ชื่อผลงาน: การพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครูเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน
โรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 4
ผู้วิจัย: นายสุริชัย จันทรพิทักษ์
ปีที่ทำวิจัย: 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยการพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครู เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาขอนแก่น เขต 4
มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน และความต้องการการรู้ดิจิทัลของครูโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง 2) พัฒนาและทดลองการพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครู เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง 3) เพื่อศึกษาผลการใช้การพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครู
และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของครูต่อการพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครู และประเมินคุณภาพของการพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครู เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนโรงเรียน
บ้านทุ่งโป่งด้านอรรถประโยชน์ ด้านความเป็นไปได้ในการปฏิบัติจริง ด้านความเหมาะสมและด้านความถูกต้อง การวิจัยแบ่งเป็น 4 ระยะ ได้แก่ ระยะที่ 1 การศึกษาองค์ประกอบของการพัฒนา สภาพปัจจุบันและความต้องการเกี่ยวกับการรู้ดิจิทัล ระยะที่ 2 การพัฒนาและทดลองการพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครูเพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง ระยะที่ 3 การศึกษาผลการทดลองใช้การพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครู และระยะที่ 4 การศึกษาความพึงพอใจของครูต่อการพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครู เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง และประเมินคุณภาพของการพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครู
ที่พัฒนาขึ้นกลุ่มตัวอย่างและกลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) ครูผู้สอนโรงเรียน
บ้านทุ่งโป่ง จำนวน 9 คน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน คณะกรรมการ
ที่ปรึกษาโรงเรียน จำนวน 6 คน และผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง จำนวน 1 คน รวมทั้งสิ้น 25 คน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) 2) ผู้เชี่ยวชาญด้านการฝึกอบรมและการรู้ดิจิทัล จำนวน 5 ท่าน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) 3) ผู้เชี่ยวชาญ
เพื่อตรวจสอบคุณภาพของร่างการพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครูและเอกสารนวัตกรรมพัฒนาครูสู่ผู้เรียน จำนวน 5 ท่าน โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) 4) กลุ่มเป้าหมายที่ศึกษา ที่ใช้ในการวิจัยในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ได้แก่ ผู้บริหารโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง จำนวน 1 คน
ครู จำนวน 9 คน และนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 6 จำนวน 55 คน
โดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) แบบสอบถามสภาพปัจจุบันและความต้องการเกี่ยวกับการรู้ดิจิทัล 2) แบบสัมภาษณ์เชิงลึก 3) เอกสารนวัตกรรมพัฒนาครูสู่ผู้เรียนจำนวน 8 เล่ม 4) แบบทดสอบเกี่ยวกับการรู้ดิจิทัลของครู 5) แบบสอบถามการตรวจสอบคุณภาพของการพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครู 6) แบบสอบถามความคิดเห็น
ของครูผู้สอนต่อการนิเทศการสอนโดยผู้บริหาร 7) แบบวัดความพึงพอใจในการพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครู สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ความต้องการจำเป็น (PNImodified) สถิติสำหรับทดสอบ คือ t-test (Dependent)
ผลการวิจัย พบว่า
1. องค์ประกอบของการพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครูโรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง ประกอบด้วย ความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะที่เกี่ยวกับการรู้ดิจิทัล ได้แก่ เข้าใจ ใช้งาน สร้างปลอดภัย ประเมิน และแบ่งปัน ซึ่งสภาพปัจจุบันเกี่ยวกับการรู้ดิจิทัลของครูอยู่ในระดับปานกลาง
และความต้องการเกี่ยวกับการรู้ดิจิทัลของครูอยู่ในระดับมากที่สุด ผลการเรียงลำดับความต้องการจำเป็นในด้านการสร้างมีคะแนนเป็นลำดับที่ 1
2. ผลการทดลองใช้การพัฒนาสมรรถนะฯ กับกลุ่มเป้าหมายที่ศึกษาชุดการเรียนรู้ที่ 1 สร้างความตระหนักและเตรียมการ พบว่า ทำให้สามารถสร้างความตระหนักและทำให้ครูเกิดความรู้และทักษะความรู้พื้นฐานคอมพิวเตอร์เบื้องต้นตามความต้องการได้เป็นอย่างดี ชุดการเรียนรู้ 2 พัฒนาครูรู้ดิจิทัลโดยการฝึกอบรมผสมการนิเทศการสอนโดยผู้บริหารประกอบเอกสารนวัตกรรมพัฒนาครูสู่ผู้เรียนเล่มที่ 1-5 ทำให้ครูได้รับความรู้และทักษะเกี่ยวกับการรู้ดิจิทัลต่างๆ ตามความต้องการจริงๆ และชุดการเรียนรู้ที่ 3 นิเทศการจัดการเรียนรู้ โดยใช้การนิเทศการสอนโดยผู้บริหาร ได้มีการดำเนินกิจกรรมตามขั้นตอนทั้ง 3 ขั้นตอนคือขั้นตอนเตรียมการ ขั้นตอนการปฏิบัติการและขั้นตอนประเมิน ทำให้ครูผู้สอนมีความมั่นใจในการจัดการเรียนรู้ มีการประชุม สะท้อนผลการสอน รายงานข้อมูลจากการสังเกตพฤติกรรมการสอนของครูให้ทราบเป็นระยะเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนของตนเอง
3. ผลการใช้การพัฒนาสมรรถนะครูรู้ดิจิทัล พบว่า ครูผู้สอนกลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยหลังการใช้การพัฒนาสมรรถนะครูรู้ดิจิทัลสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 ผลการประเมินด้านทักษะ และมีคะแนนการประเมินด้านคุณลักษณะอยู่ในระดับดีมาก
4) ความพึงพอใจในการใช้การพัฒนาสมรรถนะครูรู้ดิจิทัล โดยภาพรวมมีความพึงพอใจ อยู่ในระดับมากที่สุด และผู้เชี่ยวชาญได้ดำเนินการประเมินคุณภาพของการพัฒนาสมรรถนะการรู้ดิจิทัลของครู เพื่อยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียนโรงเรียนบ้านทุ่งโป่งด้านอรรถประโยชน์ ด้านความเป็นไปได้ในการปฏิบัติจริง ด้านความเหมาะสมและด้านความถูกต้อง ในภาพรวมและรายด้าน มีระดับคุณภาพในระดับมากที่สุด