ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3
ชื่อผู้วิจัย นางปราณี ชาญธัญกรรม
ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการพิเศษ
โรงเรียนเทศบาล ๔ (หนองแคอนุสรณ์) สังกัดกองการศึกษาเทศบาลเมืองหนองแค จังหวัดสระบุรี
ปีที่วิจัย ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยและพัฒนา (Research& Development ) มีวัตถุประสงค์ ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความ สามารถในการอ่านจับใจความ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 2) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 และ 4) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 แหล่งข้อมูล/กลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์การวิจัยขั้นตอนที่ 1 ได้แก่ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และหลักสูตรสถานศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย สาระที่ 1 การอ่าน สาระการเรียนรู้เรื่องการอ่านจับใจความ ทฤษฎีการเรียนรู้และการเชื่อมโยงความคิดของแฮร์บาร์ต ทฤษฎีการเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ ทฤษฎีการเรียนรู้ด้วยกระบวนการค้นพบของบรุนเนอร์ ทฤษฎีการเรียนรู้อย่างมีความหมายของอซูเบล และทฤษฎีการเรียนรู้แบบกลุ่มผสมผสานของกาเย่ เทคนิคการเรียนรู้แบบร่วมมือได้แก่ เทคนิคกลุ่มผลสัมฤทธิ์ (STAD) เทคนิคแบบร่วมมือกันแบบผสมผสาน (CIRC) และเทคนิคแบบร่วมมือกันแบบจิ๊กซอร์ II ทฤษฎีการอ่านจับใจความ ได้แก่ ทฤษฎีเน้นความสัมพันธ์ของข้อโครงสร้างประสบการณ์เดิม และทฤษฎีการเชื่อมโยงของธอร์นไดค์ งานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนและความสามารถในการอ่านจับใจความการศึกษาความคิดเห็นในการจัดการเรียนการสอนของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 จำนวน 30 คน ประเด็นการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการของครูหัวหน้างานวิชาการโรงเรียนและครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย จำนวน 2 คน และประเด็นการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการของครูผู้สอนกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย จำนวน 3 คน แหล่งข้อมูล/กลุ่มเป้าหมายตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยขั้นตอนที่ 2 ได้แก่ การวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐานในขั้นตอนที่ 1 ผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ในการตรวจสอบความเหมาะสม/สอดคล้อง และนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561จำนวน 30 คน ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง แหล่งข้อมูล/กลุ่มตัวอย่างตามวัตถุประสงค์ของการวิจัยขั้นตอนที่ 3 และ 4 ได้แก่ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3/2 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาล ๔ (หนองแคอนุสรณ์) สังกัดกองการศึกษาเทศบาลตำบลหนองแค อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี จำนวน 31 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling ) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) คู่มือการใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามการเรียนรู้แบบร่วมมือ 2) แผนการจัดการเรียนรู้ 3) แบบทดสอบวัดความสามารถในการอ่านจับใจความ 4) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทย และ5) แบบสอบถามความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามการเรียนรู้แบบร่วมมือการวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูปและการคิดวิเคราะห์เนื้อหา(content analysis) สถิติที่ใช้ได้แก่การหาค่าเฉลี่ย (x̄) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และค่าที (t-test dependent )
ผลการวิจัย
1. ข้อมูลพื้นฐานสำหรับการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่า ข้อมูลพื้นฐานโดยภาพรวมมีความเหมาะสม/สอดคล้องและเพียงพอกับการศึกษา เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 1 โดยจุดมุ่งหมายของหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 และหลักสูตรสถานศึกษากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย มีเป้าหมายการของการศึกษาให้ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ และกระบวนการจัดการเรียนรู้ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาเต็มตามศักยภาพ โดยเน้นทักษะการอ่านและการเขียนและจากความคิดเห็นของนักเรียน พบว่า ต้องการเรียนรู้ที่ท้าทายสนุกสนานด้วยกระบวนการกลุ่ม ในส่วนของหัวหน้างานวิชาการโรงเรียนและครูหัวหน้ากลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทยมีความคิดเห็นว่า การอ่านจับใจความมีความสำคัญต่อการเรียนรู้ภาษาไทยและแนวทางในการพัฒนานั้นควรจัดกิจกรรมมุ่งเน้นการฝึกปฏิบัติที่เปิดโอกาสให้นักเรียนมีส่วนร่วมและฝึกอย่างต่อเนื่องและเป็นเรื่องที่น่าสนใจเหมาะสมกับนักเรียน และจากการสนทนาอย่างไม่เป็นทางการกับครูผู้สอนสาระการเรียนรู้ภาษาไทย เห็นว่าปัจจัยสำคัญที่สามารถพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คือ การอ่านจับใจความ และวิธีการสอนที่สามารถพัฒนาความสามารถในการอ่านจับใจความได้คือการเรียนรู้แบบร่วมมือและปรับกิจกรรมให้น่าสนใจเปิดโอกาสให้นักเรียนได้แสดงออก เพื่อให้นักเรียนมีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนจะสามารถเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความให้กับนักเรียนได้
2. ผลการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนตามการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่า รูปแบบการเรียนการสอน (ECBCE Model ) ที่พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยกระบวนการเรียนรู้ 5 ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ 1 กระตุ้นเตรียมความพร้อม (Encouragement: E ) ขั้นตอนที่ 2 เรียนรู้ร่วมกัน (Cooperative Learning: C) ขั้นตอนที่ 3 เชื่อมโยงความคิด (Bridge: B) ขั้นตอนที่ 4 สร้างความรู้ (Construction: C) และ 5) ขั้นตอนที่ 5 การประเมินผล (Evaluation: E) มีความเหมาะสม/สอดคล้องตามความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญ โดยมีค่าความสอดคล้อง (IOC) เท่ากับ 0.90 และจากการหาประสิทธิภาพโดยนำไปทดลองใช้ (Tyout) กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 ที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 30 คน พบว่า มีประสิทธิภาพ ( E1/E2 ) เท่ากับ 82.27/83.11 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 2
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนการสอนตามการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 พบว่า จากการนำรูปแบบการเรียนการสอน (ECBCE Model ) ไปทดลองใช้กับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนเทศบาล ๔ (หนองแคอนุสรณ์) สังกัดกองการศึกษาเทศบาลตำบลหนองแค อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี จำนวน 31 ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling ) ใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยในการสุ่ม (Sampling Unit ) หลังการเรียนการสอนนักเรียนมีความสามารถในการอ่านจับใจความ สูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าการทดสอบที ( t-test dependent ) เท่ากับ 36.346 โดยก่อนเรียนมีคะแนนเฉลี่ย () เท่ากับ 6.26 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 1.41 และหลังเรียนเท่ากับ 12.58 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.75 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 3 และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าการทดสอบที ( t-test dependent ) เท่ากับ 38.436 โดยมีคะแนนเฉลี่ย ( ) ก่อนเรียน เท่ากับ 12.26 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 1.14 และหลังเรียนเท่ากับ 25.00 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.80 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 4
4. ผลการประเมินความพึงพอใจที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนตามการเรียนรู้แบบร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความสามารถในการอ่านจับใจความ สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 (ECBCE Model) พบว่า หลังการจัดการเรียนการสอนนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนในภาพรวมอยู่ในระดับพึงพอใจมาก โดยมีคะแนนเฉลี่ย ( ) เท่ากับ 2.82 และค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน เท่ากับ 0.08 เป็นไปตามสมมติฐานการวิจัยข้อที่ 5