ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการศึกษาทางไกล
ผ่านดาวเทียม (DLTV) โรงเรียนบ้านหนองไก่ห้าว ปีงบประมาณ 2563
ผู้รายงาน นางสาวอารยา อาจหาญ
ปีที่ดำเนินการ ปีงบประมาณ 2563
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ของโรงเรียนบ้านหนองไก่ห้าว อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 ดำเนินการในปีงบประมาณ 2563 ซึ่งอยู่ระหว่างปีการศึกษา 25622563 วัตถุประสงค์ของการประเมิน ประการแรกคือ เพื่อประเมินผลโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) โดยใช้ซิปโมเดล (CIPP Model) ในด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการและด้านผลผลิตของโครงการ ประการที่สองเพื่อศึกษาผลลัพธ์ของการดำเนินโครงการ และประการสุดท้าย เพื่อศึกษาผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศของการดำเนินโครงการ โดยกลุ่มผู้ให้ข้อมูลในการประเมินเป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดในโครงการ ได้แก่ ครูโรงเรียนบ้านหนองไก่ห้าว จำนวน 4 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานโรงเรียนบ้านหนองไก่ห้าว จำนวน 7 คน (ยกเว้นผู้อำนวยการโรงเรียนและกรรมการผู้แทนครู) นักเรียนจำนวน 15 คน และผู้ปกครองนักเรียนจากหมู่บ้านที่อยู่ในเขตบริการของโรงเรียน คือ หมู่ที่ 10 หมู่บ้านหนองมะกรูด และหมู่ที่ 6 หมู่บ้านหนองไก่ห้าว จำนวน 87 ครัวเรือน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน จำนวน 6 ฉบับได้แก่ แบบประเมินที่มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) จำนวน 4 ฉบับ ทุกฉบับมีการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือทุกฉบับ ได้ค่าความเชื่อมั่นระหว่าง .88-.95 และแบบบันทึกข้อมูลตามสภาพจริงเกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางเรียนระดับสถานศึกษาและแบบบันทึกผลการประเมินสมรรถนะสำคัญของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย (Mean) และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ผลการประเมินดังกล่าวได้ข้อสรุปดังนี้
ผลการประเมิน
ผลการประเมินพบว่า ทุกประเด็นในการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมิน กล่าวคือ
1. ผลการประเมินโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ของโรงเรียนบ้านหนองไก่ห้าว โดยใช้ซิปโมเดล (CIPP Model) พบว่า
ด้านบริบท (context) โดยภาพรวมความต้องการจำเป็นของโครงการและความเป็นไปได้อยู่ในระดับมาก โดยทุกภาคส่วนเห็นว่ากิจกรรมโครงการตอบสนองความต้องการด้านคุณภาพนักเรียนของโรงเรียนบ้านหนองไก่ห้าวได้ และมีความเป็นไปได้ที่จะดำเนินการให้ประสบความสำเร็จ
ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) โดยภาพรวมกิจกรรมการจัดการเรียนการสอนที่จัดขึ้นในโครงการการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) มีความเหมาะสม แต่มีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมคือ ด้านปัจจัยพื้นฐานของสถานศึกษา เกี่ยวกับความพร้อมด้านบุคลากรด้านเทคนิคเกี่ยวกับการติดตั้งระบบและการบำรุงรักษา มีครูและบุคลากรทางการศึกษาที่รับผิดชอบระบบการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ของโรงเรียน โดยมีการมอบหมายและแต่งตั้งเป็นลายลักษณ์อักษร แต่ไม่สามารถติดตั้งและซ่อมบำรุงรักษาระบบได้ จึงควรมีเครือข่ายพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาตามที่สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 กำหนดและมีเครือข่ายด้านเทคนิคในการติดตั้ง ซ่อมแซมบำรุงรักษาและจัดให้มีการทำข้อตกลงความร่วมมือกับเครือข่าย
ด้านกระบวนการ (Process) ผลการประเมินกระบวนการปฏิบัติ การรับรู้และการมีส่วนร่วมในโครงการ โดยรวมอยู่ในระดับมาก และผลการประเมินกระบวนการในรายกิจกรรมย่อยได้แก่ การใช้รูปแบบในการจัดการเรียนการสอน โดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมตามรูปแบบโรงเรียนต้นทาง ทุกวิชาทุกชั้น การเตรียมการสอนล่วงหน้าที่สอดคล้องกับคู่มือครูพระราชทานสอนทางไกลผ่านดาวเทียม สำหรับโรงเรียนปลายทาง และมีการพัฒนาและนำรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนมาประยุกต์ใช้เพิ่มเติมนอกเหนือจากกิจกรรมของโรงเรียนต้นทาง เช่น กิจกรรม Active Learning กิจกรรม Brain Based Learning และ PLC ทั้งนี้ทางโรงเรียนได้มีวางแผนการบริหารจัดการเพื่อให้การนำ DLTV มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เช่น นำวงจรคุณภาพ PDCA การบริหารแบบร่วมมือ และการนำ DLIT มาใช้ร่วมกับ DLTV มีการมอบหมายงานให้นักเรียนเตรียมพร้อมในการเรียนครั้งต่อไปจัดการเรียนรู้ไปพร้อมกับครูโรงเรียนต้นทางและการเอาใจใส่กำกับดูแลแนะนำให้นักเรียนปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ โรงเรียนจึงสามารถจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพ ได้มาตรฐานตามตัวชี้วัดของหลักสูตรได้เป็นอย่างดี แม้ว่าจะขาดแคลนครูและมีข้อจำกัดที่มากมาย โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมที่สวย สะอาดและทันสมัยเพราะมีอุปกรณ์และสื่อ เทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม และกิจกรรมที่หลากหลาย
ด้านผลผลิต (Output) ของโครงการ พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสถานศึกษาของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่ได้คะแนนเฉลี่ยระดับ 3 ขึ้นไป และผลการประเมินสมรรถนะสำคัญตามหลักสูตรของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ที่ได้รับผลการประเมินระดับดีขึ้นไป
2. ผลลัพธ์จากการดำเนินการโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) มีดังนี้
2.1 โรงเรียนบ้านหนองไก่ห้าวสามารถแก้ปัญหาครูไม่ครบชั้น ครูผู้สอนไม่ตรงสาขาวิชา ครูขาดทักษะในการสอน การขาดแคลนสื่อวัสดุอุปกรณ์ ตลอดจนแก้ไขปัญหานักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำ ด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโดยใช้การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV)
2.2 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระดับสถานศึกษา และผลการประเมินสมรรถนะสำคัญตามหลักสูตรของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 มีค่าเฉลี่ยสูงขึ้น
2.3 ครูได้รับการส่งเสริมให้มีทักษะการใช้สื่อเทคโนโลยีได้ดีมากขึ้น ได้รับความ ไว้วางใจจากชุมชน ชุมชนศรัทธาในตัวครูมากยิ่งขึ้น การนำ DLTV ไปใช้ทำให้ครูได้รับรางวัลเชิงประจักษ์ในด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน และสามารถต่อยอดพัฒนานวัตกรรมการศึกษาผ่านการเรียนรู้จากโรงเรียนต้นทางได้เป็นอย่างดี
3. ผลการปฏิบัติที่เป็นเลิศจากการดำเนินการโครงการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ทำให้ชุมชนมีความพึงพอใจ มีความเชื่อมั่นและความภาคภูมิใจในโรงเรียน ที่สามารถนำการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) มาใช้จัดการศึกษาให้กับบุตรหลานได้เป็นอย่างดี และที่สำคัญในช่วงระยะที่ผ่านมาโรงเรียนบ้านหนองไก่ห้าวและโรงเรียนโดยทั่วไปต้องเผชิญกับสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) โรงเรียนต้องปิดเรียนทำให้ต้องบริหารจัดการจัดศึกษาในรูปแบบที่เหมาะสม กล่าวคือต้องให้นักเรียนได้เรียนที่บ้าน การศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) จึงสามารถตอบสนองได้เป็นอย่างดี ชุมชนเกิดความตระหนักและให้ความร่วมมือในการพัฒนาโรงเรียนในทุก ๆ ด้าน โรงเรียนเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม ชุมชนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ผู้ปกครองสามารถเปิดทบทวนความรู้ให้กับนักเรียนได้เอง และสามารถรับทราบได้ว่าลูกหลานของตนเองจะได้เรียนอะไรบ้างในแต่ละวัน ตลอดจนสามารถเรียนรู้ไปพร้อมกับลูกหลานได้ขณะอยู่ที่บ้าน
ข้อเสนอแนะในการพัฒนา
1. การพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) ควรมีการวางแผน การดำเนินการ การติดตามประเมินผล นำผลการประเมินมาปรับปรุงพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
2. ควรนำรูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ไปประยุกต์ใช้ในการประเมินโครงการอื่นๆ ของโรงเรียน เพื่อตรวจสอบสภาพแวดล้อมของโครงการ ปัจจัยนำเข้าของโครงการ กระบวนการดำเนินโครงการ และผลผลิตของโครงการ โดยการประเมิน 3 ระยะ ได้แก่ ก่อนการดำเนินโครงการ ระหว่างดำเนินโครงการ และสิ้นสุดการดำเนินโครงการ เพื่อนำสารสนเทศที่ได้ไปใช้ในการวางแผนแก้ปัญหาหรือพัฒนาโครงการ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และก่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อผู้เรียน
3. กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาลพบุรี เขต 2 ควรส่งเสริมสนับสนุนงบประมาณ กำกับ ติดตามและประเมินผลการขับเคลื่อนการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) อย่างต่อเนื่อง
4. ควรมีการวิจัยพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม (DLTV) สู่ความมีมาตรฐานและคุณภาพของสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานอย่างเหมาะสมตามบริบทของโรงเรียน ในแต่ละภูมิภาค