ชื่อเรื่อง รายงานการประเมินโครงการโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนวัดโบสถ์
ปีการศึกษา 2562 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 2
ผู้รายงาน นายภราดร สังขรัตน์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดโบสถ์
ปีการศึกษา 2562
บทคัดย่อ
การประเมินโครงการโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนวัดโบสถ์ ปีการศึกษา 2562 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 2 ในครั้งนี้ มีวัตถประสงค์เพื่อ 1) ประเมินสภาวะแวดล้อม ปัจจัยเบื้องต้น และกระบวนการของโครงการโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง 2) ประเมินกระบวนการส่งเสริมกิจกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผลผลิตตามคุณลักษณะของนักเรียนเกี่ยวกับโครงการโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง และความพึงพอใจของครู นักเรียน และผู้ปกครองที่มีต่อโครงการโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง
การประเมินโครงการใช้รูปแบบการประเมินแบบซิปป์ (CIPP MODEL) ซึ่งเป็นการประเมิน 4 ด้าน คือ ด้านบริบท (Context) ด้านปัจจัยนำเข้า (Input) ด้านกระบวนการ (Process) และด้านผลผลิต(Product)
เครื่องมือที่ใช้ในการประเมินโครงการ เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale)
จำนวน 2 ฉบับ ประกอบด้วย ฉบับที่ 1 ตอนที่ 2 แบบสอบถามประเมินสภาวะแวดล้อม มีค่าความเชื่อมั่น 0.82 ตอนที่ 3 แบบสอบถามประเมินปัจจัยเบื้องต้น มีค่าความเชื่อมั่น 0.85 และตอนที่ 4 แบบสอบถามประเมินกระบวนการของโครงการโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง มีค่าความเชื่อมั่น 0.95 ฉบับที่ 2 ตอนที่ 2 แบบสอบถามประเมินกระบวนการการส่งเสริมกิจกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีค่าความเชื่อมั่น 0.92 ตอนที่ 3 แบบสอบถามประเมินเก็บรวบรวมข้อมูลในด้านผลผลิตตามคุณลักษณะของนักเรียน มีค่าความเชื่อมั่น 0.95 และตอนที่ 4 แบบสอบถามประเมินความพึงพอใจของครู นักเรียน และผู้ปกครอง ที่มีต่อโครงการโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง มีค่าความเชื่อมั่น 0.92
ประชากรที่ใช้ในการประเมิน คือ บุคคลที่มีส่วนร่วมในการดำเนินการตามโครงการโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนวัดโบสถ์ ปีการศึกษา 2562 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพระนครศรีอยุธยา เขต 2 จำนวน 139 คน ประกอบด้วย คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 9 คน ครูผู้สอน จำนวน 10 คน นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 – 6 จำนวน 60 คน และผู้ปกครองนักเรียน ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 – 6 จำนวน 60 คน ซึ่งได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) สถิติที่ใช้วิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการประเมินสรุปได้ ดังนี้
ผลการประเมินด้านสภาวะแวดล้อม ปัจจัยเบื้องต้น กระบวนการของโครงการโรงเรียน
เศรษฐกิจพอเพียง โรงเรียนวัดโบสถ์ ปีการศึกษา 2562 ตามความคิดเห็นของครู และคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ประกอบด้วยแบบประเมินสภาวะแวดล้อม ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.28 ; S.D. = 0.32) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน 3 ลำดับแรก พบว่า การมีส่วนร่วมของบุคลากรในหน่วยงานในการดำเนินโครงการ มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ผู้ปกครองและชุมชนให้การสนับสนุนการดำเนินงานตามโครงการ และ การดำเนินโครงการมีความคุ้มค่าเกิดประโยชน์ต่อนักเรียนและชุมชนตามลำดับ แบบประเมินปัจจัยเบื้องต้น ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x ̅= 4.44 ; S.D. = 0.31) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน 3 ลำดับแรก พบว่า ครูมีความพร้อมที่จะปลูกฝังหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สอดแทรกทุกรายวิชา มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ มีจำนวนครูเพียงพอในการดำเนินโครงการเศรษฐกิจพอเพียง และการให้ความร่วมมือของบุคลากรในหน่วยงาน ผู้ปกครอง ชุมชน และหน่วยงานภายนอก ตามลำดับ แบบประเมินด้านกระบวนการ ในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด (x ̅ = 4.54 ; S.D. = 0.38) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน 3 ลำดับแรก พบว่า การกำหนดจุดมุ่งหมายและแนวทางการดำเนินการโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ตามสภาพและความต้องการ มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ประชุมชี้แจงขั้นตอนการปฏิบัติกิจกรรม และ การวางแผนดำเนินกิจกรรมตามโครงการ ตามลำดับ
ผลการประเมินกระบวนการเพื่อพัฒนาและผลผลิตของโครงการโรงเรียนเศรษฐกิจพอเพียง
ประกอบด้วย แบบประเมินกระบวนการส่งเสริมกิจกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามโครงการ 6 กิจกรรม ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x ̅= 4.21 ; S.D. = 0.38) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน 3 ลำดับแรก พบว่า กิจกรรมสร้างงาน สร้างอาชีพ มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ กิจกรรมสมุนไพรใกล้ตัว และ กิจกรรมออมวันนี้ รวยวันหน้า ตามลำดับ
ผลการประเมินด้านผลผลิต ตามคุณลักษณะของนักเรียนเกี่ยวกับโครงการโรงเรียนเศรษฐกิจ
พอเพียง ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x ̅ = 4.17 ; S.D. = 0.45) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน 3 ลำดับแรก พบว่า ด้านคุณธรรม มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ ด้านความรอบรู้ และด้านการมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตามลำดับ
ผลการประเมินความพึงพอใจของครู นักเรียน และผู้ปกครอง ที่มีต่อโครงการโรงเรียน
เศรษฐกิจพอเพียง ในภาพรวมอยู่ในระดับมาก (x ̅= 4.18 ; S.D. = 0.53) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน 3 ลำดับแรก พบว่า กิจกรรมในโครงการส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความเข้าใจการปฏิบัติตนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีค่าเฉลี่ยสูงที่สุด รองลงมาได้แก่ นักเรียนมีทักษะจากการปฏิบัติงานด้านเศรษฐกิจพอเพียง และนักเรียนมีความสุขกับการดำเนินกิจกรรมเศรษฐกิจพอเพียงของสถานศึกษา ตามลำดับ