ชื่อผลงานทางวิชาการ การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการศึกษาโดยวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม
โรงเรียนประชารัฐพัฒนา องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี
ผู้วิจัยและพัฒนา นายวิวรรธน์ โพธินา
ผู้อำนวยการสถานศึกษาโรงเรียนประชารัฐพัฒนา
ปีการศึกษาที่พัฒนา ปีการศึกษา 2561
หน่วยงานต้นสังกัด องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาความต้องการในการบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียนประชารัฐพัฒนา องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี 2) พัฒนารูปแบบการบริหาร จัดการศึกษาโดยวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โรงเรียนประชารัฐพัฒนา องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี และ 3) ประเมินผลการใช้รูปแบบการบริหารจัดการศึกษาโดยวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม โรงเรียนประชารัฐพัฒนา องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี ตัวอย่าง ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญ 5 คน ผู้บริหารสถานศึกษาครูและบุคลากรทางการศึกษา 14 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน 9 คน ผู้ปกครองนักเรียน 30 คน และนักเรียน 30 คน เครื่องมือที่ใช้การวิจัย ประกอบด้วย เป็นแบบสัมภาษณ์ แบบสังเกต แบบประเมินรูปแบบ และคู่มือรูปแบบ แบบบันทึกการประชุม แบบนิเทศติดตามผล แบบสอบถามแบบมาตราส่วนประมาณค่า 3 ฉบับ มีความเชื่อมั่นของแบบสอบถามเท่ากับ .91, .89, .94 การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพใช้ การวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) และวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณโดยใช้สถิติบรรยาย ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาความต้องการในการบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียนประชารัฐพัฒนา องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี พบว่า โดยภาพรวม โรงเรียนให้ความสำคัญในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของครูและบุคลากรทางการศึกษา ผู้ปกครองนักเรียน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มุ่งพัฒนากระบวนการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพใน 3 ด้านคือ ด้านการบริหารงานตามภารกิจหลักของโรงเรียน ได้แก่ การบริหารวิชาการ การบริหารงบประมาณ การบริหารงานบุคคล การบริหารทั่วไป และด้านหน้าที่การบริหาร ได้แก่ การนำ การวางแผน การจัดองค์การ การควบคุม ด้านการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ได้แก่ หลักการบริหารตนเอง หลักการกระจายอำนาจ หลักการมีส่วนร่วม หลักการตรวจสอบและถ่วงดุล
2. ผลการพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียนประชารัฐพัฒนา องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรี พบว่า 1) รูปแบบ โดยภาพรวม มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมาก และในส่วนรายองค์ประกอบของรูปแบบ พบว่ามีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ อยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด 2) คู่มือการใช้รูปแบบ มีความเหมาะสมโดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด โดยผลการประเมินที่อยู่ในระดับมากที่สุดคือ ความชัดเจนของหลักการและเหตุผล ความชัดเจนของวัตถุประสงค์ ความครอบคลุมของเนื้อหาที่นำเสนอ ความเหมาะสมของการเรียงลำดับของเนื้อหา คู่มืออ่านแล้วเข้าใจง่ายและสะดวกในการนำไปใช้ในสถานการณ์จริง
3. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารจัดการศึกษาของโรงเรียนประชารัฐพัฒนา องค์การบริหารส่วนจังหวัดปราจีนบุรีใน 3 ประเด็นคือ 1) การนิเทศติดตามผลการใช้รูปแบบ พบว่าโรงเรียนได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์/แผนงบประมาณ/แผนประจำปี/โครงการ/กิจกรรมในการพัฒนาการจัดการศึกษา ที่มุ่งเน้นการมีส่วนรวมและการบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาคุณภาพนักเรียนและสถานศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามขอบข่ายงานตามภารกิจหลักของโรงเรียนคือ งานวิชาการ งานงบประมาณ งานบุคคล และงานบริหารทั่วไป 2) การประเมินประสิทธิผลของรูปแบบโดยภาพรวม พบว่าความเป็นประโยชน์และความเหมาะสม อยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนความเป็นไปได้และความถูกต้อง อยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณารายองค์ประกอบของรูปแบบแล้วมี ผลการประเมินความเป็นประโยชน์ ความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และความถูกต้องอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด และ 3) การประเมินความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบโดยภาพรวม พบว่ามีความพึงพอใจต่อการนำรูปแบบไปใช้ อยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านแล้วทุกด้านคือ การบริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน ภารกิจหลักในการบริหารโรงเรียน และหน้าที่การบริหาร มีความพึงพอใจต่อการนำรูปแบบไปใช้ อยู่ในระดับมาก