ผู้วิจัย นางณกันยา ไวคำ
ปีที่ทำการวิจัย พ.ศ.2562
สถานที่วิจัย โรงเรียนในสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน และความต้องการในการจัดการเรียนรู้เชิงรุก ของครูผู้สอนภาษาอังกฤษ 2) พัฒนารูปแบบการนิเทศการสอน เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูผู้สอนภาษาอังกฤษ 3) ศึกษาผลของการใช้รูปแบบการนิเทศการสอน เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนภาษาอังกฤษ และ 4) ประเมินและปรับปรุงรูปแบบการนิเทศการสอน เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้ของครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ในโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
การดำเนินการวิจัย แบ่งเป็น 4 ระยะคือ ระยะที่ 1 ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน ประชากรในวิจัยคือ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 84 คน ผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 38 คน หัวหน้าฝ่ายวิชาการ จำนวน 19 คน หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ จำนวน 17 คน และศึกษานิเทศก์สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น 5 คน ดำเนินการในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ระยะที่ 2 ออกแบบและพัฒนารูปแบบการนิเทศการสอน ดำเนินการสร้างรูปแบบการนิเทศการสอน และตรวจสอบรูปแบบการนิเทศการสอนที่สร้างขึ้น โดยใช้ค่าดัชนีความสอดคล้อง (Index of Item-Objective Congruence : IOC) จากการตรวจสอบของผู้เชี่ยวชาญ 5 คน และเพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของรูปแบบการนิเทศการสอน ได้นำไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษา โรงเรียนนางิ้ววิทยาสรรค์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 3 คน ผู้บริหารสถานศึกษา 2 คน หัวหน้าฝ่ายวิชาการ 1 คน หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ 1 คน ครูพี่เลี้ยง 2 คน ระยะที่ 3 การนำรูปแบบการนิเทศการสอนไปใช้จริงกับกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย ได้แก่ ครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ระดับมัธยมศึกษา ในโรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น จำนวน 12 คน จาก 12 โรงเรียนได้มาจากการสุ่มแบบหลายขั้นตอน โดยใช้แบบแผนการวิจัยแบบทดลองกลุ่มตัวอย่างเดียว มีการทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (One-Group Pretest-Posttest Design) และระยะที่ 4 การประเมินผลการใช้รูปแบบการนิเทศการสอน กลุ่มตัวอย่างในการวิจัย คือ ผู้อำนวยการสถานศึกษา 12 คน หัวหน้าฝ่ายวิชาการ 12 คน หัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ 12 คน ครูผู้สอนภาษาอังกฤษ 12 คน และนักเรียนจำนวน 401 คน จากโรงเรียนที่เป็นกลุ่มตัวอย่าง ในปีการศึกษา 2562 รวมทั้งศึกษานิเทศก์จำนวน 4 คน (รวมทั้งผู้วิจัย)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบวิเคราะห์เนื้อหา 2) แบบสอบถาม 3) แบบบันทึกการสนทนากลุ่ม 4) แบบทดสอบ 5) แบบประเมิน 6) แบบบันทึกสะท้อนคิด และ 7) แบบบันทึกทบทวนหลังการปฏิบัติ (After Action Review) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าทีแบบไม่อิสระจากกัน และการวิเคราะห์เนื้อหา การนำเสนอข้อมูลของการวิจัย เป็นลักษณะพรรณนาความ และการพรรณนาความประกอบตาราง
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เพื่อสร้างรูปแบบการนิเทศการสอน ด้วยวิธีการเชิงปริมาณ พบว่า ในการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูผู้สอนภาษาอังกฤษทั้งด้านปัจจัยพื้นฐานของสถานศึกษา ด้านทรัพยากรการจัดการเรียนรู้ และด้านยุทธวิธีการจัดการเรียนรู้ มีการปฏิบัติในระดับน้อย แต่มีความต้องการพัฒนาในระดับมาก ในทุกประเด็นย่อย
2. ผลการพัฒนา ได้รูปแบบการนิเทศการสอน เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูผู้สอนภาษาอังกฤษระดับมัธยมศึกษา ซึ่งผู้วิจัยสังเคราะห์ขึ้น ใช้ชื่อเรียกว่า รูปแบบพีค (PIEK Model) ซึ่งองค์ประกอบของรูปแบบ ด้านหลักการ คือ เป็นการนิเทศตามแนวคิดการชี้แนะและเป็น พี่เลี้ยง ร่วมกับการศึกษาบทเรียนร่วมกัน ผ่านชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ในการพัฒนาครูผู้สอนภาษาอังกฤษ โดยมีวัตถุประสงค์ คือ เพื่อส่งเสริมการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครูผู้สอนภาษาอังกฤษ ใน 3 องค์ประกอบ ได้แก่ ด้านปัจจัยพื้นฐาน (Basic Element) ด้านยุทธวิธีการจัดการเรียนรู้ (Learning Strategies) และด้านทรัพยากรการจัดการเรียนรู้ (Teaching Resources) และเพื่อสร้างชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพในสถานศึกษา กระบวนการนิเทศ ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ได้แก่ ขั้นตอนที่ 1 ขั้นวางแผน (Planning) เป็นการกำหนดเป้าหมายไว้ในอนาคต โดยการกำหนดนโยบาย และขั้นตอน ของการทำงานไว้อย่างชัดเจน มีวัตถุประสงค์ที่แน่นอน และมีผู้รับผิดชอบปฏิบัติงาน ขั้นตอนที่ 2 ขั้นปฏิบัติการ (Implementing) เป็นขั้นนำแผนสู่การปฏิบัติ มีขั้นตอนย่อย 3 ขั้น ได้แก่ ขั้นก่อนปฏิบัติการ (Pre-Acting) เป็นการจัดฝึกอบรมปฏิบัติการให้ความรู้สำหรับผู้รับการนิเทศ และทีมชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ ขั้นระหว่างปฏิบัติ (While-Acting) เป็นขั้นการเยี่ยมชั้นเรียนของผู้นิเทศเพื่อสังเกตการจัดการเรียนรู้ของผู้รับการนิเทศ และขั้นหลังปฏิบัติ (Post Acting) เป็นขั้นการสะท้อนผลการสังเกตชั้นเรียน ขั้นตอนที่ 3 ขั้นประเมินผล (Evaluating) เป็นขั้นที่ผู้นิเทศทำการสังเคราะห์ข้อมูล จากการสังเกตชั้นเรียนในแต่ละครั้งว่าการดำเนินการเป็นอย่างไร ประสบผลสำเร็จ ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ และขั้นตอนที่ 4 ขั้นจัดการความรู้ (Knowledge Managing) เป็นขั้นตอนการสรุปรวบรวมความรู้และประสบการณ์เพื่อนำไปใช้ในการพัฒนางานที่เกี่ยวข้อง ในสถานศึกษา
3. ผลการตรวจสอบประสิทธิภาพของรูปแบบการนิเทศการสอน โดยทึมศึกษาชั้นเรียนและผู้เชี่ยวชาญ พบว่ารูปแบบการนิเทศการสอนมีความเหมาะสม ความเป็นไปได้และความมีประโยชน์ ในระดับมากที่สุด (X -bar = 4.92 ,4.96,4.96 ตามลำดับ) และผลจากการนำรูปแบบการนิเทศการสอนไปใช้ในโรงเรียน พบว่า ภายหลังการใช้รูปแบบการนิเทศ ครูผู้สอนมีสมรรถนะด้านยุทธวิธีการจัดการเรียนรู้ ตามแนวทางของกิจกรรมการเรียนรู้เชิงรุกสูงกว่าก่อนได้รับการนิเทศ โดยมีคะแนนเฉลี่ยด้านจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู หลังการใช้รูปแบบการนิเทศการสอนอยู่ในระดับสูงมาก (X -bar= 16.50) สูงกว่าก่อนการใช้รูปแบบการนิเทศการสอนซึ่งอยู่ในระดับน้อย (X-bar = 9.83)
4. ความพึงพอใจของครูผู้รับการนิเทศที่มีต่อรูปแบบการนิเทศการสอนแบบพีค (PIEK Model) ความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด (X -bar = 4.50) และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการจัดการเรียนรู้เชิงรุกของครู ในระดับมากที่สุด (X -bar= 4.52)