“พลังครูไทยวิถีใหม่ ฉลาดรู้เท่าทันดิจิตอล”
อันธิกา บุญเลิศ
การศึกษาของผู้เรียนในยุคปัจจุบัน หรือที่เรียกกันว่า “ยุคไอที” การศึกษาจำเป็นที่ต้องพัฒนาต่อไปตามยุคสมัย ทำให้ครูยุคปัจจุบันต้อง มีความรู้ ความสามารถ และทักษะ มีคุณธรรมให้ทันต่อความเจริญก้าวหน้าที่เปลี่ยนแปลงไป (บทบาทของครูในยุคเทคโนโลยีสารสนเทศและยุคดิจิตอล, 2564) เมื่อโลกเปลี่ยนบทบาท ครูไทยวิถีใหม่ต้องปรับพฤติกรรมให้มีความฉลาดรู้เท่าทันดิจิทัล ครูจะต้องเป็นผู้สร้างสรรค์ เป็นที่ปรึกษา เป็นโค้ช และที่สำคัญคือ “พลังครูไทย
วิถีใหม่ ฉลาดรู้เท่าทันดิจิทัล” (พลังครูไทยวิถีใหม่ ฉลาดรู้เท่าทันดิจิตอล, 2564)
ปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศได้เข้ามามีบทบาทและมีอิทธิพลต่อชีวิตมนุษย์เพิ่มขึ้น ดังนั้น ครูควรต้องพยายามติดตาม ศึกษา และทำความเข้าใจแนวทางและพัฒนาการที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะนำเทคโนโลยีสารสนเทศไปประยุกต์ใช้ให้เป็นประโยชน์ในการเรียนการสอนและการดำรงชีวิตอย่างเหมาะสม และพัฒนานักเรียนให้มีความรู้ทางด้านไอทีและนำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิตได้ ครูในยุคดิจิทัลจึงต้องปรับตัวให้เข้ากับการเรียนรู้ ให้เท่าทันยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้ ต้องพัฒนาทักษะ บทบาทหน้าที่ มาตรฐานการใช้สื่อในการสอนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถชี้แนะและส่งเสริมให้นักเรียนเรียนรู้ได้ด้วยตนเองตลอดเวลา (ครูไทยสู่การเปลี่ยนแปลงยุคDigital 4.0, 2563) นอกจากนี้ เมื่อโลกเปลี่ยน ระบบการศึกษาไทยในโลกพลวัตสูงที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โลกต้องการคนไทยที่มีคุณภาพ ซึ่งบทบาทและภารกิจครูต้องเปลี่ยนด้วยเช่นกัน ภายใต้วิถีใหม่ (New Normal) ครูผู้สอนยุควิถีใหม่ต้องสามารถเชื่อมโยงการใช้ชีวิต การเรียนรู้ และการทำงาน ซึ่งครูต้องเข้าใจ และนำไปสู่การปรับการเรียนการสอนให้สอดรับกับพลวัตโลก มีการกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้แบบองค์รวมซึ่งประกอบด้วยการเรียนรู้อย่างมีความมุ่งมั่นและมีเป้าหมาย (Purposeful Learning) การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ (Generative Learning) โดยให้ความสำคัญกับการเรียนรู้เพื่อให้เกิดความคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ ประยุกต์ใช้ มีความยืดหยุ่นทางความคิด เปิดมุมมองใหม่ ๆ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม และแบ่งปัน (Collective Learning) เป็นการปลูกฝังให้ผู้เรียนร่วมกันคิด ตลอดจนการเรียนรู้โดยเน้นผลสัมฤทธิ์ (Result Based Learning) ความเป็นครูในอนาคตจะต้องสร้างคุณค่าร่วมในสังคมควบคู่ไปกับคุณค่าความเป็นมนุษย์ รวมถึงต้องสร้างหลักคิดเพื่อให้ผู้เรียนเปลี่ยนแนวคิดในการคิดเพื่อตัวเองไปสู่การให้ผู้เรียนมีความไว้วางใจ การเกื้อกูล การแบ่งปัน และความร่วมมือร่วมใจ ภารกิจใหม่ของครูต้องสร้างให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้เชิงลึกเพื่อพัฒนาให้เกิดชีวิตที่สมดุล รวมทั้งพัฒนาโมเดลการเรียนรู้ในโลกพลวัต เปิดโอกาสลองผิดลองถูกเปิดรับความผิดพลาด ยอมรับความล้มเหลว สามารถทำงานบนแพลตฟอร์มการเรียนรู้ชุดใหม่ ซึ่งการเรียนรู้สามารถเกิดขึ้นจากใคร ที่ใด เมื่อไหร่ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องติดกับห้องเรียนหรือระบบการศึกษาอีกต่อไป อาทิ การศึกษาออนไลน์ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ภายใต้แพลตฟอร์มการสร้างชีวิตที่สมบูรณ์ มีสมดุล เพื่อเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ซึ่งสอดรับกับ “หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” ครูจะต้องถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ ความสมดุลของระบบ ทั้งความสมดุลระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ ระหว่างการเรียนรู้ในโรงเรียนและนอกโรงเรียน ปัญญาประดิษฐ์กับปัญญามนุษย์ และเข้าใจหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร (พลังครูไทยวิถีใหม่ ฉลาดรู้เท่าทันดิจิตอล, 2564) ครูที่ดี จำเป็นที่จะต้องมีความตั้งใจพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีคุณภาพ มีความสามารถ เหมาะกับเป็นครูยุคใหม่ บทบาทของครูในยุคไอทีนั้นจะต้องเป็นผู้สร้างสรรค์และส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้สื่อเพื่อการศึกษาอย่างเป็นกระบวนการ ได้รับความรู้จากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองอย่างแท้จริง โดยผู้เรียนจะต้องมีความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ขององค์ความรู้กับการค้นคว้า เข้าใจและรู้จักเลือกสรรข้อมูลที่มีอยู่อย่างมากมาย นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งในปัจจุบันนานาประเทศต่างให้ความสำคัญของการเรียนรู้เทคโนโลยีสารสนเทศ ดังนั้นจึงต้องเอาใจใส่ติดตามเป็นประจำ
มิฉะนั้นจะกลายเป็นคนล้าหลัง นอกจากนั้นครูต้องส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเองทั้งนอกและในโรงเรียน (ครูไทยสู่การเปลี่ยนแปลงยุค Digital 4.0, 2563)
ดังนั้น การปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ปัจจุบันและปรับเปลี่ยนเพื่อเข้าสู่ยุคแห่งเทคโนโลยีดิจิตอลเป็นอีกสมรรถภาพที่ครูต้องมี (บัณฑิต ทิพากร, 2564) เพื่อออกแบบการสอนให้นักเรียนมีสมรรถภาพดิจิทัล โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการสื่อสาร การทำงาน การสร้าง Digital Content การบริหารความเสี่ยง ความปลอดภัย และความรับผิดชอบในการใช้งาน สร้างทักษะการแก้ปัญหาของผู้เรียนด้วยการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ทำให้ไปสู่ยุควิถีใหม่ หรือ New Normal
(ประสิทธิ์ สนั่นรัมย์, 2564)