ชื่อเรื่อง การพัฒนาการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ด้วยรูปแบบ PORADOK MODEL สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เน้นการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก
ผู้วิจัย นางมิ่งขวัญ โพระดก
หน่วยงาน โรงเรียนสุลักขณะ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปทุมธานี เขต 1
ปีที่วิจัย พ.ศ. 2562-2563
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)สร้างและพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่เน้นการพัฒนาความสามารถในการแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก 2)ทดสอบประสิทธิภาพเชิงประจักษ์ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้แบบ PORADOK MODEL เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้สร้างและพัฒนาขึ้น โดย 2.1) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่สร้างและพัฒนาขึ้น 2.2) เปรียบเทียบความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่สร้างและพัฒนาขึ้น 2.3) เปรียบเทียบความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่สร้างและพัฒนาขึ้น 2.4) ศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ต่อการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ด้วยรูปแบบที่สร้างและพัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่ได้จากการคัดเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) จำนวนนักเรียน 19 คน เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย แบบสัมภาษณ์ แบบวิเคราะห์ผลการวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน แบบร่างรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้แนวคิดการเรียนรู้เชิงรุก แบบวัดความสามารถในการแก้ปัญหาและความคิดสร้างสรรค์ แบบทดสอบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 แบบประเมินความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าที (t-test แบบ dependent)
ผลการศึกษา มีดังนี้
1) ผลการพัฒนารูปแบบ พบว่า รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีชื่อว่า PORADOK MODEL ประกอบด้วย 1) แนวคิด 2)หลักการ3) วัตถุประสงค์ 4.ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ 5. เงื่อนไขสำคัญในการใช้รูปแบบ และ 6.การวัดและประเมินผลมีค่าประสิทธิภาพเชิงเหตุผลเท่ากับ 1.00
2) ผลการทดสอบประสิทธิภาพเชิงประจักษ์ของรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ที่สร้างขึ้นพบว่า
2.1ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หลังการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่สร้างและพัฒนาขึ้นสูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ.01
2.2 ความสามารถในการแก้ปัญหาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หลังการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่สร้างและพัฒนาขึ้นสูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01
2.3 ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 หลังการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่สร้างและพัฒนาขึ้นสูงกว่าก่อนการจัดการเรียนรู้ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01
2.4 ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ต่อการจัดการเรียนรู้ด้วยรูปแบบที่สร้างและพัฒนาขึ้น อยู่ในระดับมาก
คำสำคัญ : รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์, ความสามารถในการแก้ปัญหา, การเรียนรู้เชิงรุก
ความสามารถในการคิดสร้างสรรค์