การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ ดังนี้ 1. เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอนภูมิศาสตร์ตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณและผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2. เพื่อศึกษาประสิทธิผลเชิงประจักษ์ของรูปแบบการเรียนการสอนภูมิศาสตร์ตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ดังนี้ 1) เปรียบเทียบการคิดอย่างมีวิจารณญาณก่อนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ที่เรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น 3) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น การวิจัยนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) โดยกำหนดรูปแบบการทดลองแบบกลุ่มเดียว ทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ เทศบาลเมืองสุรินทร์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 6 ห้องเรียน มีนักเรียนจำนวน 198 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนเทศบาล 3 เทศบาลอนุสรณ์ เทศบาลเมืองสุรินทร์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 1 ห้องเรียน มีนักเรียนจำนวน 32 คน ได้มาจากการสุ่มอย่างง่ายโดยวิธีการจับฉลากห้อง (Sample Random Sampling) คือ ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบวัดความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณและแบบสอบถามความคิดเห็น วิเคราะห์ข้อมูลสถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบค่าที (dependent t - test) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัย พบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้นมีชื่อเรียกว่ารูปแบบการเรียนการสอนอีพีซีเอสอี (EPCSE) มีองค์ประกอบ คือ หลักการ วัตถุประสงค์ กระบวนการเรียนการสอน หลักการตอบสนอง ระบบสังคม สิ่งสนับสนุน สาระความรู้ และสิ่งส่งเสริมการเรียนรู้ ซึ่งกระบวนการเรียนการสอน มี
5 ขั้นตอน คือ 1) เร้าความสนใจ (Encouragement : E) 2. ให้ความรู้และทักษะพื้นฐาน (Providing Fundamental Knowledge and Skill : P) 3. สร้างมโนทัศน์และฝึกทักษะการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Constructing Concepts and Critical Thinking) 4. แลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Sharing : S)
5. ตรวจสอบความรู้ความเข้าใจ (Enumeration : E) ผลการตรวจสอบความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎี ความเป็นไปได้ของรูปแบบการเรียนการสอนอีพีซีเอสอี (EPCSE Model) โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า ความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎี มีค่าดัชนีความสอดคล้องรายข้อมีค่าระหว่าง 0.80 1.00 และความเป็นไปได้ของรูปแบบมีค่าดัชนีรายข้อ มีค่าระหว่าง 0.80 1.00 แสดงให้เห็นว่ารูปแบบการเรียนการสอนดังกล่าว มีความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎี และมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้
2. ผลการตรวจสอบประสิทธิผลเชิงประจักษ์ของรูปแบบการเรียนการสอนภูมิศาสตร์ตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีดังนี้
2.1 ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณก่อนและหลังเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น พบว่า คะแนนเฉลี่ยความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณของกลุ่มตัวอย่าง หลังเรียน (x ̅ = 44.19, S.D. = 1.09) ซึ่งอยู่ในระดับสูง สูงกว่าก่อนเรียน (x ̅ = 20.09 , S.D. = 2.53) ซึ่งอยู่ในระดับต่ำอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 2.1
2.2 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนก่อนและหลังเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น พบว่า คะแนนเฉลี่ยที่เรียนโดยกระบวนการเรียนการสอนตามรูปแบบที่พัฒนาขึ้น หลังเรียน (x ̅ = 26.28, S.D. = 0.77) สูงกว่าก่อนเรียน (x ̅ = 13.84, S.D. = 1.02) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 2.2 โดยค่าเฉลี่ยของคะแนนหลังเรียนอยู่ในระดับสูง ส่วนก่อนเรียนอยู่ในระดับต่ำ
2.3 ความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดการเรียนการรู้ตามรูปแบบการเรียนการสอนภูมิศาสตร์ตามทฤษฎีการสร้างความรู้เพื่อส่งเสริมการคิดอย่างมีวิจารณญาณและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 พบว่า โดยภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x ̅ = 4.62, S.D. = 0.48) และเมื่อพิจารณารายด้าน พบว่า อยู่ในระดับเห็นด้วยมากที่สุดทุกด้าน เรียงตามลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ด้านประโยชน์ที่ได้รับ (x ̅ = 4.77 , S.D. = 0.42) ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ (x ̅ = 4.58, S.D. = 0.49) และด้านบรรยากาศในการเรียน (x ̅ = 4.51 S.D. = 0.50) ตามลำดับ