ชื่อผลงาน การศึกษาผลการใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ที่เน้นรูปแบบ SSCS เรื่อง ลำดับและอนุกรม สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผู้ศึกษา นายสนธยา เสนามนตรี
สถานศึกษา โรงเรียนโนนหันวิทยายน อำเภอชุมแพ จังหวัดขอนแก่น
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อสร้างแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ที่เน้นรูปแบบ SSCS เรื่องลำดับและอนุกรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่ได้รับการสอนโดยใช้แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ที่เน้นรูปแบบ SSCS เรื่องลำดับและอนุกรม 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่มีต่อแบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ที่เน้นรูปแบบ SSCS เรื่องลำดับและอนุกรม ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนโนนหันวิทยายน สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จำนวน 130 คน โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6/4 จำนวน 30 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบสุ่มกลุ่ม (Cluster random sampling) รูปแบบการศึกษาใช้รูปแบบการทดลองแบบกลุ่มเดียวทดสอบ 2 ครั้ง (The Single Group, Pretest-Posttest Design) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ 1) แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์ที่เน้นรูปแบบ SSCS เรื่อง ลำดับและอนุกรม 2) แผนการจัดการเรียนรู้ 3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และ 4) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียน สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าความเที่ยงตรง ค่าความยากง่าย ค่าอำนาจจำแนก ค่าความเชื่อมั่น ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐานด้วย t-test แบบกลุ่มตัวอย่างไม่เป็นอิสระจากกัน (Dependent Samples)
ผลการศึกษาพบว่า
1. แบบฝึกทักษะคณิตศาสตร์เรื่องลำดับและอนุกรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเน้นรูปแบบ SSCS ที่ผู้ศึกษาสร้างขึ้น มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 81.85/82.44 ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด 80/80
2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องลำดับและอนุกรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 หลังใช้แบบฝึกทักษะสูงกว่าก่อนใช้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะเรื่องลำดับและอนุกรม ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ที่เน้นรูปแบบ SSCS โดยภาพรวมนักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก