บทคัดย่อ
หัวข้อวิจัย ผลของการจัดการเรียนรู้เชิงรุกร่วมกับคำถามระดับสูงที่มีต่อความสามารถในการให้เหตุผลและการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ เรื่อง เลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย
ผู้วิจัย นางสาวพรพิไร แก้วสมบัติ
กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย
ปีการศึกษา 2563
การวิจัยในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลอง (Experimental Research) โดยมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย ดังนี้ (1) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง เลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้เชิงรุกร่วมกับคำถามระดับสูง (2) เพื่อเปรียบเทียบความสามารถในการให้เหตุผลและการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียนที่ได้รับการจัดการเรียนรู้เชิงรุกร่วมกับคำถามระดับสูงกับเกณฑ์ร้อยละ 75 และ (3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 ที่มีต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุกร่วมกับคำถามระดับสูงที่ส่งผลต่อความสามารถในการให้เหตุผล การเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เรื่อง เลขยกกำลัง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4/5 จำนวน 36 คน ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2563 โรงเรียนพระปฐมวิทยาลัย ดำเนินการทดลองระหว่างวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2564 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2564 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบทดสอบวัดความสามารถในการให้เหตุผลและการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ และแบบสอบถามความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการหาค่าเฉลี่ย ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (t - test) แบบ Dependent ค่า t test for one sample และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่อง เลขยกกำลัง ก่อนและหลังการจัดการเรียนรู้โดยใช้การจัด การเรียนรู้เชิงรุกร่วมกับคำถามระดับสูงที่มีต่อความสามารถในการให้เหตุผล การเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ซึ่งยอมรับสมมติฐานการวิจัยที่กำหนดไว้โดยหลังการจัดการเรียนรู้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่า ก่อนจัดการเรียนรู้
2) ความสามารถในการให้เหตุผลและการเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 หลังได้รับการจัดการเรียนรู้เชิงรุกร่วมกับคำถามระดับสูง เท่ากับ 10.58 คะแนน (คิดเป็นร้อยละ 82.29) ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ร้อยละ 75 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01
3) นักเรียนมีความคิดเห็นต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุกร่วมกับคำถามระดับสูงที่มีต่อความสามารถในการให้เหตุผล การเชื่อมโยงทางคณิตศาสตร์และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน อยู่ในระดับเห็นด้วยมากที่สุด (x̄ =4.53 , S.D.= 0.21)