รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ของโรงเรียนบ้านคลองบางกก ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ ด้านผลผลิต และด้านผลกระทบ โดยใช้รูปแบบประเมิน CIPPI กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน ข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา จำนวน 16 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านคลองบางกก จำนวน 97 คน และผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนบ้านคลองบางกก จำนวน 97 คน รวมจำนวน 219 คน เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ จำนวน 10 ฉบับ ประกอบด้วย แบบสอบถาม จำนวน 7 ฉบับ และแบบประเมิน จำนวน 3 ฉบับ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลได้แก่ แบบสอบถาม ด้านบริบท มีค่าเฉลี่ยความเชื่อมั่น .91 ด้านปัจจัยนำเข้า มีค่าความเชื่อมั่น .86 ด้านกระบวนการ มีค่าความเชื่อมั่น .90 ด้านผลผลิต มีค่าความเชื่อมั่น .87 ด้านผลกระทบ มีค่าความเชื่อมั่น .89 และเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลค่าเฉลี่ย และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน โดยมีผลการประเมินดังนี้
1. ผลการประเมินด้านบริบทของโครงการ จากการประเมินความคิดเห็นของคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก สำหรับผลการประเมินความคิดเห็นของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษาผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่อยู่ในระดับมาก
2. ผลการประเมินด้านปัจจัยนำเข้าของโครงการ จากการประเมินความคิดเห็นของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก ทั้ง 4 ด้าน โดยด้านบุคลากร มีระดับความคิดเห็น มาก ด้านงบประมาณ มีระดับความคิดเห็น มากที่สุด ด้านวัสดุอุปกรณ์ มีระดับความคิดเห็น มาก และด้านบริหารจัดการ มีระดับความคิดเห็น มาก
3. ผลการประเมินด้านกระบวนการของโครงการ โดยภาพรวม พบว่า ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก โดยแบ่งกิจกรรมออกเป็น 3 กิจกรรม กิจกรรม Big Cleaning กิจกรรมการคัดแยกขยะ และกิจกรรมขยะรีไซเคิล ทั้ง 3 กิจกรรม ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับมาก
4. ผลการประเมินด้านผลผลิตของโครงการผ่านเกณฑ์การประเมิน และผลการประเมินผ่านเกณฑ์การประเมินทั้ง 3 ตัวชี้วัด
4.1 ผลการประเมินความรู้ในการจัดการขยะ ของนักเรียนโรงเรียนบ้านคลองบางกก นักเรียนมีผลคะแนนในภาพรวม ร้อยละ 56.8 โดยคำถามที่นักเรียนส่วนมากตอบถูก 3 อันดับแรก คือ เศษอาหาร เศษผัก เป็นขยะมูลฝอยที่ย่อยสลายได้ มีคะแนนคิดเป็น ร้อยละ 92.8, เศษอาหารสามารถนำมาเป็นอาหารสัตว์ มีคะแนนคิดเป็น ร้อยละ 89.7 และใช้ขนมปังลอยกระทงเพราะย่อยสลายง่าย มีคะแนนคิดเป็น ร้อยละ 86.6
4.2 ผลการประเมินด้านผลการดำเนินโครงการ เมื่อพิจารณาความคิดเห็นของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับ มาก เมื่อประเมินความคิดเห็นของนักเรียนโรงเรียนบ้านคลองบางกก ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับ มาก
4.3 ผลการประเมินด้านความคิดเห็นของนักเรียนโรงเรียนบ้านคลอง
บางกก ที่มีต่อผลผลิตของโครงการ ผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับ มาก โดยตัวชี้วัดที่มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด คือ บริเวณโรงเรียนมีความสะอาดเหมาะแก่การจัดการเรียนการสอน รองลงมา นักเรียนทิ้งขยะลงในถังขยะ และนักเรียนนำความรู้ที่ได้จากการดำเนินกิจกรรมตามโครงการโรงเรียนปลอดขยะไปใช้ในชีวิตประจำวัน
5. ในการประเมินผลกระทบที่นอกเหนือจากวัตถุประสงค์ เพื่อประเมินจิตสำนึกในการรักษาสิ่งแวดล้อม และประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองต่อโครงการโรงเรียนปลอดขยะ (Zero Waste School) ของโรงเรียนบ้านคลองบางกก เมื่อพิจารณาจากการประเมินตนเองเพื่อสำรวจคุณลักษณะจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมนั้นมีทั้งคำถามเชิงบวก และเชิงลบ นักเรียนมีผลคะแนนในภาพรวม ร้อยละ 70.9 ซึ่งผ่านเกณฑ์การประเมินที่กำหนดไว้ และประเมินความพึงพอใจของผู้ปกครองนักเรียนที่มีต่อโครงการโรงเรียนปลอดขยะของโรงเรียนบ้านคลองบางกก พบว่าในภาพรวมผ่านเกณฑ์การประเมินอยู่ในระดับ มาก