ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับ
การใช้สื่อนิทานเพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษา ชั้นอนุบาลปีที่ 3 (5 6 ปี)
ผู้วิจัย นางศิริลักษณ์ พลมาศ ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
สถานที่ โรงเรียนเทศบาล ๒ เชิงชุมอนุชนวิทยา สังกัดสำนักการศึกษา
เทศบาลนครสกลนคร อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
ปีการศึกษา 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการใช้สื่อนิทานเพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษา ชั้นอนุบาลปีที่ 3 (5 6 ปี) 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการใช้สื่อนิทานเพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษา ชั้นอนุบาลปีที่ 3 (5 6 ปี) ที่มีประสิทธิภาพ 80/80 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นและ 4) เพื่อประเมินผลรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น แหล่งข้อมูลและกลุ่มตัวอย่างตามวัตถุประสงค์การวิจัยดังนี้ แหล่งข้อมูลและกลุ่มตัวอย่างตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 1 ได้แก่ 1) เอกสารหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 และหลักสูตรสถานศึกษา 2) เอกสารแนวคิด ทฤษฎี งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 3) ครูระดับปฐมวัย จำนวน 5 คน เด็กปฐมวัย จำนวน 15 คน ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาปฐมวัย จำนวน 5 คน แหล่งข้อมูลและกลุ่มตัวอย่างตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 2 ได้แก่ 1) เอกสารข้อมูลพื้นฐานที่ได้วิเคราะห์ในขั้นตอนที่ 1 2) ผู้เชี่ยวชาญด้านรูปแบบและด้านการสอนปฐมวัย จำนวน 5 คน เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3/2 โรงเรียนเทศบาล ๒ เชิงชุมอนุชนวิทยา ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 22 คน 3) เอกสารเกี่ยวกับหลักการการวัดทักษะทางภาษา แหล่งข้อมูลและกลุ่มตัวอย่างตามวัตถุประสงค์ข้อที่ 3, 4 ได้แก่ เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3/1 โรงเรียนเทศบาล ๒ เชิงชุมอนุชนวิทยา ที่กำลังศึกษาในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2563 จำนวนนักเรียน 21 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster random Sampling) เครื่องมือในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วย 1) รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐานร่วมกับการใช้สื่อนิทานเพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษา ชั้นอนุบาลปีที่ 3 (5 6 ปี) 2) เอกสารประกอบรูปแบบ ได้แก่ คู่มือการใช้รูปแบบ แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ จำนวน 40 แผน สื่อนิทาน จำนวน 40 เรื่องและแบบทดสอบทักษะทางภาษา ด้านการฟัง จำนวน 8 ข้อ ด้านการพูด จำนวน 3 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคำนวณสำเร็จรูป และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis) สถิติที่ใช้ได้แก่ การหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าทีแบบไม่อิสระต่อกัน (t-test ชนิด Dependent Samples) Analysis)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ พบว่าหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย พุทธศักราช 2560 และหลักสูตรสถานศึกษาได้กำหนดให้ทักษะทางภาษาเป็นส่วนหนึ่งของจุดหมาย คือ ใช้ภาษาสื่อสารและการแสวงหาความรู้ได้เหมาะสมกับวัย การจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาควรจัดสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยภาษา ให้เด็กได้รับประสบการณ์ตรง มีแบบอย่างที่ดีในการใช้ภาษา ให้เด็กมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีความหมาย โดยคำนึงถึงความสามารถตามวัยและพัฒนาการสอดคล้องกับการทำงานของสมอง ให้เด็กมีปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน มีสื่อที่เหมาะสมทำให้เด็กได้รับความรู้ ความเพลิดเพลิน สร้างจินตนาการได้ โดยมีครูคอยช่วยเหลือและสนับสนุน จะทำให้สมองเด็กเกิดการเรียนรู้อย่างรวดเร็วและจดจำได้มากขึ้น ผลการสังเกตพฤติกรรมเด็กปฐมวัย พบว่าเด็กปฐมวัย มีความอยากรู้อยากเห็น ชอบซักถาม สืบค้นข้อมูลด้วยการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า มีการใช้ภาษาในการสื่อความหมาย การอธิบาย การเล่าเรื่อง และแสดงความคิดเห็น ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติกิจกรรมที่ตนเอง ชอบและสนใจ สามารถปฏิบัติกิจกรรมและสร้างสรรค์ผลงานของตนเองได้ หากกิจกรรมเป็นสิ่งที่ตนเองชอบและสนใจ
2. รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นชื่อว่า PDEMF Model
มีองค์ประกอบ 4 ประการ ได้แก่ 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวนการจัดประสบการณ์
การเรียนรู้มี 5 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นที่ 1 การเตรียมความพร้อม กระตุ้นความสนใจ (Preparation Arouse Interest) ขั้นที่ 2 การพัฒนาทักษะทางภาษาด้วยนิทาน (Develop language skills with fairy tales) ขั้นที่ 3 การทำอย่างประณีต ฝึกทักษะทางภาษา (Elaboration Practice language skills) ขั้นที่ 4 การพัฒนาความจำ ทักษะทางภาษา (Memory language) ขั้นที่ 5 การบูรณาการ ประยุกต์ใช้ภาษา (Functional Integration language) และ 4) การวัดและประเมินผล โดยรูปแบบที่พัฒนาขึ้นได้ค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) จากการทดลองภาคสนาม เท่ากับ 81.04/80.91
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นพบว่า
เด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 มีทักษะทางภาษา สามารถสื่อสาร หรือตอบคำถามได้ถูกต้อง สามารถพูดแสดงความคิดเห็น หรือเล่า¬เรื่องราวเกี่ยวกับตนเอง สนทนากับครู เพื่อนและบุคคลอื่น ๆ ได้ตามวัย
โดยรูปแบบที่พัฒนาขึ้นได้ค่าประสิทธิภาพเท่ากับ 81.92/82.14 เป็นไปตามเกณฑ์ที่กำหนด
4. ผลการประเมินผลรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้นพบว่าทักษะทางภาษาของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 3 หลังได้รับการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนได้รับการจัดประสบการณ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01