บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย
โดยใช้วิธีสอนแบบแผนภาพลำดับเหตุการณ์
เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนสรุปความจากการอ่านนิทาน
สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ผู้วิจัย นางสาววิไลรัตน์ ลือจันดา
ปีที่วิจัย 2562
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
การวิจัยเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้วิธีสอนแบบแผนภาพลำดับเหตุการณ์ เพื่อพัฒนาความสามารถการเขียนสรุปความจากการอ่านนิทาน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 เป็นการศึกษาวิจัยตามแนวคิด ของ โจนส์ และคณะ (Jones et al, 1989) คล้าก (Clarke, 1991) และจอยส์ และคณะ (Joyce et al, 1992) ซึ่งได้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ผังกราฟฟิกขึ้น โดยผู้วิจัยได้นำมาประยุกต์ร่วมกับการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ซึ่งมีวัตถุประสงค์ของการวิจัย คือ (1) เพื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 4 (อมร สะเพียรชัย อุทิศ) (2) เพื่อพัฒนาและหาค่าประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้วิธีสอนแบบแผนภาพลำดับเหตุการณ์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนสรุปความจากการอ่านนิทาน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยกำหนดเกณฑ์ประสิทธิภาพที่ 80/80 และมีค่าดัชนีประสิทธิผลตั้งแต่ 0.5 ขึ้นไป (3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้ โดยเปรียบเทียบความสามารถในการเขียนสรุปความจากการอ่านนิทาน ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก่อนและหลังจากที่ได้รับการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนรู้ โดยใช้วิธีสอนแบบแผนภาพลำดับเหตุการณ์ และ (4) เพื่อประเมินรูปแบบการจัดการเรียนรู้ โดยการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนรู้ โดยใช้วิธีสอนแบบแผนภาพลำดับเหตุการณ์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนสรุปความจากการอ่านนิทาน เนื้อหาที่ใช้ในการวิจัย คือ การเขียนสรุปความภาษาไทยโดยใช้นิทานเป็นสื่อในการทดลอง ซึ่งนิทานแต่ละเรื่องมีเนื้อหาในเชิงสร้างสรรค์ จรรโลงใจ มีแง่คิดด้านคุณธรรมจริยธรรม เหมาะสมกับวัย จำนวน 12 เรื่อง ได้แก่ เรื่องวันลอยกระทง สำนึกของสายบัว ผู้กตัญญู พญาช้างเผือก พญาเนื้อทอง เพื่อนตาย คางคกเจ้าปัญญา น้ำใจต้านภัย ใครสำคัญ บ้านแสนสุข แตงไทยสำนึกผิด และนกกระจาบแตกความสามัคคี ซึ่งในการสอน ประกอบด้วย 12 แผนการจัดการเรียนรู้ ใช้เวลา 12 ชั่วโมง กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โรงเรียนเทศบาล 4 (อมร สะเพียรชัย อุทิศ) จำนวน 35 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม ทดลองโดยใช้วิธีสอนแบบแผนภาพลำดับเหตุการณ์ ตัวแปรอิสระ (Independent Variables) ได้แก่ รูปแบบการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้วิธีสอนแบบแผนภาพลำดับเหตุการณ์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนสรุปความจากการอ่านนิทาน ตัวแปรตาม (Dependent Variables) ได้แก่ ความสามารถในการเขียนสรุปความจากการอ่านนิทาน และความพึงพอใจของนักเรียนกลุ่มตัวอย่างที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนรู้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย มี 2 ประเภท ประเภทแรก คือ เครื่องมือจัดกระทำ ได้แก่ รูปแบบการเรียนรู้ โดยใช้วิธีสอนแบบแผนภาพลำดับเหตุการณ์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนสรุปความจากการอ่านนิทาน และแผนการจัดการเรียนรู้ ประเภทที่สอง คือ เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่ แบบทดสอบวัดความสามารถในการเขียนสรุปความจากการอ่านนิทาน และแบบประเมินความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนรู้ สำหรับสถิติวิเคราะห์ข้อมูลใช้ ค่าเฉลี่ย ( ) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) การทดสอบสมมุติฐานใช้ t-test (Pair) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น เป็นวิธีสอนแบบแผนภาพลำดับเหตุการณ์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนสรุปความจากการอ่านนิทาน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งเป็นการศึกษาวิจัยตามแนวคิด ของ โจนส์ และคณะ (Jones et al, 1989) คล้าก (Clarke, 1991) และจอยส์ และคณะ (Joyce et al, 1992) ซึ่งได้พัฒนารูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ผังกราฟฟิกขึ้น ซึ่งวิธีสอนแบบแผนภาพลำดับเหตุการณ์ เป็นการสอนที่ทำให้นักเรียนเกิดทักษะการคิด โดยใช้ผังแสดงความสัมพันธ์ระหว่างเหตุการณ์ เรียงลำดับข้อมูลโดยสัมพันธ์กันในลักษณะต่างๆ แผนภาพลำดับเหตุการณ์นี้เป็นรูปแบบหนึ่งของการสอนโดยใช้กรอบมโนทัศน์ หรือผังกราฟฟิก นอกจากนี้มีการเพิ่มเติมหลังจากผู้เรียนได้เรียนรู้และเขียนข้อมูล แล้วยังนำข้อมูลมาเขียนสรุปในขั้นตอนสุดท้าย หรือจัดระบบข้อมูลใหม่เพื่อให้ผังความคิดมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เป็นการเขียนสรุปและนำเสนอข้อมูลด้วยตนเอง และเมื่อตรวจสอบโดยใช้แบบประเมินค่าดัชนีความสอดคล้อง ทั้งแบบวิเคราะห์เอกสาร และแบบสัมภาษณ์ จากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน พบว่า มีความสอดคล้อง โดยมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 1.00 ทุกรายการ และเมื่อประเมินรูปแบบการเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบการเรียนรู้ มีความเหมาะสมในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย เท่ากับ 4.41) และเมื่อนำไปหาประสิทธิภาพ (E1/E2) แบบกลุ่มใหญ่หรือแบบภาคสนาม กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/3 โรงเรียนเทศบาล 4 (อมร สะเพียรชัย อุทิศ) ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 ที่เรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ซึ่งไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน พบว่า ได้ค่าประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนรู้ โดยใช้วิธีสอนแบบแผนภาพลำดับเหตุการณ์ เท่ากับ 81.93/81.17 สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ คือ 80/80 ซึ่งเป็นการยอมรับสมมุติฐานการวิจัยข้อที่ 1
2. รูปแบบการเรียนรู้ กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย โดยใช้วิธีสอนแบบแผนภาพลำดับเหตุการณ์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนสรุปความจากการอ่านนิทาน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 มีประสิทธิภาพ เท่ากับ 85.35/84.44 และมีค่าดัชนีประสิทธิผล 0.69 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
3. นักเรียนที่เรียนโดยใช้วิธีสอนแบบแผนภาพลำดับเหตุการณ์ มีความสามารถในการเขียนสรุปความจากการอ่านนิทาน (ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน) หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
4. นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนรู้ โดยใช้วิธีสอนแบบแผนภาพลำดับเหตุการณ์ เพื่อพัฒนาความสามารถในการเขียนสรุปความจากการอ่านนิทาน สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย 4.38