ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ โรงเรียนวัดปรมัยยิกาวาส (แสนสวัสดิ์วิทยาคาร)
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2
ผู้ประเมิน นายจิรปรัชญ์ ณ ป้อมเพ็ชร์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดปรมัยยิกาวาส (แสนสวัสดิ์วิทยาคาร)
อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี
สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2
ปีที่ประเมิน 2563
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ โรงเรียนวัดปรมัยยิกาวาส (แสนสวัสดิ์วิทยาคาร) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 มีวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ โรงเรียนวัดปรมัยยิกาวาส (แสนสวัสดิ์วิทยาคาร) โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) เป็นแนวคิดของ สตัฟเฟิลบีม (Stufflebeam) ซึ่งแบ่งการประเมินออกเป็น 4 ด้าน ได้แก่ ประเมินด้านบริบทและสภาพแวดล้อม (Context Evaluation) ประเมินปัจจัยนำเข้า (Input Evaluation) ประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) และประเมินผลผลิต (Product Evaluation) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการประเมินครั้งนี้ จำนวน 179 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารและครู จำนวน 12 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่ไม่ใช่ครูและผู้บริหาร จำนวน 7 คน โดยใช้ประชากรเป็นกลุ่มตัวอย่าง นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 80 คน และผู้ปกครอง จำนวน 45 คน ซึ่งเป็นผู้ปกครองของนักเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่างโดยใช้การเลือกแบบเจาะจง จำนวน 80 คน
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถามเพื่อการประเมินโครงการพัฒนา
ทักษะอาชีพ โรงเรียนวัดปรมัยยิกาวาส (แสนสวัสดิ์วิทยาคาร) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 แบ่งเป็น 2 ตอน ดังนี้ 1) แบบสอบถามเกี่ยวกับสถานภาพส่วนตัวของผู้ตอบแบบสอบถามเป็นแบบตรวจสอบ (Checklist) สอบถามเกี่ยวกับเพศ และตำแหน่งหน้าที่ 2) แบบสอบถามเกี่ยวกับการประเมินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ แบบสอบถามฉบับที่ 1 สำหรับผู้บริหารครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการประเมินทั้ง 2 ด้าน คือ ประเมินด้านบริบทและสภาพแวดล้อม และประเมินด้านปัจจัยนำเข้า ฉบับที่ 2 สำหรับผู้บริหารครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นการประเมินด้านกระบวนการ และฉบับที่ 3 สำหรับผู้บริหารครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ผู้ปกครองและนักเรียน เป็นการประเมินด้านผลผลิต แบบสอบถามทุกฉบับเป็นแบบสอบถาม มาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ ตามแบบของลิเคอร์ต (Likert) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลได้แก่ร้อยละค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินโครงการ พบว่า
ผลการประเมินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ โรงเรียนวัดปรมัยยิกาวาส (แสนสวัสดิ์วิทยาคาร)สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 โดยภาพรวมมีผลการดำเนินตามโครงการอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านผลผลิตอยู่ในระดับมาก รองลงมา คือ ด้านกระบวนการดำเนินงานอยู่ในระดับมาก ด้านบริบทและสภาพแวดล้อมอยู่ในระดับมาก และด้านปัจจัยนำเข้าอยู่ในระดับมาก ตามลำดับ ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน เมื่อพิจารณาผลการประเมินเป็นรายด้าน สรุปได้ดังนี้
ด้านบริบทและสภาพแวดล้อม พบว่า มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่ โครงการพัฒนาทักษะอาชีพตรงกับความต้องการของผู้ปกครอง ชุมชน โรงเรียน และของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานนทบุรี เขต 2 อยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ หลักการและเหตุผลของโครงการพัฒนาทักษะอาชีพมีความชัดเจน เหมาะสม และสอดคล้องกับสภาพของโรงเรียนและชุมชน และวัตถุประสงค์ของโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ มีความชัดเจน เหมาะสม และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติได้จริงส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ ผู้ปกครอง และชุมชนที่เกี่ยวข้องเห็นความสำคัญ ส่งเสริม และสนับสนุนโครงการพัฒนาทักษะอาชีพอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน
ด้านประเมินด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่โรงเรียนได้รับการสนับสนุนงบประมาณ จากหน่วยงานภายนอก เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพอยู่ในระดับมาก รองลงมา ได้แก่การฝึกทักษะอาชีพ เน้นการมีส่วนร่วมและการลงมือปฏิบัติของเด็กอยู่ในระดับมากโรงเรียนสนับสนุนการจัดหา และจัดซื้อ วัสดุ อุปกรณ์ สำหรับการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพอย่างเพียงพออยู่ในระดับมากส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่ โรงเรียนจัดสถานที่ และบริเวณที่ใช้ในการดำเนินโครงการโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ อย่างเหมาะสมและปลอดภัยอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน
ด้านกระบวนการดำเนินงาน พบว่า มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่อาชีพที่กำหนดในโครงการ มีความน่าสนใจ เหมาะสมกับช่วงวัย และสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้อยู่ในระดับมาก รองลงมา ได้แก่โรงเรียนมีการดำเนินการฝึกทักษะอาชีพ ตามแผนที่กำหนดในโครงการครบถ้วนอยู่ในระดับมากโรงเรียนจัดแหล่งการเรียนรู้เอื้อต่อการฝึกทักษะอาชีพอยู่ในระดับมากส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด โรงเรียนมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การดำเนินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ ต่อหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้อง อยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน
ด้านผลผลิตพบว่า มีค่าเฉลี่ยโดยรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดเรียงจากมากไปหาน้อย ได้แก่นักเรียนสามารถนำความรู้ ประสบการณ์ และทักษะด้านอาชีพไปต่อยอด หรือพัฒนาได้ด้วยตนเองอยู่ในระดับมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ผลการดำเนินโครงการพัฒนาทักษะอาชีพ ทำให้นักเรียนมีทักษะในการแก้ไขปัญหาระหว่างการดำเนินงานอย่างมีเหตุผลอยู่ในระดับมากที่สุดนักเรียนสามารถนำทักษะที่ได้จากการฝึกปฏิบัติไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อยู่ในระดับมาก ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ได้แก่นักเรียนมีทักษะทางด้านอาชีพ เป็นที่น่าพึงพอใจของผู้บริหาร ครู ผู้ปกครอง ชุมชน และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องอยู่ในระดับมาก ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมิน