย กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 6 คน ครูผู้สอน จำนวน 6 คน นักเรียน จำนวน 40 คน และผู้ปกครองจำนวน 40 คน โครงการพัฒนาห้องสมุดส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนบ้านหนองผือ ดำเนินการ 8 กิจกรรม ดังนี้ กิจกรรมรักการอ่าน ยุวบรรณารักษ์ ตอบปัญหาสารานุกรมไทย การจัดทำหนังสือเล่มเล็ก การแข่งขันเล่านิทาน ยอดนักอ่าน นิทรรศการวันสำคัญ และการจัดสัปดาห์ห้องสมุดเครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ ได้แก่แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความสอดคล้องของสภาพแวดล้อมความพร้อมของปัจจัยเบื้องต้นและความเหมาะสมของกระบวนการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาห้องสมุดเพื่อส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนบ้านหนองผือ และแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความสอดคล้องของผลที่ได้รับและผลกระทบตามโครงการพัฒนาห้องสมุดเพื่อส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนบ้านหนองผือเป็นแบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) มีจำนวน 2 ฉบับ มีค่าความเชื่อมั่นรายฉบับเท่ากับ 0.653 และ 0.799สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษา พบว่า
1. ด้านสภาวะแวดล้อม กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน และผู้ปกครองนักเรียน พบว่า โดยรวมมีความเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ทุกข้อมีความเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก ถึงมากที่สุด สำหรับข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ โครงการมีความเหมาะสมกับสภาพปัจจุบัน ปัญหาของโรงเรียน และความต้องการของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน รองลงมาคือ การพัฒนาห้องสมุดสามารถช่วยให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านและรักการศึกษาค้นคว้าและห้องสมุดมีความสำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาด้านการอ่านของนักเรียน รายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือโรงเรียนจัดห้องสมุดเป็นแหล่งบริการข้อมูลข่าวสาร สารสนเทศที่ทันสมัยแก่นักเรียน ครู ผู้ปกครอง และชุมชน
2. ด้านปัจจัยเบื้องต้น กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน และผู้ปกครองพบว่า โดยรวมมีความเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ทุกข้อมีความเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก ถึงมากที่สุด สำหรับข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือผู้บริหาร ครู และบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาห้องสมุด รองลงมา คือ ทรัพยากรสารสนเทศ เช่น สิ่งพิมพ์สื่ออิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ มีปริมาณที่เหมาะสมและสอดคล้องกับหลักสูตร และความต้องการของผู้ใช้บริการและโรงเรียนมีการกระจายให้บุคลากรรับผิดชอบในการดำเนินแต่ละกิจกรรมของโครงการ และรายการประเมินที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ห้องสมุดมีอินเตอร์เน็ตเชื่อมต่อเพื่อการสืบค้นข้อมูลอย่างเพียงพอและเหมาะสม
3. ด้านกระบวนการดำเนินงาน กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน และผู้ปกครอง เห็นว่า โดยรวมมีความเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่า ทุกข้อมีความเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก ถึงมากที่สุด สำหรับข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือได้ดำเนินกิจกรรมที่กำหนดในโครงการตามขั้นตอนทุกกิจกรรมรองลงมา คือก่อนการดำเนินงานมีการศึกษาสภาพปัจจุบัน ปัญหา และความต้องการในการพัฒนาห้องสมุดและมีการนิเทศให้คำแนะนำช่วยเหลือการดำเนินงานของคณะกรรมการดำเนินโครงการตามลำดับ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือมีการวิเคราะห์และนำผลการประเมินไปเป็นข้อมูลในการพัฒนาโครงการอย่างต่อเนื่อง
4. ด้านผลที่ได้รับ กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครอง เห็นว่า โดยรวมมีความเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าทุกข้อมีความเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก ถึงมากที่สุด สำหรับข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือนักเรียน ครูผู้ปกครองและชุมชน มีความพึงพอใจต่อการพัฒนาห้องสมุดเพื่อส่งเสริมการอ่านรองลงมา คือนักเรียนสามารถสรุปความรู้ที่ได้จากการอ่านและการเรียนรู้บันทึกเป็นองค์ความรู้ได้ และมีมุมความรู้ต่าง ๆ ที่จำเป็นและเหมาะสมตามลำดับ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ นักเรียนมีทักษะในการเข้าใช้บริการสืบค้นความรู้จากหนังสือสารานุกรมไทยและแหล่งข้อมูลอื่น ๆ
5. ด้านผลกระทบ กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ครูผู้สอน นักเรียน และผู้ปกครอง เห็นว่า โดยรวมมีความเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าทุกข้อมีความเห็นด้วยอยู่ในระดับมาก ถึงมากที่สุด สำหรับข้อที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือโรงเรียน ผู้ปกครองและชุมชน มีความสัมพันธ์อันดีต่อกันมากขึ้นรองลงมา คือผู้ปกครองและชุมชนมีความพึงพอใจในการจัดการศึกษาของโรงเรียนมากขึ้นและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนสูงขึ้น ตามลำดับ และข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ นักเรียนมีพัฒนาการทางสติปัญญาและมีการคิดวิเคราะห์มากขึ้น
สรุปได้ว่าผลการประเมินโครงการพัฒนาห้องสมุดส่งเสริมการอ่านของโรงเรียนบ้านหนองผือ
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาหนองคาย เขต 1 ปีการศึกษา 2563 เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ