หัวข้องานวิจัย การพัฒนารูปแบบการสร้างนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงานของ
การเรียน การสอนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น
(SBMLD) ของสาขาวิชาช่างยนต์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาล
นครปฐม
ผู้วิจัย นายจเด็ด ปลื้มสุดใจ
ปีการศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันปัญหาและความต้องการเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงานของการเรียนการสอนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น 2) เพื่อสร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการสร้างนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงานของการเรียนการสอนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น (SBMLD) สาขาวิชาช่างยนต์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลนครปฐม 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบฯ และ 4) เพื่อประเมินผลการใช้รูปแบบฯ กลุ่มตัวอย่าง ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิทางโครงสร้างเครื่องยนต์และระบบเชื้อเพลิงของเครื่องยนต์ จำนวน 3 คน และครูสาขาวิชาช่างยนต์ จำนวน 3 คน และนักเรียนระดับ ปวช. สาขาวิชาช่างยนต์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลนครปฐม จำนวน 12 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบวิเคราะห์เอกสาร วรรณกรรม และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แบบสัมภาษณ์ แบบตรวจสอบความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎี ความเป็นไปได้ และความสอดคล้องของร่างต้นแบบรูปแบบ แบบประเมินความสามารถในการจัดทำนวัตกรรมด้าน การประหยัดพลังงาน และแบบสอบถามความคิดเห็นของนักเรียน วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติค่าเฉลี่ย ( ) ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และการวิเคราะห์เนื้อหา (Content Analysis)
สรุปผลวิจัย ดังนี้
1. สภาพปัจจุบันปัญหาและความต้องการ พบว่า วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลนครปฐมให้ความสำคัญต่อการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น (SBMLD) ดีพอสมควร ครูมีความรับผิดชอบ และจัดกิจกรรมได้หลากหลาย และสาขาวิชาช่างยนต์ควรสนับสนุนให้นักเรียนนักศึกษาได้เข้าไปมีส่วนร่วมให้มากที่สุดตามความสามารถและความสนใจ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์ และสามารถนำไปสู่การปฏิบัติจริงได้ในชีวิตประจำวัน เห็นด้วยกับแนวคิดการสร้างนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงาน เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและสังคมโดยรวม และเป็นการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนของครูผู้สอนได้อย่างต่อเนื่อง ผู้เรียนจะได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์ ส่งเสริมให้เกิดการทำงานเป็นทีม และสามารถปลูกฝังค่านิยมเกี่ยวกับการอนุรักษ์พลังงานให้แก่นักเรียนได้ ควรเน้นการให้ความรู้แก่นักเรียนนักศึกษาในด้านโครงสร้างของเครื่องยนต์ และระบบเครื่องยนต์เป็นสำคัญ ควรส่งเสริมให้จัดส่งทีมเข้าร่วมโครงการแข่งขันรถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงในระดับประเทศด้วย ส่วนขั้นตอนการดำเนินงานสร้างนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงาน อย่างน้อยควรมี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นเตรียมการ ขั้นวางแผนงาน ขั้นการปฏิบัติงาน และขั้นการประเมินผล ควรกำหนดเป็นโครงการของวิทยาลัย เพื่อให้มีงบประมาณเข้ามารองรับการดำเนินงานของนักเรียนนักศึกษา และควรเน้นย้ำเรื่องการประหยัดในการสร้างชิ้นงานของแต่ละทีม
2. การสร้างและตรวจสอบคุณภาพรูปแบบ พบว่า รูปแบบการสร้างนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงานของการเรียนการสอนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น (SBMLD) สาขาวิชาช่างยนต์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลนครปฐม มีองค์ประกอบ 3 ส่วน คือ 1) องค์ประกอบเชิงโครงสร้าง ได้แก่ หลักการ และวัตถุประสงค์ 2) องค์ประกอบเชิงกระบวนการ ได้แก่ ขั้นตอนการดำเนินการ 4 ขั้น (PPDE Model) คือ ขั้นที่ 1 การเตรียมการ (Preparing phase = P) ขั้นที่ 2 การวางแผนงาน (Planning phase = P) ขั้นที่ 3 การดำเนินงาน (Doing phase = D) และขั้นที่ 4 การประเมินผล (Evaluating phase = E) 3) องค์ประกอบด้านปัจจัยสนับสนุน รูปแบบมีค่าความสมเหตุสมผลเชิงทฤษฎี ค่าความเป็นไปได้ และค่าความสอดคล้องและเหมาะสม ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
3. การทดลองใช้รูปแบบ พบว่า รถประหยัดน้ำมันเชื้อเพลิงไม่มีข้อบกพร่องและสามารถวิ่งจับสถิติได้ ผลจากการทดสอบอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงเป็นไปตามที่คาดหมาย เวลาที่ใช้ในการแข่งขันไม่เกินเวลาที่กำหนด โดยสามารถได้รับถ้วยรางวัลประเภทสถิติสูงสุดสามสิบอันดับแรก จากผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมดกว่า 500 ทีมแข่ง จากบริษัทเอ.พี ฮอนด้า จำนวน 2 รางวัล ผลการประเมินความสามารถในการจัดทำนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงานของนักเรียน ในภาพรวมอยู่ในระดับสูง และความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการสร้างนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงานของการเรียนการสอนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น (SBMLD) ในภาพรวม เห็นด้วยในระดับมากที่สุด
4. การประเมินผลการใช้รูปแบบการสร้างนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงานของการเรียนการสอนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น (SBMLD) สาขาวิชาช่างยนต์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลนครปฐม พบว่า มีจุดที่ต้องแก้ไขปรับปรุงในรายละเอียดเล็กน้อย ซึ่งได้ปรับปรุงจนครบถ้วน จนได้รูปแบบการสร้างนวัตกรรมด้านการประหยัดพลังงานของการเรียนการสอนโดยใช้โรงเรียนเป็นฐานในการพัฒนาท้องถิ่น (SBMLD) สาขาวิชาช่างยนต์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาเทศบาลนครปฐม ฉบับสมบูรณ์ที่มีประสิทธิภาพและมีความเหมาะสมในการขยายผลและเผยแพร่ต่อไป