ชื่อเรื่อง : รายงานผลการประเมินโครงการส่งเสริมการจัดการศึกษาเรียนรวม
โรงเรียนบ้านหนองแหย่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3
ชื่อผู้ศึกษา : นางสาวอรทัย ศิริลักษณ์
ปีการศึกษาที่ศึกษา : 2563
รายงานผลการประเมินโครงการส่งเสริมการจัดการศึกษาเรียนรวมโรงเรียนบ้านหนองแหย่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินบริบทปัจจัยนำเข้า กระบวนการและส่วนขยายผลผลิตของโครงการด้านผลกระทบ ประสิทธิผล ความยั่งยืน และการถ่ายทอดส่งต่อ โดยใช้รูปแบบการประเมินโครงการแบบ CIPPIEST Model ประชากรที่ใช้ในการประเมิน มีจำนวนทั้งสิ้น 54 คน ประกอบด้วย ครูจำนวน 7 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่เป็นผู้แทนจากชุมชน จำนวน 7 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 20 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จำนวน 20 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล เป็นแบบสอบถาม สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล คือ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมิน พบว่า
1. ด้านบริบท พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผู้ปกครอง ชุมชนเห็นความสำคัญในการจัดการศึกษาเรียนรวมให้กับนักเรียน รองลงมาคือบุคลากรมีประสบการณ์และมีความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ และโรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชนที่มีนักเรียนที่จำเป็นต้องได้รับการศึกษาเรียนรวม
2. ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยการอบรมนักเรียนทั่วไปให้มีความรู้เกี่ยวกับความพิการแต่ละประเภทและทักษะการช่วยเหลือนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษตลอดจนการอยู่ร่วมกันในสังคมที่มีความแตกต่างระหว่างบุคคล รองลงมา คือ การอบรมนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษให้มีความรู้เกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคล การอยู่ร่วมกันในสังคม การรู้คุณค่าในตนเอง การตัดสินใจด้วยตนเองและสภาพแวดล้อมในโรงเรียน และครูมีความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับการจัดการศึกษาเรียนรวม
3. ด้านกระบวนการ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยการส่งเสริมให้นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้ร่วมกิจกรรมนอกชั้นเรียนทั้งในโรงเรียนและชุมชน รองลงมาคือ การจัดเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก โดยให้นั่งเรียนบนรถวีลแชร์ของตนเอง ให้นักเรียนใช้ห้องน้ำคนพิการและให้นักเรียนเรียนเรียนรู้จากเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และผู้บริหารมีการนิเทศ กำกับ ติดตาม การดำเนินงานอย่างสม่ำเสมอ
4. ด้านผลผลิต โดยมีการประเมินส่วนขยายผลผลิตแต่ละด้าน ดังนี้
4.1 ด้านผลกระทบ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยนักเรียนมีความห่วงใย
เอื้ออาทรซึ่งกันและกันเกี่ยวกับความแตกต่างระหว่างบุคคล ชุมชนเข้าใจและยอมรับการจัดการศึกษาเรียนรวม และนักเรียนมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามที่สถานศึกษากำหนด
4.2 ด้านประสิทธิผล พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยนักเรียนมีสุขภาวะทางร่างกายและลักษณะจิตสังคมเหมาะสมตามศักยภาพ รองลงมาคือ นักเรียนเรียนรู้โดยผ่านกระบวนการคิด ได้ปฏิบัติจริงด้วยวิธีการและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายสอดคล้องตามศักยภาพของนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษแต่ละบุคคล และโรงเรียนได้รับความไว้วางใจจากผู้ปกครอง ส่งนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษมารับการศึกษา
4.2.1 ผลการประเมินประสิทธิผลด้านความพึงพอใจที่มีต่อโครงการตามความคิดเห็นของครูและคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยโครงการส่งเสริมให้นักเรียนเอื้ออาทรและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในลักษณะเพื่อนช่วยเพื่อน พี่ช่วยน้อง โครงการทำให้นักเรียนรู้จักความแตกต่างระหว่างบุคคลและสามารถอยู่ร่วมกันได้ และโครงการส่งเสริมให้ครู ผู้ปกครอง ชุมชนและองค์กรอื่น มีส่วนร่วมในการส่งเสริมการจัดการศึกษาเรียนรวม
4.2.2 ผลการประเมินประสิทธิผลด้านความพึงพอใจที่มีต่อโครงการตามความคิดเห็นของผู้ปกครอง พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยผู้ปกครองพึงพอใจต่อความประพฤติโดยรวมของนักเรียน รองลงมา คือ ผู้ปกครองพึงพอใจต่อความมั่นใจในตนเอง กล้าแสดงออกของนักเรียน และผู้ปกครองพึงพอใจต่อความรับผิดชอบในการเรียนของนักเรียน
4.2.3 ผลการประเมินประสิทธิผลด้านความพึงพอใจที่มีต่อโครงการตามความคิดเห็นของนักเรียน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยนักเรียนพึงพอใจต่อกิจกรรมด้านสภาพแวดล้อม นักเรียนมีความสุขจากการเข้าร่วมโครงการ และนักเรียนพึงพอใจในการเข้าร่วมกิจกรรมด้านนักเรียน
4.3 ด้านความยั่งยืน พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยโครงการเกิดประโยชน์กับนักเรียนและชุมชน โครงการสนองต่อความต้องการของ นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน และโครงการได้รับความร่วมมือและสนับสนุนจากผู้ปกครอง ชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4.4 ด้านการถ่ายทอดส่งต่อ พบว่า โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยนักเรียนสามารถเป็นตัวอย่างในการปฏิบัติตนเพื่ออยู่ร่วมกับบุคคลที่มีความแตกต่างแก่ผู้อื่นได้ โรงเรียนมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้การจัดการศึกษาเรียนรวมของโรงเรียน และนักเรียนสามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของการจัดการศึกษาเรียนรวมได้
กล่าวโดยสรุปได้ว่า จากการประเมินโครงการส่งเสริมการจัดการศึกษาเรียนรวมโรงเรียนบ้านหนองแหย่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ด้วยรูปแบบการประเมิน CIPPIEST Model ในครั้งนี้ประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทุกประการ ผู้บริหารสถานศึกษาได้ข้อมูลสารสนเทศมาใช้ประกอบการตัดสินใจในการดำเนินโครงการหรือพัฒนาโครงการอื่น ๆ ในอนาคต ครูสามารถนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนานักเรียนให้เหมาะสมกับศักยภาพของนักเรียนเป็นรายบุคคล ที่สำคัญยิ่งคือนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษได้รับโอกาสทางการศึกษาและการพัฒนาศักยภาพทัดเทียมกับนักเรียนทั่วไป มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ตามหลักสูตร นอกจากนั้นแล้วชุมชนและผู้ปกครองเข้าใจและให้การสนับสนุนการดำเนินงานส่งเสริมการจัดการศึกษาเรียนรวมของโรงเรียน ดังนั้นจึงถือได้ว่าการดำเนินโครงการส่งเสริมการจัดการศึกษาเรียนรวมโรงเรียนบ้านหนองแหย่ง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเชียงราย เขต 3 ก่อให้เกิดประโยชน์กับสถานศึกษา ชุมชน ผู้ปกครอง และนักเรียน