ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL
เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3
ชื่อผู้ศึกษา นางสาวรุสนีย์ เจ๊ะยอ
ครูชำนาญการพิเศษ
ระดับชั้น ชั้นอนุบาลปีที่ 3
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาล ๔ (ธนวิถี) เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้าง ทดสอบประสิทธิภาพ และเผยแพร่รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL เพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ 6 ขั้น ดังนี้
ระยะที่ 1 การสร้างรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL ขั้นที่ 1 สังเคราะห์รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL จากการศึกษาเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL ประกอบด้วยขั้นการจัดประสบการณ์ 5 ขั้น คือ 1) ขั้นทบทวน (R : Review) 2) ขั้นเข้าใจ (U : Understand)
3) ขั้นเล่านิทาน (S : Storytelling) 4) ขั้นเครือข่ายการทำงาน (N : Network) และ 5) ขั้นประเมินผล (E : Evaluation) ขั้นที่ 2 ประเมินรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL โดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ทำแบบประเมินความเหมาะสมของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL ผลการประเมินรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL ตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุด
มีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 4.00 - 4.80 ขั้นที่ 3 สร้างเครื่องมือประกอบการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์ การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL คือ แผนการจัดประสบการณ์ มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก มีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 4.20 - 4.60 หนังสือนิทาน แบบสังเกตทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ และแบบทดสอบทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ มีค่าดัชนีสอดคล้องเท่ากับ 0.80-1.00 ค่าความยากง่ายระหว่าง 0.59 - 0.75 ค่าอำนาจจำแนกระหว่าง 0.35 - 0.53 และค่าความเชื่อมั่น (KR-20) เท่ากับ 0.90 และขั้นที่ 4 ทดลองนำร่องรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL โดยทดลองนำร่องครั้งที่ 1 ทดลองสอนกับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/1 โรงเรียนเทศบาล ๔ (ธนวิถี) เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 32 คน ใช้ 2 หน่วย การเรียนรู้ และทดลองนำร่องครั้งที่ 2 ทดลองสอนกับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/2 โรงเรียนเทศบาล ๔ (ธนวิถี) เทศบาลนครยะลา จังหวัดยะลา ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 32 คน ใช้ 2 หน่วยการเรียนรู้
ระยะที่ 2 การทดสอบประสิทธิภาพรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL ขั้นที่ 5 ทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL เป็นเวลา 8 สัปดาห์ โดยกำหนดแบบแผนการทดลองแบบ Randomized Control-Group Pretest-Posttest Design กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3/4 โรงเรียนเทศบาล ๔ (ธนวิถี) เทศบาลนครยะลา ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 จำนวน 30 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) สถิติใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลคือ t-test for dependent samples ผลการทดสอบประสิทธิภาพรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL คือ นักเรียนชั้นอนุบาล ปีที่ 3 มีผลสัมฤทธิ์ทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพิ่มขึ้นหลังจากได้รับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ตามแนวคิดของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL อย่างมีนัยสำคัญ ทางสถิติที่ระดับ .01 ทั้งรายด้าน 4 ด้าน และโดยรวม
ระยะที่ 3 การเผยแพร่รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL ขั้นที่ 6 เผยแพร่รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL โดยครูอนุบาลที่ปฏิบัติงานสอนอยู่ในชั้นเรียนอนุบาลปีที่ 3 โรงเรียนละ 1 คน โรงเรียนในกลุ่มเทศบาลนครยะลา จำนวน 6 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 ที่สมัครใจนำรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL ไปทดลองใช้ จำนวน 2 หน่วยการเรียนรู้ เมื่อสิ้นสุดการสอนครูอนุบาลทุกคนตอบแบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL ผลการเผยแพร่รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้แบบ RUSNE MODEL ตามความคิดเห็นของครูอนุบาลที่ปฏิบัติงานสอนอยู่ในชั้นเรียนอนุบาลปีที่ 3 มีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากถึงมากที่สุดมีค่าเฉลี่ยตั้งแต่ 4.00 - 4.80