ชื่อเรื่อง การพัฒนาคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน ตามคติพจน์ของโรงเรียน โดยใช้ เพชรวงพักตร์ โมเดล โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ปีการศึกษา 2561 2562
ผู้วิจัย นายนพดล หมิดทองคำ
รองผู้อำนวยการโรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาสงขลา สตูล
ปีที่ศึกษา 2561-2562
บทคัดย่อ
การพัฒนาคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน ตามคติพจน์ของโรงเรียน โดยใช้
เพชรวงพักตร์ โมเดล โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ปีการศึกษา 2561 2562 มีวัตถุประสงค์ (1) เพื่อศึกษาคุณภาพ ระดับการพัฒนาคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน ตามคติพจน์ของโรงเรียน โดยใช้ เพชรวงพักตร์ โมเดล โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ปีการศึกษา 2561 2562 (2) เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการพัฒนาคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน ตามคติพจน์ของโรงเรียน โดยใช้ เพชรวงพักตร์ โมเดล โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ปีการศึกษา 2561 2562 (3) เพื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมความเป็นคนดีของนักเรียนหลังการพัฒนา ตามกิจกรรมการเรียนรู้ เพชรวงพักตร์ โมเดล โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ปีการศึกษา 2561 2562 (4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของ นักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และองค์กรชุมชน ต่อการพัฒนาคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน ตามคติพจน์ของโรงเรียน โดยใช้ เพชรวงพักตร์ โมเดล โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ปีการศึกษา 2561 2562 กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ประกอบด้วยกลุ่มตัวอย่างนักเรียน ปีการศึกษา 2561 และปีการศึกษา 2562 จำนวน 346 คน กลุ่มตัวอย่างครู ปีการศึกษา2561 จำนวน 118 คน และปีการศึกษา 2562 จำนวน 123 คน กลุ่มตัวอย่างผู้ปกครอง ปีการศึกษา 2561 และปีการศึกษา 2562 จำนวน 346 คน กลุ่มตัวอย่างคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2561 และปีการศึกษา 2562 จำนวน 13 คน และกลุ่มตัวอย่างองค์กรชุมชน ปีการศึกษา 2561 และปีการศึกษา 2562 จำนวน 13 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยในครั้งนี้ เป็นแบบสอบถามที่มีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (Rating Scale) จำนวน 4 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 แบบสอบถามคุณภาพการพัฒนาคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน ตามคติพจน์ของโรงเรียน โดยใช้ เพชรวงพักตร์ โมเดล โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561 - 2562 (สำหรับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นผู้ตอบแบบสอบถาม) ฉบับที่ 2 แบบสอบถามระดับการมีส่วนร่วมของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และองค์กรชุมชน ในการพัฒนาคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน ตามคติพจน์ของโรงเรียน โดยใช้ เพชรวงพักตร์ โมเดล โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ปีการศึกษา 2561 - 2562 (สำหรับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และองค์กรชุมชนเป็นผู้ตอบแบบสอบถาม) ฉบับที่ 3 แบบบันทึกผลการสังเกตพฤติกรรมที่สะท้อนถึงคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561 - 2562 (สำหรับครูที่ปรึกษาเป็นผู้สังเกตพฤติกรรมนักเรียนเป็นรายบุคคล) และฉบับที่ 4 แบบสอบถามความพึงพอใจการพัฒนาคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน ตามคติพจน์ของโรงเรียน โดยใช้ เพชรวงพักตร์ โมเดล โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ปีการศึกษา 2561 - 2562 (สำหรับนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และองค์กรชุมชนเป็นผู้ตอบแบบสอบถาม) ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลเมื่อสิ้นสุดปีการศึกษา 2561 และสิ้นสุดปีการศึกษา 2562 โดยนำแบบสอบถามที่ได้รับคืนมาตรวจสอบความสมบูรณ์ และความ
ถูกต้องในการตอบแบบสอบถาม แล้วนำมาลงรหัสข้อมูล และนำมาวิเคราะห์ ประมวลผลด้วยคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ในการวิเคราะห์ข้อมูล และนำเสนอในรูปตารางประกอบ คือ ค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation)
ผลการวิจัยพบว่า
1. คุณภาพการพัฒนาคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน ตามคติพจน์ของโรงเรียน โดยใช้ เพชรวงพักตร์ โมเดล โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ตามความคิดเห็นของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2561 ภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินมีความคิดเห็นอยู่ในระดับ มาก ปีการศึกษา 2562 ภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินมีความคิดเห็นอยู่ในระดับ มากที่สุด สอดคล้องตามสมมติฐาน
2. การมีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน ตามคติพจน์ ของโรงเรียน โดยใช้ เพชรวงพักตร์ โมเดล โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ปีการศึกษา 2561 ภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินมีความคิดเห็นอยู่ในระดับ มาก ปีการศึกษา 2562 ภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินมีความคิดเห็นอยู่ในระดับ มากที่สุด สอดคล้องตามสมมติฐาน
3. คุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียนตามคติพจน์ของโรงเรียนโดยใช้ เพชรวงพักตร์ โมเดล โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ตามความคิดเห็นของครู หลังการพัฒนา ปีการศึกษา 2561 ภาพรวมครูกลุ่มที่ประเมิน มีความคิดเห็นอยู่ในระดับ มาก ปีการศึกษา 2562 ภาพรวม ครูกลุ่มที่ประเมินมีความคิดเห็นอยู่ในระดับ มากที่สุด สอดคล้องตามสมมติฐาน
4. ความพึงพอใจของนักเรียน ครู ผู้ปกครอง คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน และองค์กรชุมชน ในการพัฒนาคุณลักษณะความเป็นคนดีของนักเรียน ตามคติพจน์ ของโรงเรียน โดยใช้ เพชรวงพักตร์ โมเดล โรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ปีการศึกษา 2561 ภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินมีความคิดเห็นอยู่ในระดับ มาก ปีการศึกษา 2562 ภาพรวมทุกกลุ่มที่ประเมินมีความคิดเห็นอยู่ในระดับ มากที่สุด สอดคล้องตามสมมติฐาน
ข้อเสนอแนะในการวิจัย
1. ข้อเสนอแนะเพื่อนำผลการวิจัยไปประยุกต์ใช้
1.1 เหลี่ยมที่ 1 กิจกรรมเสริมอัตลักษณ์ วิชาวรนารีศึกษา เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ครูที่ปรึกษาเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินกิจกรรมโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของโรงเรียน มีคุณลักษณะตามอัตลักษณ์ของโรงเรียน เห็นคุณค่าและมีความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของโรงเรียน และทำให้คุณลักษณะตามอัตลักษณ์ของโรงเรียนเป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่างแก่สังคมโดยมีการดำเนินกิจกรรมปฐมนิเทศเสริมอัตลักษณ์ของโรงเรียนให้แก่นักเรียนเข้าใหม่ และนักเรียนปัจจุบันก่อนเปิดภาคเรียนทุกปีการศึกษา ซึ่งครูที่ปรึกษาสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของโรงเรียน ออกแบบและดำเนินการจัดกิจกรรมตามอัตลักษณ์ของโรงเรียน ทั้ง 4 ด้าน ได้แก่ ด้านจรรยางาม ด้านความรู้ดี ด้านความมีวินัย และด้านใฝ่คุณธรรม พร้อมทั้งมีการประเมินคุณลักษณะของนักเรียนตามอัตลักษณ์ของโรงเรียนเป็นรายบุคคล และส่งเสริม/ปรับปรุง นักเรียนที่มีคุณลักษณะตามอัตลักษณ์ที่ไม่พึงประสงค์อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักเรียนโรงเรียนวรนารีเฉลิม จังหวัดสงขลา ทุกคน มีคุณลักษณะตามอัตลักษณ์ของโรงเรียน สามารถนำไปปฏิบัติจนเป็นนิสัยเป็นที่ยอมรับและเป็นแบบอย่างแก่ชุมชนและสังคมได้
1.2 เหลี่ยมที่ 2 กิจกรรมสวัสดียามเช้า Good morning เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่
หัวหน้าระดับชั้น และครูเวรประจำวันเป็นผู้ทำหน้าที่ดูแลความปลอดภัย/ความเรียบร้อยของนักเรียน เสริมสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียนและเป็นการเสริมสร้างอัตลักษณ์ของนักเรียน โดยจัด
ครูเวรประจำวันตามกลุ่มสาระฯ (เช้า-บ่าย) รับขวัญนักเรียนร่วมกับนักเรียนสภานักเรียน และดูแล
ความเป็นระเบียบเรียบร้อยของนักเรียน ให้นักศึกษาวิชาทหาร( นศท.) เวรประจำวันมาดูแลความปลอดภัยร่วมกับจราจรในการข้ามถนน มีหัวหน้าระดับชั้นเวรประจำวันดำเนินการตรวจสอบ ดูแลความเรียบร้อยบริเวณด้านหน้าและด้านข้างโรงเรียน ท้ายสุดนำผลสรุปของการปฏิบัติงานมาปรับปรุงการดำเนินกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักเรียนทุกคนมีจิตสำนึกในการเป็นลูกพิกุล ซึ่งมีความรัก ความผูกพัน และปฏิบัติตนตามอัตลักษณ์ของโรงเรียนได้เป็นอย่างดีและมีประสิทธิภาพ
1.3 เหลี่ยมที่ 3 กิจกรรม Morning Talk เนื่องจาก เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการปลูกฝังความมีระเบียบวินัย ความรักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นหน้าที่ที่กระทำอย่างต่อเนื่องทุกวัยของผู้เรียน รวมถึงการแจ้งข้อมูลข่าวสารทั้งภายในและภายนอกที่เกี่ยวข้องให้นักเรียนทราบ และถือปฏิบัติร่วมกัน ส่งเสริมให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมอย่างหลากหลาย ให้นักเรียนแสดงออกเชิงทักษะทางวิชาการ และฝึกการกล้าแสดงออก ความเป็นผู้นำผู้ตามที่ดีแก่นักเรียน ซึ่งมีกลุ่มงานบริหารกิจการนักเรียนเป็นผู้ที่คอยวางแผนการดำเนินการ กำหนดปฏิทินปฏิบัติงาน รวบรวมข้อมูลสรุปรายงานผล ประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นระยะ และนำข้อบกพร่องจัดเป็นสารสนเทศในการปรับปรุง จึงส่งผลให้นักเรียนโรงเรียนวรนารีเฉลิมจังหวัดสงขลา รู้บทบาทหน้าที่ของตนเอง มีวิจารณญาณในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารทั้งด้านวิชาการและด้านสังคมจนเกิดประสบการณ์ตรงสามารถนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้
1.4 เหลี่ยมที่ 4 กิจกรรมแนะแนว นักจิตวิทยา กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียน รู้จัก เข้าใจ ช่วยเหลือ ส่งเสริม พัฒนา นักเรียนในรอบด้าน โดยครูที่ปรึกษาคัดกรองนักเรียน (รู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล) ครูแนะแนว และนักจิตวิทยาช่วยในการค้นหาศักยภาพของนักเรียน และส่งต่อสู่ผู้เกี่ยวข้อง ครูผู้สอนส่งเสริมนักเรียนเรื่องการสืบค้นข้อมูล (ส่งเสริมการรักการอ่าน) กลุ่มบริหารงานกิจการนักเรียนให้ข้อมูลสารสนเทศกับผู้ปกครองทราบเกี่ยวกับการศึกษาต่อและอาชีพในวันประชุมผู้ปกครอง จึงส่งผลให้นักเรียนสามารถรู้จักเข้าใจตนเองตามศักยภาพ และสามารถเลือกศึกษาต่อและประกอบอาชีพได้ตรงตามความถนัด ความสามารถของตนเอง
1.5 เหลี่ยมที่ 5 กิจกรรมชุมนุมพหุปัญญา 8 ด้าน เนื่องจากเป็นเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักและเข้าใจตนเอง โดยนักเรียนเป็นผู้เลือกกิจกรรมชุมนุมตามความถนัดและความสนใจสอนให้รู้จักการทำงานเป็นทีมและเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเพื่อเลือกอาชีพของตนเองในอนาคต โดยครูที่ปรึกษากิจกรรมชุมนุมผู้รับผิดชอบ ชี้แจงหลักการวิธีการเลือก กิจกรรมชุมนุม นักเรียนเลือกกิจกรรมชุมนุมตามความถนัดและความสนใจ ดำเนินการเข้ากลุ่มกิจกรรมตามวันเวลาที่กำหนด ท้ายสุดนำเสนอกิจกรรมชุมนุมและประเมินกิจกรรม ส่งผลให้นักเรียนรู้จักและเข้าใจตนเองในกิจกรรมที่ถนัดและชอบ มีความสุขในการร่วมกิจกรรมที่เลือก
1.6 เหลี่ยมที่ 6 บูรณาการการเรียนรู้ STEM กับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เนื่องจากเป็นเป็นกิจกรรมที่ทำให้ครูผู้สอนและนักเรียน มีความรู้ความเข้าใจเรื่อง สะเต็มศึกษา (STEM Education) มากยิ่งขึ้น มีทัศนคติที่ดี และตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ส่งเสริมการศึกษาค้นคว้า ในเชิงบูรณาการความรู้ทั้ง 4 แขนง มาเพื่อช่วยแก้ไขปัญหา สถานการณ์ปัญหาในชีวิตจริง (Project based learning) โดยสามารถคิดวิเคราะห์วิจารณ์ในการแก้ไขปัญหา สนับสนุนการใช้ความคิดสร้างสรรค์ ของเยาวชนของชาติ คิดค้นผลงานทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยี ภายใต้ สะเต็มศึกษา (STEM Education) นำไปสู่การคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคม และสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกฝังให้เยาวชนมีความสามารถในการสื่อสารและการทำงาน ประสานงานร่วมกันได้เป็นอย่างดีได้ นักเรียนมีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ส่งผลให้นักเรียนนั้นมีทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 โดยเน้นวิทยาการทางด้านวิทยาศาสตร์คณิตศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญในการพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน จากการจัดกิจกรรมดังกล่าวส่งผลให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ตามทักษะในศตวรรษที่ 21 นักเรียนเกิดทักษะในการแก้ปัญหา ทักษะในอาชีพที่เตรียมความพร้อมสู่ Thailand 4.0 เกิดชุมชนแห่งการเรียนรู้ PLC เกิดวัฏจักรการเรียนรู้ตามแนว PDCA เกิดการเรียนรู้และเข้าใจตามหลักปรัชญาของเศณษฐกิจพอเพียง นักเรียนสามารถสร้างนวัตกรรมและเผยแพร่ออกสู่ชุมชนได้ โดยวิชาการระดับชั้น และครูที่ปรึกษาเป็นผู้ดูแลและชี้แนะในการดำเนินกิจกรรม
1.7 เหลี่ยมที่ 7 กิจกรรมเครื่องแบบ โครงงานคุณธรรม STAR STEMS เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมพัฒนาให้นักเรียนเป็นคนดี เป็นพลเมืองที่ดีของสังคมของประเทศชาติ มีนิสัยในการสังเกต จดจำ เชื่อฟัง และพึ่งตนเองได้ มีความซื่อสัตย์ สุจริต มีระเบียบวินัยและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ตลอดจนมีการพัฒนาจิตใจ คุณธรรม จริยธรรม ศีลธรรม ตามระบอบประชาธิปไตย มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะตามหลักการของกลุ่มวิชาเครื่องแบบ โดยผู้บังคับบัญชาของแต่ละกิจกรรมเครื่องแบบที่ได้รับการแต่งตั้ง ประชุมกำหนดเนื้อหา กิจกรรมการเรียนรู้ ตามหลักสูตรของแต่ละกิจกรรมกลุ่มเครื่องแบบ กำหนดปฏิทินการเรียนรู้ ดำเนินกิจกรรมการเรียนการสอน นักเรียนเครื่องแบบทุกกลุ่มกิจกรรม จนนักเรียนสามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ได้ตามแบบกิจกรรม Star Stems มีการประเมินผลและรายงานผลต่อผู้บริหารอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ นักเรียนเป็นผู้มีความซื่อสัตย์สุจริต มีระเบียบวินัย มีนิสัยชอบช่วยเหลือผู้อื่น และเป็นคนดีของสังคมและประเทศชาติ
1.8 เหลี่ยมที่ 8 กิจกรรมสาธารณประโยชน์ One Class One Project เนื่องจาก
เป็นกิจกรรมที่ปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกในการบำเพ็ญตนให้เป็นประโยชน์ต่อโรงเรียน สังคม และชุมชน ทำให้นักเรียนมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการจัดกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณะประโยชน์ตามความถนัดและสนใจ นักเรียนเกิดความเมตตากรุณา มีความเสียสละ มีจิตสาธารณะ และรู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ โดยงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน ครูที่ปรึกษา นักเรียน และผู้ปกครองเป็นผู้ดำเนินกิจกรรมร่วมกัน ซึ่งงานกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนเป็นผู้ชี้แจงทำความเข้าใจวัตถุประสงค์ให้แก่ครูที่ปรึกษา และนักเรียนในการจัดกิจกรรมสาธารณะประโยชน์ ครูที่ปรึกษา นักเรียน และผู้ปกครอง มีหน้าที่ร่วมวางแผนกำหนดขั้นตอนการปฏิบัติ ครูที่ปรึกษา และนักเรียนดำเนินการประเมินกิจกรรม สรุปรายงานผลและเผยแพร่การปฏิบัติกิจกรรม ส่งผลให้ นักเรียนมีจิตสาธารณะ เกิดทักษะในการพัฒนาตนเอง มีความตระหนักถึงคุณธรรมพื้นฐาน โดยยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต
2. ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป
2.1 ควรศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อการเป็นคนคดีของนักเรียนอย่างยั่งยืน
2.2 ควรศึกษาปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพของนักเรียนโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปลูกฝังให้นักเรียนเป็นคนดี มีคุณธรรมจริยธรรมที่ดีงามตั้งแต่เยาว์วัย
2.3 ควรศึกษาผลกระทบทางบวกของการเป็นคนดีของนักเรียนที่มีต่อชุมชนและสังคมโดยรอบสถานศึกษา
2.4 ควรศึกษารูปแบบหรือกลยุทธ์การบริหารแบบมีส่วนร่วมในการส่งเสริม / พัฒนาความเป็นคนดี ของนักเรียน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาคุณภาพการศึกษาในมิติอื่นๆ ต่อไป