"พลังครูไทยวิถีใหม่ ฉลาดรู้เท่าทันดิจิทัล"
อาจารี ชูสุวรรณ
ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคน่า 2019 (Covid-19) ที่ทำให้คนในยุคปัจจุบันต้องปรับเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตก้าวเข้าสู่วิถีใหม่ (New Normal) และยังส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ก่อให้เกิดการปรับตัวทั้งสถานศึกษา ทั้งตัวครูผู้สอนและตัวผู้เรียน เพื่อให้ทันการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งเน้นการศึกษาที่มุ่งจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเด็กไทยให้มีทักษะสำหรับการดำรงชีวิตในโลกดิจิทัล
เทคโนโลยีจึงเข้ามีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมากในการขับเคลื่อนระบบการศึกษาไทยให้พัฒนาไปสู่เป้าหมายที่วางไว้ตามแผนการศึกษาชาติ และครูในฐานะที่เป็นกลไกสำคัญในการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยติดตาม ศึกษา ทำความเข้าใจ และพัฒนาตนเอง เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ทางด้านเทคโนโลยีดิจิทัล สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต มีทักษะที่จำเป็นของโลกอนาคต สามารถแก้ปัญหา ปรับตัว สื่อสาร และทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ บทบาทหน้าที่ของครูในศตวรรษที่ 21 จึงควรเป็นผู้อำนวยการเรียนรู้ ผู้แนะแนวทาง และผู้ร่วมเรียนรู้ เพื่อผลักดันให้ผู้เรียนได้สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง สามารถเข้าใจตนเองและค้นพบศักยภาพของตนเองได้ผ่านกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย
ครูไทยวิถีใหม่ต้องปรับพฤติกรรมให้มีความฉลาดรู้เท่าทันดิจิทัล ครูจะต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นที่ปรึกษา เป็นโค้ชรวมทั้งปรับเปลี่ยนข้อจำกัด 7 ประการที่สำคัญ คือ (ที่มา : พลังครูไทยวิถีใหม่ ฉลาดรู้เท่าทันดิจิตอล, 2564)
1) การเรียนรู้ที่ครูผู้สอนยึดตัวครูผู้สอนเป็นศูนย์กลางต้องปรับมาเป็นยึดตัวผู้เรียนเป็นศูนย์กลางอย่างแท้จริง
2) การเรียนรู้ที่เน้นการสอนต้องปรับเป็นเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเรียนรู้จากการศึกษาค้นคว้ามากขึ้น
3) การให้ความรู้แก่ผู้เรียนแบบปรุงสำเร็จ ครูต้องปรับโดยการมอบหมายให้ผู้เรียนได้ไปศึกษาค้นคว้าต่อยอดองค์ความรู้ด้วยตนเอง
4) การเรียนรู้ซึ่งบางโอกาสเป็นการลอกเลียนแบบครู ต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์
5) การเรียนรู้ที่เน้นการท่องจำทฤษฎี ครูต้องปรับกิจกรรมเป็นการเน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วม และมีปฏิสัมพันธ์กับกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลายรูปแบบที่ลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง (Active Learning)
6) การเรียนรู้ที่เน้นการพึ่งพาผู้อื่น ครูต้องปรับให้ผู้เรียนได้พึ่งพาตนเอง
7) การเรียนรู้ที่มุ่งเน้นการสร้างความเป็นตัวตน ครูต้องปรับโดยมุ่งเน้นผู้เรียน เพื่อสร้างความเป็นคนที่สมบูรณ์เมื่อโลกเปลี่ยนบทบาท
การจัดการเรียนการสอนรูปแบบดิจิทัลออนไลน์ในวิถีใหม่ (Online Digital in the New Normal) ครูสามารถนำเทคโนโลยีการเรียนรู้ที่หลากหลายมาใช้ อาทิ Google Classroom, MS Teams และ Zoom รวมถึงเทคนิคการสอนหลากรูปแบบที่ช่วยสร้างนักคิดและนักปฏิบัติ เช่น การใช้ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom), การจัดการเรียนรู้แบบใช้โครงงานเป็นฐาน (PROJECT-BASED LEARNING), การจัดการเรียนรู้แบบสเต็มศึกษา (Stem Educatiion) เป็นต้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดสำหรับการจัดกิจกรรมในลักษณะ Active Learning นั้น ปฏิสัมพันธ์ของครูและนักเรียนมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จในการเรียนรู้ของผู้เรียน และหัวใจสำคัญอีกประการหนึ่งนั่นก็คือความสุขที่เกิดจากการร่วมเรียนรู้ของผู้เรียนซึ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความสนใจและกระตือรือร้นต่อการทำกิจกรรม
นับว่าเป็นความท้าทายของครูยุคใหม่ที่จะต้องคิดค้น ปรับเปลี่ยน เรียนรู้และพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีบริบทที่ตอบโจทย์ตามยุคสมัย โดยต้องไม่ลืมนำเอาศาสตร์พระราชามาประยุกต์ใช้ เพื่อให้ เกิดการ เข้าใจ เข้าถึง และพัฒนา ผู้เรียน เพื่อให้เติบโตเป็นพลเมืองโลกที่สมบูรณ์ได้ในอนาคต