ชื่อเรื่อง การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนบ้านหนองจอก(อุดมธรรมอุปถัมภ์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model)
ผู้รายงาน นายสุเทพ ทองสีไพล
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงประเมิน มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนบ้านหนองจอก(อุดมธรรมอุปถัมภ์) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 โดยใช้รูปแบบซิปป์ (CIPP Model) ในประเด็นต่อไปนี้
1) ด้านสภาวะแวดล้อม 2) ด้านปัจจัยนำเข้า 3) ด้านกระบวนการดำเนินงาน 4) ด้านผลผลิต
5) ความพึงพอใจของผู้มีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ ครูจำนวน 6 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานจำนวน 7 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 6 จำนวน 76 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 6 จำนวน 76 คน รวมทั้งสิ้น จำนวน 165 คน โดยประยุกต์ใช้การประเมินโครงการตามรูปแบบซิปป์ (CIPP Model) เป็นกรอบการประเมิน 4 ด้าน คือ ด้านสภาวะแวดล้อม ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการดำเนินงานและด้านผลผลิต สำหรับเครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แบบสอบถามความคิดเห็น และแบบสอบถามความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการประเมินด้านสภาวะแวดล้อมของการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนบ้านหนองจอก(อุดมธรรมอุปถัมภ์) พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า โครงการสอดคล้องกับนโยบายทางการศึกษาตามแผนพัฒนาการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการและยุทธศาสตร์ของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และโครงการสอดคล้องกับนโยบาย กลยุทธ์ จุดเน้น และมาตรฐานของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาเพชรบุรี เขต 2 โรงเรียนและชุมชนมีการประชุมวางแผน ศึกษาข้อมูล สภาพปัญหา จุดแข็ง จุดอ่อน ในการทำโครงการอย่างเป็นระบบ โรงเรียนมีสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมสอดคล้องกับการดำเนินงานตามโครงการและชุมชนให้การสนับสนุน ทุกคนมีส่วนร่วมแก้ไขปัญหาเสนอความคิดเห็นและมีบทบาทในการดำเนินงานตามโครงการ
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนบ้านหนองจอก(อุดมธรรมอุปถัมภ์) พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า บุคลากรมีความรู้ ความสามารถ มีความเข้าใจในเรื่องการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โรงเรียนมีสภาพที่เพียงพอ เหมาะสม สอดคล้องกับการจัดกิจกรรมตามโครงการ
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการดำเนินงานของการประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนบ้านหนองจอก(อุดมธรรมอุปถัมภ์) พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า มีการศึกษาสภาพปัญหา จุดแข็ง จุดอ่อน และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นและระบุความต้องการของโครงการ มีการแต่งตั้งคณะกรรมการ ผู้รับผิดชอบและคณะทำงานเพื่อให้โครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่ตั้งไว้ โครงการมีหลักการเหตุผล วัตถุประสงค์ เป้าหมาย สอดคล้องกับสภาพปัญหา และนโยบายการจัดการศึกษาของรัฐบาล มีการกำกับ ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล โครงการและนิเทศการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านอย่างต่อเนื่อง มีการนำผลการวิเคราะห์ข้อมูล มาปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงานและกิจกรรมให้สอดคล้องกับเหตุการณ์อย่างสม่ำเสมอ และมีการประชุมวางแผนการดำเนินงาน จัดทำแผนปฏิบัติการ กำหนดกิจกรรมสอดคล้องกับสภาพปัญหาและสามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุดประสงค์
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของการประเมินการโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนบ้านหนองจอก(อุดมธรรมอุปถัมภ์) พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า นักเรียนสนใจเห็นความสำคัญและเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน นักเรียนเลือกสิ่งที่ต้องการจากการอ่านและจากสื่อที่หลากหลาย นักเรียนใช้ประโยชน์จากห้องสมุดของโรงเรียนอย่างคุ้มค่า นักเรียนมีทักษะในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองรักการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง กิจกรรมนิสัยรักการอ่านได้รับความร่วมมือจากนักเรียน คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครองและชุมชน นักเรียนสามารถนำทักษะการอ่านไปใช้ประโยชน์ในการเรียน นักเรียนมีความกระตือรือร้นต่อการอ่านทั้งในและนอกห้องเรียน นักเรียนค้นหาข้อมูลประกอบการเรียนรู้จากสื่อสารสนเทศได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
5. ความพึงพอใจของครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียนและผู้ปกครองของนักเรียน ที่มีต่อโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของโรงเรียนบ้านหนองจอก(อุดมธรรมอุปถัมภ์) พบว่า ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า โครงการสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนและเกิดความร่วมมือของครูและชุมชนในการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านของนักเรียน
ข้อค้นพบจากการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า การประเมินโครงการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านโรงเรียนบ้านหนองจอก(อุดมธรรมอุปถัมภ์) ต้องอาศัยการประสานความร่วมมือกันทุกภาคส่วน ทั้งผู้บริหาร คณะครู คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน และชุมชน จึงจะทำให้โครงการประสบความสำเร็จ