. ความเป็นมาและสภาพปัญหา
สภาวะโลกปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม ความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การปรับเปลี่ยนปฏิรูปสังคมไปสู่ความเป็นสังคมใหม่ ประกอบกับแนวคิดใหม่ของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานที่มุ่งพัฒนาคนให้เป็นคนที่สมบูรณ์ มีความสมดุลทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์และสังคม สามารถพัฒนาตนเองและสามารถร่วมมือกับผู้อื่นได้อย่างสร้างสรรค์ จึงต้องมีการจัดทำหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน ซึ่งประกอบด้วย กลุ่มสาระที่จำเป็นต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียน
การเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับงานอาชีพและเทคโนโลยี มีทักษะการทำงาน ทักษะการจัดการสามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีต่าง ๆ มาใช้ในการทำงานได้อย่างถูกต้องเหมาะสม คุ้มค่าและมีคุณธรรม สร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการใหม่ สามารถทำงานเป็นหมู่คณะ มีนิสัยรักการทำงาน เห็นคุณค่าและมีเจตคติที่ดีต่อการงานตลอดจนมีคุณธรรม จริยธรรมและค่านิยมที่เป็นพื้นฐาน ได้แก่ ความขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัดและอดทน อันจะนำไปสู่การให้ผู้เรียนสามารถช่วยเหลือตนเองและพึ่งตนเองได้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ทำให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่าง มีความสุข ร่วมมือและแข่งขันในระดับสากลในบริบทของสังคมไทยได้อย่างยั่งยืน (กรมวิชาการ,2551 : 204-205)
เมื่อจบการศึกษาขั้นพื้นฐานในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ แล้วผู้เรียนจะมีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ดังนี้ คือมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการดำรงชีวิตและ ครอบครัว การอาชีพ การออกแบบและเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีเพื่อการทำงานและอาชีพ มีทักษะในการทำงาน การประกอบอาชีพ การจัดการ การแสวงหาความรู้ เลือกใช้เทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศในการทำงาน สามารถทำงานอย่างมีกลยุทธ์ สร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการใหม่ มีความรับผิดชอบ ซื่อสัตย์ ขยัน อดทน รักการทำงาน ประหยัด อดออม ตรงต่อเวลา เอื้อเฟื้อ เสียสละ และมีวินัยในการทำงาน เห็นคุณค่าความสำคัญของงานและอาชีพสุจริตตระหนักถึงความสำคัญของสารสนเทศ การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและพลังงาน (กรมวิชาการ, 2551: 204-205)
ปัจจุบันการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพครูยังจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไม่สอดคล้องกับการปฏิรูปการศึกษานักเรียนไม่ได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังได้ฝึกปฏิบัติน้อยขาดทักษะและกระบวนการทำงานที่ถูกต้องนักเรียนไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการเรียนรู้ไม่ชอบแสวงหาความรู้และการค้นคว้าด้วยตนเอง การวัดผลประเมินผลครูจะเน้นด้านความรู้มากกว่าทักษะกระบวนการและคุณธรรมจริยธรรม จึงไม่สามารถนำความรู้ไปใช้ในการดำเนินชีวิตจริงได้ ส่วนกระบวนการเรียนการสอนและการบริหารจัดการพบว่า ครูส่วนใหญ่ยังใช้การสอนแบบเดิมๆ คือ บรรยายไม่เน้นกระบวนการให้ผู้เรียนได้พัฒนาการคิดวิเคราะห์สังเคราะห์การแสวงหาความรู้ด้วยตนเองและครูยังใช้รูปแบบการจัดการเรียนการสอนและสื่อการสอนไม่หลากหลาย (ไพฑูรย์สุข ศรีงาม, 2545 : 4)
การจัดการศึกษาต้องสร้างความพอใจให้ผู้เรียนและท้าท้ายสู่การสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนอยากเรียนโดยแสวงหาความรู้จากการใช้เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์ เพื่อนำมาสร้างสรรค์งานให้เกิดทักษะกระบวนการจากการทำงาน สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกวิธี ส่งเสริมทักษะการเลือกและประยุกต์ใช้วัสดุ และอุปกรณ์ รวมถึงการใช้ทรัพยากรด้านต่าง ๆ อย่างมีคุณค่า ยึดถือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ปลูกฝังให้เด็กและเยาวชนมีความตระหนักถึงคุณธรรม จริยธรรม มีความซื่อสัตย์ต่อตนเองและสังคม ภายใต้ทักษะการฝึกปฏิบัติจากการจัดการเรียนรู้รายวิชาการงานอาชีพของกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษา ขั้นพื้นฐานพุทธศักราช 2551 ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนแบบองค์รวม เพื่อให้มีความรู้ความสามารถ มีทักษะในการทำงาน เห็นแนวทางในการประกอบอาชีพและการศึกษาต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้สอดคล้องกับชีวิตประจำวันยุคไทยแลนด์ 4.0 ในศตวรรษที่ 21
โดยการสร้างประสบการณ์เรียนรู้ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกโดยนวัตกรรมที่เป็นสื่อกลางของการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการเรียนรู้ที่จะพัฒนาทักษะผู้เรียนให้มีความพร้อมในศตวรรษที่ 21 ด้วยการเรียนรู้ผ่านสะเต็มศึกษา (STEM Education) เป็นสร้างกระบวนการเรียนรู้ที่เป็นการจัดการเรียนการสอนให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจริง สร้างชิ้นงานเป็นของตนเองได้จริง โดยจัดบรรยากาศห้องเรียนให้มีการปฏิบัติจริงซึ่งใช้การเชื่อมโยงศาสตร์วิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ เทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นการจัดการเรียนรู้แบบร่วมมือที่นำความรู้ทุกแขนงมาใช้ในการแก้ปัญหา การค้นคว้าสิ่งต่าง ๆ การสร้างหรือพัฒนาเป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมทักษะพื้นฐานที่จำเป็นในโลกปัจจุบันและทักษะในศตวรรษที่21ซึ่งผู้วิจัยได้ใช้รูปแบบการบูรณาการการเรียนรู้สะเต็มศึกษากับแหล่งทรัพยากรการเรียนรู้และการมีส่วนร่วมของชุมชน อันเป็นพื้นฐานการศึกษาที่ยึดหลักความพอเพียงและการเรียนรู้จากห้องเรียนธรรมชาติสิ่งรอบตัววัสดุอุปกรณ์ที่ผู้เรียนสามารถนำมาสร้างสรรค์ประดิษฐ์เป็นของเล่นในท้องถิ่นภายใต้การเรียนรู้ด้วยตนเอง และสามารถใช้เป็นสื่อประกอบในการจัดการเรียนการสอน โดยเฉพาะของเล่นที่ช่วยให้เกิดการเรียนรู้และเข้าใจ สามารถทำให้นักเรียนเกิดการพัฒนาทักษะกระบวนการทำงานได้
รูปแบบหนึ่งของการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่น่าสนใจ คือ การให้นักเรียนสนุกสนานกับการเล่นของเล่น นอกจากนักเรียนได้ลงมือทำแล้ว นักเรียนยังได้ฝึกพัฒนาการคิดเป็นระบบ ขั้นตอน ของเล่นบางชนิดสามารถนำมาใช้เป็นองค์ประกอบในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังเป็นสื่อที่นำไปสู่การทำกิจกรรม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการการเรียนรู้ตามธรรมชาติของเด็ก ของเล่นจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นต่อเด็ก เพราะเป็นสิ่งที่จะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาทักษะด้านต่าง ๆ ช่วยให้เด็กพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่อย่างขึ้นจากเดิมและพร้อมที่จะเรียนรู้สู่กิจกรรมที่ทันต่อยุคสมัยในโลกที่มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งการเล่นช่วยให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อครู ผู้ปกครอง เพื่อน และสามารถช่วยให้เด็กปรับตัวเพื่ออยู่ใน สังคมต่อไปในอนาคต (สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2544: 1)
นอกจากนี้การนำแนวคิดแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้โดยใช้กิจกรรม Local toy by Stem Activities เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทำงานตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นหัวข้อหลักที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนนั้นเป็นแนวทางที่จะช่วยพัฒนานักเรียน โดยเฉพาะทักษะกระบวนการทำงาน เน้นให้นักเรียนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตนเองมากขึ้น คิดวิเคราะห์สังเคราะห์ นำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างดียิ่ง โดยการนำกระบวนการจัดการเรียนรู้แบบสะเต็มศึกษา (การประดิษฐ์ของเล่นท้องถิ่น) เข้ามาบูรณาการร่วมกับการพัฒนาทักษะกระบวนการทำงานตามแนวหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและให้สอดคล้องกับผลทั้ง ๔ มิติ สามห่วงและสองเงื่อนไข ช่วยให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้และทำงานโดยเน้นการมีส่วนร่วม การน้อมนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้ามาสู่กระบวนการจัดการเรียนรู้และปลูกฝังเยาวชน นักเรียนตั้งแต่วัยเยาว์ให้เขาได้เติบโตอย่างเข้มแข็งและสง่างามมีภูมิคุ้มกันในตัวที่ดี สร้างสังคมโลกที่เป็นสุข ซึ่งจะเป็นการศึกษาที่สามารถรับมือความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงในศตวรรษที่ ๒๑ ได้อย่างสง่างาม นอกจากนี้ยังเป็นการปลูกฝังคุณธรรมจริยธรรมให้เกิดกับนักเรียน นักเรียนสามารถเรียนรู้ในโรงเรียนได้อย่างมีความสุข เมื่อนักเรียนมีคุณธรรมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงแล้ว จะทำให้ผลการเรียนดีขึ้น และบรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติที่ว่านักเรียนเป็นผู้ที่ ดี เก่ง มีสุขและดำรงชีวิตใน สังคมได้อย่างมีความสุข เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของประเทศชาติต่อไป