บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีความมุ่งหมายเพื่อพัฒนารูปแบบการบริหารงานวิชาการ โรงเรียนปราสาทวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้การมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน ให้เหมาะสมกับบริบทของสถานศึกษา โดยมีความมุ่งหมายเฉพาะในการวิจัยคือ เพื่อศึกษาบริบทด้านการบริหารงานวิชาการ โรงเรียนปราสาทวิทยาคม ศึกษารูปแบบ การบริหารงานวิชาการ โรงเรียนปราสาทวิทยาคมตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้การมี ส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน เพื่อประเมินรูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนปราสาทวิทยาคม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้การมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน และเพื่อทดลองรูปแบบ การบริหารงานวิชาการโรงเรียนปราสาทวิทยาคม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้การมี ส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน วิธีการวิจัยดำเนินการในลักษณะการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยแบ่งการวิจัยออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 การสังเคราะห์และบูรณาการ องค์ความรู้ ระยะที่ 2 เป็นการออกแบบและปรับปรุงพัฒนาร่างรูปแบบ ระยะที่ 3 ดำเนินการจัดทำรูปแบบและการประเมินรูปแบบ ระยะที่ 4 การทดลองใช้รูปแบบ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่แบบสอบถามและแบบประเมินในแต่ละระยะของการวิจัย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน นำเสนอข้อมูลโดยใช้ตารางประกอบการบรรยาย
ผลการวิจัย ปรากฏผลดังนี้
1. บริบทด้านการบริหารงานวิชาการ โรงเรียนปราสาทวิทยาคม พบว่า การบริหารจัดการ ด้านวิชาการของโรงเรียนปราสาทวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา มีความเหมาะสมในระดับปานกลาง
2. รูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนปราสาทวิทยาคม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้ความร่วมมือของเครือข่ายชุมชนมีองค์ประกอบ 2 ส่วน ได้แก่
2.1 องค์ประกอบของรูปแบบที่นำมาใช้ในการจัดการศึกษา ได้แก่ ประกอบด้วย 7 องค์ประกอบ คือ หลักการของรูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนปราสาทวิทยาคม จุดมุ่งหมาย การจัดองค์การ การดำเนินการ ตัวชี้วัดความสำเร็จ การนำรูปแบบไปใช้ และเงื่อนไขความสำเร็จ
2.2 องค์ประกอบด้านการจัดการศึกษา ได้แก่ การบริหารและจัดการศึกษา การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา การจัดการเรียนการสอน การจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการจัดการเรียนรู้ การนิเทศ ติดตาม ประเมินผลและรายงานผล การประชาสัมพันธ์และการสร้างเครือข่าย การมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ชุมชน เครือข่ายชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและคุณภาพนักเรียนตามลักษณะความมีชีวิตพอเพียง
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนปราสาทวิทยาคม ตามหลักปรัชญา ของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้การมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน พบว่า รูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนปราสาทวิทยาคม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้การมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน มีความเหมาะสมและความเป็นไปได้ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.66 และองค์ประกอบด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ การประชาสัมพันธ์และการสร้างเครือข่าย ค่าเฉลี่ย 4.72 ซึ่งมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด
4. ผลการประเมินรูปแบบการบริหารงานวิชาการ โรงเรียนปราสาทวิทยาคม ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง โดยใช้การมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน พบว่า รูปแบบการบริหารงานวิชาการโรงเรียนปราสาทวิทยาคม สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยใช้การมีส่วนร่วมของเครือข่ายชุมชน มีความเหมาะสมโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด มีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.67 และองค์ประกอบด้านที่มีค่าเฉลี่ยมากที่สุด คือ การจัดบรรยากาศและสภาพแวดล้อม ที่เอื้ออำนวย ค่าเฉลี่ย 4.72 ซึ่งมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด