ชื่อผลงาน : การพัฒนาครูผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network)
ด้านการจัดการเรียนการสอนทางไกล
ชื่อผู้รายงาน : นายชวลิต เจนเจริญ
ปีที่วิจัย : พ.ศ. 2563
ปีที่รายงาน : พ.ศ. 2564
บทคัดย่อ
รายงานการศึกษา เรื่อง การพัฒนาครูผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ด้านการจัดการเรียนการสอนทางไกล มีวัตถุประสงค์ดังนี้ (1) เพื่อศึกษาสภาพการพัฒนาครูผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ด้านการจัดการเรียนการสอนทางไกล ของครูผู้สอนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 (2) เพื่อนำเสนอแนวทางในการพัฒนาครูผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ด้านการจัดการเรียนการสอนทางไกล ของครูผู้สอนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33กลุ่มตัวอย่างคือ ครูผู้สอนโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ที่ผ่านการอบรมพัฒนาครูผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ด้านการจัดการเรียนการสอนทางไกล ด้วยกระบวนการชุมชนแห่งการเรียนรู้ทางวิชาชีพ (Professional Learning Community : PLC) ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ระหว่างวันที่ 5 พฤษภาคม-16 มิถุนายน 2563 (ชั่วโมงการอบรม 30 ชั่วโมง) จำนวน 232 คน และได้มาโดยการกำหนดกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง (Purposive Sampling) ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้
1. สภาพการพัฒนาครูผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ด้านการจัดการเรียนการสอนทางไกล ภาพรวมพบว่าอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ด้านการจัดการเครือข่ายสังคมออนไลน์ของสถานศึกษา มีความระดับปฏิบัติการมากที่สุด อันดับที่ 2 คือ ด้านการจัดการเรียนการสอน และอันดับที่ 3 คือ ด้านเครื่องมือเทคโนโลยี โดยแต่ละด้านสรุปผล ดังนี้
1.1) ด้านการจัดการเครือข่ายสังคมออนไลน์ของสถานศึกษา โดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์มากที่สุด ลำดับที่ขององค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดได้แก่ ผู้บริหารส่งเสริมบุคลากรให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับเครือข่ายสังคมออนไลน์ในการปฏิบัติงานและการเรียนการสอน อันดับที่สองได้แก่ มีสถานศึกษาจัดทำ Web site, Facebook page และปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันอยู่เสมอ อันดับที่สามได้แก่ สถานศึกษาใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการบริหารจัดการ การสั่งการ หรือการติดต่อประสานงานที่รวดเร็วทันสถานการณ์ และอันดับสุดท้ายได้แก่ บุคลากรในสถานศึกษาสามารถใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ในการปฏิบัติงานที่รับผิดชอบ
1.2) ด้านเครื่องมือเทคโนโลยี โดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์มากที่สุด ลำดับที่ขององค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดได้แก่ สถานศึกษามีการปรับปรุงพัฒนาระบบบริหารจัดการด้วยสื่อสังคมออนไลน์ให้เป็นปัจจุบันและทันสมัย อันดับที่สองได้แก่ สถานศึกษามีระบบบริหารสารสนเทศที่เชื่อมโยงข้อมูลภายในสถานศึกษา ประมวลผลข้อมูลและรายงานผลการดำเนินงานทั้งระบบได้ อันดับที่สามได้แก่ ใช้หรือประยุกต์ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ในการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม และอันดับสุดท้ายได้แก่ นักเรียนมีเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ มีสัญญาณอินเตอร์เน็ต ที่สามารถเข้าถึงการเรียนรู้ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์
1.3) ด้านการจัดการเรียนการสอน โดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์มากที่สุด ลำดับที่ขององค์ประกอบที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุดได้แก่ การจัดการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ อันดับที่สองได้แก่ การจัดการเรียนการสอนเน้นผู้เรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติจริง อันดับที่สามใช้หรือประยุกต์ใช้เครือข่ายสังคมออนไลน์ ในการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นรูปธรรม และครูมีอุปกรณ์สำหรับการจัดการเรียนการสอนทางไกล ผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์และอันดับสุดท้ายได้แก่ บุคลากรในสถานศึกษาเผยแพร่นวัตกรรม ในเครือข่ายอินเตอร์เน็ต
2. แนวทางในการพัฒนาครูผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ ด้านการจัดการเรียนการสอนทางไกล ของครูผู้สอนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 33 ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่
2.1 การวางแผน (Plan) ได้แก่ (1) การกำหนดเป้าหมาย (2) การกำหนดแนวทางในการดำเนินงาน (3) ระบุผู้รับผิดชอบเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนด
2.2 การนำแผนสู่การปฏิบัติ (Implementation) ได้แก่ (1) การมอบหมายผู้รับผิดชอบ (2) การจัดสรรงบประมาณ (3) การดำเนินงานตามแนวทางที่กำหนด
2.3 การประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Symposium) ได้แก่ (1) การนำเสนอผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศในเวทีประชุมวิชาการ (2) มีการประกวด ตัดสินและมอบรางวัลให้กับผลงานดีเด่น
2.4 การประเมินผล (Evaluation) หมายถึง 1) การกำหนดเกณฑ์การประเมิน 2) การจัดทำเครื่องมือการประเมิน 3) การเก็บรวบรวมข้อมูล 4) การรายงานผลการดำเนินงาน เพื่อให้ทราบว่าสามารถบรรลุเป้าหมายที่กำหนดหรือไม่