ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
สาระประวัติศาสตร์เป็นรายวิชาที่กล่าวถึงเรื่องราวหรือเหตุการณ์ของมนุษย์ที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต เป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของมนุษย์ในทุกด้าน (กรมวิชาการ. 2545 : 36) ที่มีจุดหมายให้ผู้เรียนมีความรักชาติ ยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข มีจิตสาธารณะที่มุ่งทำประโยชน์และสร้างสิ่งที่ดีงามในสังคม และอยู่ร่วมกัน ในสังคมอย่างมีความสุข ( สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2558 : 8) ดังพระราชดำรัสสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ พระราชทานเนื่องในวโรกาสให้คณะบุคคลต่างๆเข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2543 ความว่าประวัติศาสตร์ของแต่ละชาติทุกชาติเขาก็ทะนุทะถนอมของเขาก็เรียนของเขากัน แม้แต่คนต่างประเทศไปเรียนในประเทศเขา ก็ต้องเรียนประวัติศาสตร์ของเขาด้วย อันนี้ก็แปลกที่เราไม่มี ประวัติศาสตร์ชาติไทย เหมือนอย่างว่าแผ่นดินนี้ได้มาอย่างง่ายๆ ไม่ต้องคิดถึงพระเดชพระคุณของ ปู่ย่าตายายที่บุกบั่นฝ่าฟันมา แม้แต่ชีวิตจะเสียสละให้เพื่อที่จะเป็นหลักประกันของคนไทย ความเป็นจริงแล้วการที่มีแผ่นดินเป็นของตนเอง เป็นการประกันค่อนข้างจะปลอดภัย(สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ. 2558 : บทนำ)
การเรียนรู้สาระประวัติศาสตร์ เป็นลักษณะการเรียนรู้โดยครูผู้สอนบรรยายเนื้อหาจากแบบเรียน และหลักสูตรการศึกษาเป็นการถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้เรียนมากกว่า ให้ผู้เรียนสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลทำให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย ส่งผลให้ผู้เรียนไม่เข้าใจและไม่เห็นความสำคัญของการเรียนประวัติศาสตร์(กรมวิชาการ. 2545 : 36) นอกจากนี้ยังเป็นสาเหตุทำให้ให้ผู้เรียนมีผลการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ต่ำ ซึ่งสอดคล้องกับระวิวรรณ ภาคพรต, สุมาลี โตสกุล, และเฉลิมชัย พันธ์เลิศ, บรรณาธิการ, (2554 : 42) ที่กล่าวว่า การจัดการเรียนรู้วิชาประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่เน้นวิธีการสอนด้วยการบรรยาย การเล่าเรื่อง กิจกรรมการเรียนการสอนส่วนใหญ่ยังยึดเอกสาร มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด ไม่สอดคล้องกับ วิธีสอนและเนื้อหาที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จึงมีผลทำให้ผู้สอนและผู้เรียนขาดปฏิสัมพันธ์ในกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้เรียนมิได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่สำคัญ ผู้เรียนกับเพื่อนร่วมชั้นเรียนไม่มีกิจกรรมในการทำงานร่วมกัน
วิธีสอนแบบโครงงาน เป็นการใช้วิธีการสอนแบบโครงงานบูรณาการในรายวิชาประวัติศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนได้ประยุกต์ความรู้ พัฒนาความคิดสร้างสรรค์กระบวนการแก้ปัญหาและตัดสินใจ การแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การทำงาน เป็นกลุ่ม การนำกระบวนการต่าง ๆ ไปใช้ในการเรียนรู้โดยยึดหลักการการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ (อารีรัตน์ วัฒนสิน, 2550 : 3) ซึ่งสอดคล้องกับ โกวิท ประวาลพฤกษ์, (2545 : 5) ที่กล่าวไว้ว่าการเรียนรู้โดยโครงงานเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่ การพัฒนาสมองได้เป็นอย่างดี ผู้เรียนต้องใช้วิธีการเรียนรู้อย่างหลากหลาย การทำงานเป็นกลุ่ม การร่วมมือทำงาน ปัจจุบันการสอนประวัติศาสตร์ไม่ได้เน้นการท่องจำหรือให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องราวประวัติศาสตร์เพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องให้ผู้เรียนสามารถวิเคราะห์เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีเหตุผลเชื่อถือได้ โดยอาศัยวิธีการทางประวัติศาสตร์ (ณรงค์ พ่วงพิศ และคณะ. 2548 : 2) ซึ่งเป็นวิธีสอนที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนให้เป็นผู้มีเหตุผล รู้จักและสามารถทำงานอย่างเป็นระบบ จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะประยุกต์ใช้ แนวคิดการสอนแบบโครงงานและการสอนแบบวิธีการทางประวัติศาสตร์มาใช้ในการพัฒนาผลการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ผลการวิจัยจะได้เป็นแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอน เพื่อพัฒนาให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมและลงมือปฏิบัติจริงทุกขั้นตอนและฝึกให้ผู้เรียนเกิดทักษะการแก้ปัญหา โดยใช้กระบวนการและวิธีการที่เป็นขั้นตอนเพื่อพัฒนาศักยภาพ การเรียนรู้ให้ผู้เรียนได้มีผลการเรียนรู้ประวัติศาสตร์อยู่ในเกณฑ์ที่สูงขึ้น
วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ที่พัฒนาผลการเรียนรู้ประวัติศาสตร์โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
2. เพื่อศึกษาผลผลการเรียนรู้ประวัติศาสตร์โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3
วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
การพัฒนาผลการเรียนรู้ประวัติศาสตร์โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้วิจัยได้ศึกษาวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ความสำคัญของประวัติศาสตร์ คือ ประวัติศาสตร์สอนให้รู้จักตนเอง รู้ประวัติความเป็นมาของท้องถิ่นและประเทศชาติของตน เกิดความรักความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษที่ก่อตั้งชาติบ้านเมือง ยังความเป็นปึกแผ่นดำรงเอกราชมาจนปัจจุบัน และการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ยังฝึกให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของข้อเท็จจริงและหลักฐาน ผู้เรียนให้เป็นนักคิด และมีเหตุผล
2. สาระการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เป็นสาระหนึ่งในกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม ตามที่ระบุไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 คือ สาระการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ มีความสำคัญว่าด้วยเหตุการณ์ที่เป็นมาหรือเรื่องราวของประเทศชาติ เข้าใจพัฒนาการของมนุษยชาติจากอดีตจนถึงปัจจุบัน ในด้านความสัมพันธ์และการเปลี่ยนแปลงของเหตุการณ์อย่างต่อเนื่อง สามารถใช้วิธีการทางประวัติศาสตร์มาวิเคราะห์เหตุการณ์ต่างๆ อย่างเป็นระบบ เข้าใจความเป็นมาของชาติไทย วัฒนธรรม ภูมิปัญญาไทย มีความรัก ความภูมิใจและธำรงความเป็นไทย
3. กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมและเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ในสิ่งที่ตนเองสนใจ อยากรู้คำตอบ โดยมีวิธีการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ เพื่อหาคำตอบจนสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่สำหรับตนเอง ตามกิจกรรมต่างๆที่ได้ปฏิบัติด้วยตนเองอย่างเต็มตามศักยภาพ ส่วนการสอนด้วยวิธีการทางประวัติศาสตร์ เป็นวิธีการแสวงหาความรู้ ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้าหาคำตอบอย่างมีลำดับขั้นตอน คือขั้นกำหนดปัญหา และตั้งสมมติฐาน ขั้นรวบรวมข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา ขั้นวิเคราะห์และประเมินคุณค่าข้อมูลหรือหลักฐาน ขั้นตีความและสังเคราะห์ ขั้นนำเสนอผลการค้นคว้า ผู้วิจัยสรุปได้ว่ากระบวนการเรียนรู้แบบโครงงาน และวิธีการทางประวัติศาสตร์ จึงเป็นกิจกรรมกรรมการเรียนรู้ที่ฝึกให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ ในสิ่งที่ตนเองสนใจ อยากรู้คำตอบ โดยมีวิธีการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ ให้นักเรียนได้ฝึกทักษะใน การค้นคว้าข้อเท็จจริงและศึกษาเหตุผลด้วยตนเองตามขั้นตอนของวิธีการทางประวัติศาสตร์
4. แผนการจัดการเรียนรู้ เป็นเครื่องมือในการจัดกระบวนการเรียนการสอนเพื่อให้ผู้เรียนได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ครูผู้สอนได้กำหนดไว้ มีการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน ที่องค์ประกอบของแผนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย สาระสำคัญ จุดประสงค์การเรียนรู้ สาระการเรียนรู้ กิจกรรม การเรียนรู้ สื่ออุปกรณ์ แหล่งการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลและสุดท้ายคือ บันทึกผลหลัง การจัดการเรียนรู้
5. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คือคุณลักษณะหรือพฤติกรรม รวมไปถึงผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นของผู้เรียน หลังจากกระบวนการจัดการเรียนการสอนได้สิ้นสุดลง เช่น คะแนน เกรด คุณลักษณะที่พึงประสงค์ การวัดและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นการวัดความรู้ความสามารถของผู้เรียนในด้านพุทธิพิสัย ได้แก่ ความรู้ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ การสังเคราะห์ และการประเมินค่า ด้านทักษะพิสัย และด้านจิตพิสัย
วิธีดำเนินการวิจัย
1. การพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เครื่องมือที่ใช้คือ แผนการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผลการเรียนรู้
2. การศึกษาผลการเรียนรู้ประวัติศาสตร์โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เครื่องมือที่ใช้คือ แบบทดสอบวัดผลการเรียนรู้ แบบสังเกตพฤติกรรมด้านทักษะกระบวนการ และแบบประเมินด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์
ผลการวิจัย
1. ผลการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ผู้วิจัยได้ศึกษาหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ศึกษามาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด หน่วยการเรียนรู้ หนังสือเรียนและคู่มือสาระการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ วิเคราะห์มาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด สาระการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ศึกษาแนวคิด ทฤษฎี รูปแบบในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาผลการเรียนรู้ประวัติศาสตร์โดยใช้กระบวนการเรียนรู้ แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ศึกษาแนวทางในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ แล้วดำเนินการพัฒนาจนได้แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 3 แผน ใช้เวลาเรียน 3 ชั่วโมง แผนการจัดการเรียนรู้ ประกอบด้วย ชื่อแผนการจัดการเรียนรูสาระสำคัญ จุดประสงค์สาระการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อประกอบ และ การวัดและประเมินผล
2. ผลการพัฒนาผลการเรียนรู้ประวัติศาสตร์โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่านักเรียนมีผลการเรียนรู้ที่สูงขึ้น
สรุปผลการวิจัย
1. แผนการจัดการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้นประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 3 แผน ใช้เวลาเรียน 3 ชั่วโมง ประกอบด้วย ชื่อแผนการจัดการเรียนรูสาระสำคัญ จุดประสงค์สาระการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อประกอบ และการวัดและประเมินผล โดยภาพรวมแผนการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวมีคุณภาพอยู่ในระดับมาก
2. ผลการเรียนรู้ประวัติศาสตร์โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่านักเรียนมีผลการเรียนรู้ที่สูงขึ้น
อภิปรายผล
1. ผลการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนพบว่านักเรียนมีผลการเรียนรู้ที่สูงขึ้น โดยแผนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ มีจำนวน 3 แผน ใช้เวลาเรียน 3 ชั่วโมง ประกอบด้วย ชื่อแผนการจัดการเรียนรูสาระสำคัญ จุดประสงค์สาระการเรียนรู้ การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สื่อประกอบ การวัดและประเมินผล และผลการประเมินแผนการจัดการเรียนรู้พบว่า การประเมินความเหมาะสมของแผนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 มีความเหมาะสมในระดับมาก เนื่องจากระบวนการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ ผู้วิจัยได้พัฒนาตามขั้นตอนการจัดทำอย่างมีระบบ และวิธีการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยศึกษาจากหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เอกสารที่เกี่ยวข้องกับหลักสูตร การวิเคราะห์เนื้อหา เทคนิคการจัดการเรียนรู้ ตลอดจนการวัดและประเมินผล เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาแผนการจัดการเรียนรู้ ดังที่ คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ (2551, น. 20) ได้กล่าวถึงขั้นตอนในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ว่า ในการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้นั้นผู้ศึกษาจะต้องมีการวิเคราะห์หลักสูตรสถานศึกษาให้เข้าถึงมาตรฐานการเรียนรู้ ตัวชี้วัด สมรรถนะของผู้เรียน คุณลักษณะอันพึงประสงค์และสาระการเรียนรู้ การวัดและประเมินผลเพื่อที่ผู้เรียนจะได้พัฒนาเต็มศักยภาพและบรรลุเป้าหมายที่กำหนด และสอดคล้องกับ ฤดี เชยเดช (2557, น. 30) ที่กล่าวว่า ขั้นตอนการเขียนแผนการจัดการเรียนรู้ ผู้สอนจะต้องดำเนินการตามลำดับ ดังนี้คือ ศึกษาหลักสูตร วิเคราะห์ผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง สาระการเรียนรู้ กระบวนการจัดการเรียนรู้ กระบวนการวัดและประเมินผล แหล่งเรียนรู้ ทุกกระบวนการให้สอดคล้องกับสภาพนักเรียน
2. ผลการศึกษาผลการเรียนรู้ประวัติศาสตร์โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 พบว่า นักเรียนมีผลการเรียนรู้ที่สูงขึ้น แสดงให้เห็นว่าการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงานร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ ดีกว่าการเรียนรู้แบบปกติ ทั้งนี้เนื่องจากแผนการจัดการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้แบบโครงงาน ร่วมกับวิธีการทางประวัติศาสตร์ ทำให้นักเรียนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง ศึกษาค้นคว้าข้อมูล ทำงานร่วมกับเพื่อน ซึ่งสอดคล้องกับ โกวิท ประวาลพฤกษ์, (2545 : 5) ที่กล่าวไว้ว่าการเรียนรู้โดยโครงงานเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่การพัฒนาสมองได้เป็นอย่างดี ผู้เรียนต้องใช้วิธีการเรียนรู้อย่างหลากหลาย ทำให้สมองทำงานทุก ๆ ส่วน การทำงานเป็นกลุ่ม การร่วมมือทำงาน และยังสอดคล้องกับ งานวิจัยของ รุ่งนภา สรรค์สวาสดิ์,(2550 : 100) ที่วิจัยเรื่องการพัฒนาความสามารถในการทำโครงงาน เรื่องการดำรงชีวิตและครอบครัว สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ด้วยวิธีการเรียนรู้แบบโครงงาน ที่ผลการทดลองพบว่า ผลการเรียนรู้เรื่องการดำรงชีวิตและครอบครัวที่ได้รับการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานก่อนและหลังเรียน โดยภาพรวมนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และยังสอดคล้องกับ อำภาพร ระนาฏศิลป์ (2554, น 92-94) ได้ศึกษาวิจัยเรื่องการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเขียนรายงานค้นคว้า สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ด้วยวิธีการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน พบว่า นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ต้องอาศัยการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง และศึกษาค้นคว้าจากแหล่งความรู้ที่หลากหลาย นักเรียนสามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง มีทักษะในการทำงานกลุ่มมากขึ้น มีผลผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนรู้หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ.05 ในส่วนของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ประวัติศาสตร์ โดยอาศัยวิธีการทางประวัติศาสตร์ สามารถฝึกให้ผู้เรียนเห็นความสำคัญของข้อเท็จจริงและหลักฐาน ฝึกให้ผู้เรียนให้เป็นนักคิด และมีเหตุผล