ชื่องานวิจัย การพัฒนารูปแบบการสอนแบบโครงงานโดยใช้ทฤษฎีการสร้างความรู้ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปี่ 5
ผู้วิจัยค้นคว้า นางสาวอิสรีย์ แรงครุฑ
ตำแหน่งครู วิทยฐานะครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาลชลราษฎร์นุเคราะห์
อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี สำนักการศึกษา เทศบาลเมืองชลบุรี
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
บทคัดย่อ
งานวิจัยการพัฒนารูปแบบการสอนแบบโครงงานโดยใช้ทฤษฎีการสร้างความรู้ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อรูปแบบการสอนแบบโครงงานโดยใช้ทฤษฎีการสร้างความรู้ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 2) เพื่อพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะการแก้ปัญหา ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่ใช้รูปแบบการสอนแบบโครงงานโดยใช้ทฤษฎีการสร้างความรู้ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มตัวอย่าง เป็น นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (ห้อง 5/1) โรงเรียนเทศบาลชลราษฎร์นุเคราะห์ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี สำนักการศึกษาเทศบาลเมืองชลบุรี ภาคเรียนที่ 1/2561 จำนวน 30 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง การศึกษาวิจัยแบ่งออก เป็น 3 ตอน ดังนี้ 1) การสร้างและพัฒนารูปแบบการสอนแบบโครงงาน โดยการสังเคราะห์รูปแบบเอกสารงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการลงความเห็นโดยคณะผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 12 คน ใช้วิธีการจัดการสนทนากลุ่ม (focus group) 2) การทดลองใช้รูปแบบการสอนแบบโครงงาน โดยใช้ทฤษฎีสร้างความรู้ สำหรับนักเรียนชั้น ประถมศึกษาปีที่ 5 โดยใช้รูปแบบกึ่งทดลอง (One group pretest-posttest design) และ 3) การศึกษาความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการสอนแบบโครงงาน โดยใช้ทฤษฎีการสร้างความรู้ ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบวัดทักษะการคิดวิเคราะห์ แบบวัดทักษะการแก้ปัญหา และแบบประเมินความพึงพอใจ สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และการวิเคราะห์ความก้าวหน้าในการเรียนรู้
ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
1. ผลการพัฒนารูปแบบสอนแบบโครงงาน โดยใช้ทฤษฎีการสร้างความรู้ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 กลุ่มวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี โรงเรียนเทศบาลชลราษฎร์นุเคราะห์ ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนหลัก หรือ 4P ดังนี้ 1) การระบุปัญหา (Problem Identifications) เป็นการร่วมกันศึกษารวบรวมข้อมูล การวิเคราะห์ และกำหนดปัญหา/โครงงานที่ชัดเจน 2) การออกแบบโครงงาน (Project Plan or Project Design) เป็นการร่วมกันสรุปและกำหนดกำหนดแนวทางการหาคำตอบที่เหมาะสมหรือสมมติฐาน การเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ 3) การปฏิบัติการตามแผนที่กำหนด (Project Practice) เป็นการทดสอบ ทดลอง หรือการลงมือปฎิบัติ ตลอดจนการสังเกต รวบรวมข้อมูล ที่ได้จากการตรวจสอบตามสมมติฐานที่กำหนด และ 4) การสรุปและนำเสนอผลของโครงงาน (Project Presentation) เป็นการร่วมกันสรุปและนำเสนอข้อมูลสารสนเทศที่ได้จากการศึกษา นอกจากนี้ยังพบว่าผลการประเมินรูปแบบการสอนแบบโครงงาน โดยใช้ทฤษฎีการสร้างความรู้ที่พัฒนาขึ้น มีผลการประเมินความถูกต้อง เหมาะสม และเป็นไปได้โดยผู้เชี่ยวชาญ อยู่ในระดับมาก ( = 3.11, SD = 0.54 )
2. ผลการพัฒนาทักษะการคิดวิเคราะห์ และทักษะการแก้ปัญหา ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาลชลราษฎร์นุเคราะห์ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี สำนักการศึกษาเทศบาลเมืองชลบุรี ที่ใช้รูแบบการสอนแบบโครงงาน โดยใช้ทฤษฎีการสร้างความรู้ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่พัฒนาขึ้น พบว่า นักเรียนหลังการเรียนรู้มีทักษะการคิดวิเคราะห์ มีคะแนนผลการประเมินเฉลี่ยร้อยละ 76.44 (ระดับสูงมาก) สูงกว่าก่อนการเรียนรู้ ซึ่งมีคะแนนผลการประเมินเฉลี่ยร้อยละ 57.56 (ระดับปานกลาง) และนักเรียนหลังการเรียนรู้มีทักษะการแก้ปัญหา มีคะแนนผลการประเมินเฉลี่ยร้อยละ 75.56 (ระดับสูงมาก) สูงกว่าก่อนการเรียนรู้ ซึ่งมีคะแนนผลการประเมินเฉลี่ยร้อยละ 61.22 (ระดับปานกลาง)
3..ผลการวิเคราะห์ความพึงพอใจของนักเรียนที่ใช้รูปแบบการสอนแบบโครงงาน โดยใช้ทฤษฎีการสร้างความรู้ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเทศบาลชลราษฎร์นุเคราะห์ อำเภอเมืองชลบุรี จังหวัดชลบุรี หลังการเรียนรู้โดยรวม พบว่า นักเรียนความพึงพอใจของนักเรียน อยู่ในระดับพึงพอใจมาก ( = 4.36 , SD = 0.73 )
คำสำคัญ :ทฤษฎีการสร้างความรู้ การสอนแบบโครงงาน ทักษะการคิดวิเคราะห์