ชื่องานวิจัย การพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ โดยกิจกรรมการเรียน
การสอนที่เน้นกระบวนการคิด แบบเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์ ของนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านแก้งวิทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว
ผู้วิจัย นางศิริโชค นาคดิลก
ปีการศึกษาที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
ในการจัดการเรียนการสอนได้มีการพัฒนากระบวนการเพื่อให้บังเกิดผลดีแก่ตัวผู้เรียน ตามหลักการที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ นอกจากนี้การพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาทาง คณิตศาสตร์มีหลากหลายวิธีการ และการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการคิดแบบเชื่อมโยง ความรู้ทางคณิตศาสตร์เป็นวิธีฝึกคิดอย่างเป็นระบบวิธีหนึ่งที่น่าสนใจและมีประสิทธิภาพ ดังนั้น วัตถุประสงค์ในการวิจัยครั้งนี้ จึงต้องการพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียน โดยใช้กิจกรรมการเรียนการสอนจำนวน 12 กิจกรรม ที่เน้นกระบวนการคิดแบบเชื่อมโยง ความรู้ทางคณิตศาสตร์ และดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการ 3 วงจร วงจรละ 4 ขั้นตอน ได้แก่ ชั้นวางแผน (Planning) ขั้นปฏิบัติการ (Action) ขั้นสังเกต (Observation) ขั้นสะท้อนผล (Reflection) กลุ่มผู้ร่วมวิจัย ประกอบด้วย ผู้วิจัย และผู้ช่วยวิจัย กลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนบ้านแก้งวิทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัดสระแก้ว ประจำภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 33 คน จาก 1 ห้องเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยมี 4 ชนิด ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง สมการและเรื่องความยาวพื้นที่ และปริมาณ ตามรูปแบบกิจกรรม การเรียนแบบเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์ จำนวน 12 แผน ทำการสอนแผนละ 2 ชั่วโมง แบบสัมภาษณ์นักเรียนหลังจากทำกิจกรรมเสร็จ จำนวน 5 ข้อ แบบสังเกต 2 ฉบับ ฉบับที่ 1 ใช้สังเกตครูผู้สอนมีลักษณะเป็นแบบปลายเปิด จำนวน 4 ข้อ ฉบับที่ 2 ใช้สังเกตพฤติกรรมการเชื่อมโยง ของนักเรียน ขณะทำกิจกรรมครั้งละ 1 กิจกรรม และแบบทดสอบวัดความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาที่เน้นกระบวนการคิดแบบเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์ ชนิดอัตนัย จำนวน 2 ฉบับ ฉบับละ 6 ข้อ ที่มีความเป็นคู่ขนานกัน สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานและสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์อย่างง่าย
ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้
1. ปัญหาทางพฤติกรรมการเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์ในแต่ละวงจร พบว่า วิธีหาคำตอบของนักเรียนเกี่ยวกับโจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ในรูปของกิจกรรมที่ครูผู้สอนกำหนดขึ้น นักเรียนยังสับสน ไม่มีแนวทางที่ชัดเจน เนื่องจากนักเรียนไม่ได้นำข้อมูลที่โจทย์กำหนดให้มาพิจารณา ประกอบอย่างเป็นระบบตามขั้นตอน และยังหาคำตอบโดยใช้วิธีลองผิดลองถูก
ส่วนแนวทางการแก้ปัญหาก็คือ ครูต้องกระตุ้นให้นักเรียนพิจารณาเงื่อนไขที่โจทย์ กำหนดให้และซักแนวทางการคิดหาคำตอบ จากนั้นครูแนะนำให้นักเรียนลองตรวจสอบคำตอบใหม่ อีกครั้งหนึ่ง
2. พฤติกรรมการเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์
2.1 ผลการเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์กับคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พัฒนาความสามารถจากต่ำไปสูงได้ตามลำดับ การจัดกิจกรรม คือ จากกิจกรรมเริ่มต้น ได้แก่ กิจกรรมที่ 1 ค่าเฉลี่ย 1.10 จนถึงกิจกรรมสุดท้าย คือ กิจกรรมที่ 9 ค่าเฉลี่ย 1.85
2.2 ผลการเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์กับวิชาอื่นของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พัฒนาความสามารถจากต่ำไปสูงได้ตามลำดับ การจัดกิจกรรม คือ จากกิจกรรมเริ่มต้น ได้แก่ กิจกรรมที่ 3 ค่าเฉลี่ย 1.15 จนถึงกิจกรรมสุดท้าย คือ กิจกรรมที่ 12 ค่าเฉลี่ย 2.45
2.3 ผลการเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวันของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พัฒนาความสามารถจากต่ำไปสูงได้ตามลำดับ การจัดกิจกรรม คือ จากกิจกรรมเริ่มต้น ได้แก่ กิจกรรมที่ 4 ค่าเฉลี่ย 1.35 จนถึงกิจกรรมสุดท้าย คือ กิจกรรมที่ 11 ค่าเฉลี่ย 2.25
3. ความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับพฤติกรรมการเชื่อมโยงระหว่างคณิตศาสตร์กับคณิตศาสตร์ คณิตศาสตร์กับ วิชาอื่น และระหว่างคณิตศาสตร์กับชีวิตประจำวัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
สรุปได้ว่า การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่เน้นกระบวนการคิดแบบเชื่อมโยงความรู้ทางคณิตศาสตร์ในลักษณะต่างๆ ช่วยพัฒนาความสามารถในการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพวิธีหนึ่ง ครูผู้สอนสามารถนำกิจกรรมลักษณะนี้ไปใช้ในการเรียนการสอน ในเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวกับการแก้โจทย์ปัญหาทางคณิตศาสตร์ได้