ชื่อเรื่อง การใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย โดยใช้การสอนแบบกลุ่มร่วมมือ TAI เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย นายบรรดิษฐ์ จันทร์ผุด
สอนวิชา คณิตศาสตร์พื้นฐาน รหัสวิชา ค22104 ระดับชั้น ม.2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
จากสภาพปัจจุบันของการจัดการเรียนรู้คณิตศาสตร์ในโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย พบว่าในรายวิชาคณิตศาสตร์ การตอบคำถาม การแสดงออกของผู้เรียนและการร่วมกิจกรรมของผู้เรียนยังไม่ทั่วถึง การจัดการเรียนรู้จากการอธิบายของครูให้ผู้เรียนฟังพร้อมยกตัวอย่าง 2 - 3 ตัวอย่าง บนกระดานแล้วให้ผู้เรียนทำแบบฝึกหัดจากบทเรียน การเรียนรู้ของผู้เรียนจะเป็นในลักษณะต่างคนต่างเรียนไม่ได้ฝึกการทำงานร่วมกัน ผู้เรียนมีวิธีการแก้ปัญหาเพียงอย่างเดียวคือทำตามตัวอย่างที่ครูสอน มีวิธีการคิดที่ไม่หลากหลายและไม่กล้าคิดหาคำตอบที่แตกต่างจากครู ผู้เรียนในกลุ่มอ่อน ไม่กล้าแสดงออกในการถามและตอบคำถาม ขาดทักษะการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ไม่สามารถดำเนินการวิเคราะห์โจทย์และหาแนวทางในการแก้ปัญหาได้ กิจกรรมไม่ได้ส่งเสริมผู้เรียนให้คิดหรือแก้ปัญหาอย่างมีระบบ โดยเฉพาะในหน่วยการเรียนรู้ เรื่อง ความคล้าย ซึ่งเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่มีลักษณะเป็นนามธรรม และเป็นหน่วยการเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนเป็นผู้คิดเป็น แก้ปัญหาเป็น ซึ่งผู้เรียนส่วนมากยังขาดทักษะการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ส่งผลให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนในหน่วยการเรียนรู้ เรื่องความคล้ายต่ำ
ผู้ศึกษาจึงสนใจที่จะพัฒนาชุดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย โดยใช้การสอนแบบกลุ่มร่วมมือ TAI เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ขึ้นโดยคำนึงถึงความเหมาะสมกับสภาพของนักเรียน เพื่อให้นักเรียนได้ใช้เป็นสื่อประกอบการเรียนที่มีคุณภาพ ซึ่งมีส่วนประกอบที่สำคัญ ได้แก่ กิจกรรม จุดประสงค์การเรียนรู้ สื่อ/อุปกรณ์สำหรับการจัดกิจกรรม วิธีปฏิบัติกิจกรรม ใบความรู้ กิจกรรมฝึกทักษะ ซึ่งเป็นสื่อที่มีความเหมาะสมกับสภาพความแตกต่างระหว่างบุคคลของนักเรียน สอดคล้องตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนให้สูงขึ้นได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
1. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อนและหลังการใช้ชุดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์เรื่อง ความคล้าย โดยใช้การสอนแบบกลุ่มร่วมมือ TAI นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
2. เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เรื่อง ความคล้าย
ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
1. นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ในกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย สูงขึ้น
2. เป็นแนวทางสำหรับครูและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา ในการพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน สำหรับกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์และกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ
วิธีดำเนินการ
1. ประชากร/กลุ่มตัวอย่าง
1.1 ประชากร ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โครงการ SMA โรงเรียนหาดใหญ่ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 3 ห้องเรียน (ม.2/3 - 5) ซึ่งมีความสามารถใกล้เคียงกัน รวมนักเรียนทั้งหมด 108 คน
1.2 กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/4 โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 จำนวน 36 คน ซึ่งได้มาจากวิธีสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยการสุ่ม
2. เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย/นวัตกรรม
2.1 ชุดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย โดยใช้การสอนแบบกลุ่มร่วมมือ TAI สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
2.2 แผนการจัดการเรียนรู้สำหรับใช้กับชุดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย โดยใช้การสอนแบบกลุ่มร่วมมือ TAI สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
2.3 แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนแบบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือก
3. การเก็บรวบรวมข้อมูล
3.1 ทำการทดสอบก่อนเรียนด้วยแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
3.2 ดำเนินกิจกรรมการจัดการเรียนรู้ตามขั้นตอนในแผนการจัดการเรียนรู้ และใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์พื้นฐาน เรื่อง ความคล้าย โดยใช้การสอนแบบกลุ่มร่วมมือ TAI
3.3 ทำการทดสอบหลังเรียนด้วยแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งเป็นแบบทดสอบชุดเดียวกับก่อนเรียนแต่สลับข้อ
4. การวิเคราะห์ข้อมูล/สถิติที่ใช้ในการวิจัย
การวิเคราะห์ข้อมูล
วิเคราะห์ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย โดยใช้การสอนแบบกลุ่มร่วมมือ TAI สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยโดยใช้สูตร t - test Dependent
สถิติที่ใช้ในการวิจัย
4.1 การหาค่าเฉลี่ย (Mean)
4.2 ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
4.3 เปรียบเทียบความแตกต่างของคะแนนเฉลี่ยของแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน จากค่าแจกแจง t แบบ Dependent
ผลการวิจัย
ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนที่เรียนด้วยชุดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ความคล้าย โดยใช้การสอนแบบกลุ่มร่วมมือ TAI สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
ข้อเสนอแนะ
1. การจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ควรเริ่มจัดจากกิจกรรมที่มีความง่ายไปหาแบบฝึกที่มีความยากขึ้นและต้องให้นักเรียนทราบผลของการปฏิบัติกิจกรรมทันที เพื่อทราบความก้าวหน้าของตนเอง
2. การจัดกิจกรรม ครูควรคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล สำหรับนักเรียนที่ทำงานช้าควรปรับเวลาตามความเหมาะสม
3. การจัดกลุ่มเพื่อให้นักเรียนทำกิจกรรมควรมีการกำหนดให้นักเรียนที่เรียนเก่ง อ่อน และปานกลางได้อยู่ร่วมกันอย่างเหมาะสม
4. ควรมีการนำกระบวนการเรียนรู้รูปแบบอื่นนอกเหนือจากกลุ่มร่วมมือ TAI มาใช้ประกอบกับการจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้
อ้างอิง
กนกศรี วิลาวัลย์. (2553). การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ เทคนิค TAI กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ เรื่อง ทศนิยมและเศษส่วน ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1. วิทยานิพนธ์ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
กิตติพร ปัญญาภิญโญผล. (2550). การวิจัยปฏิบัติการ: แนวทางสำหรับครู. บริษัท นันทพันธ์พริ้นติ้ง จำกัด.
ทิพวัลย์ สาลิกา. (2553). การเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเจตคติต่อการเรียนคณิตศาสตร์ เรื่องสมการเชิงเส้นตัวแปรเดียว กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ระหว่างการจัดการเรียนรู้เทคนิค TAI กับการจัดการเรียนรู้แบบ SSCS. วิทยานิพนธ์ครุศาสตร์มหาบัณฑิต สาขาหลักสูตรและการสอน มหาลัยราชภัฏเทพสตรี.