ผู้รายงาน นายวิเศษ ฟองตา ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31
บทคัดย่อ
การประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 31 สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ โดยประเมิน 4 ด้าน ดังนี้ ด้านสภาวะแวดล้อม (Context) ด้านปัจจัยเบื้องต้น (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต (Product) 2) เพื่อศึกษานิสัยรักการอ่านของนักเรียน โดยกลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการประเมินทั้งสิ้น จำนวน 763 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 จำนวน 425 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษาและครูผู้สอน จำนวน 75 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 12 คน และผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 338 คน กลุ่มที่ 2 นักเรียน จำนวน 338 คน เครื่องมือ ที่ใช้ในการ เก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ ฉบับที่ 1 แบบสอบถามการประเมินโครงการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ ใน 4 ด้าน คือ ด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยเบื้องต้น ด้านกระบวนการ และด้านผลผลิต มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.87 และแบบประเมินนิสัยรักการอ่านของนักเรียน ซึ่งมีค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.84 โดยใช้มาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และ ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินสรุปได้ดังนี้
1. ความคิดเห็นเกี่ยวกับการดำเนินงานโครงการส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ ของผู้บริหารสถานศึกษา ครู กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และผู้ปกครอง พบว่า ในภาพรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายละเอียดของระดับความคิดเห็นเป็นรายด้าน ด้านที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ ด้านกระบวนการ
1.1 ด้านสภาวะแวดล้อม มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด
1.2 ด้านปัจจัยเบื้องต้น มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด
1.3 ด้านกระบวนการ มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด
1.4 ด้านผลผลิต มีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุด
2. นิสัยรักการอ่านของนักเรียน ในภาพรวม มีการปฏิบัติอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณารายละเอียดเป็นรายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุด คือ นักเรียนชอบแสดงความคิดเห็นจากเรื่อง ต่าง ๆ ที่ได้อ่านร่วมกับผู้อื่น