การจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ
เพื่อส่งเสริมระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปราจีนบุรี เขต1
ดร.วิเศษ พลอาจทัน
ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปราจีนบุรี เขต 1
นายมานพ เทพบุตร
ศึกษานิเทศก์ชำนาญการ สพป.ปราจีนบุรี เขต 1
การพัฒนานักเรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความสามารถ มีคุณธรรม จริยธรรม และวิถีชีวิตที่เป็นสุขตามที่สังคมมุ่งหวัง โดยผ่านกระบวนการทางการศึกษานั้น นอกจากจะดำเนินการด้วยการส่งเสริม สนับสนุนนักเรียนแล้ว การป้องกันและการช่วยเหลือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญประการหนึ่งของการพัฒนาเนื่องจากสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากทั้งด้านการสื่อสารเทคโนโลยีต่าง ๆ ซึ่งนอกจากจะส่งผลกระทบต่อผู้คนในเชิงบวกแล้ว ในเชิงลบก็ปรากฏเช่นกัน เป็นต้นว่าปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการระบาดของสารเสพติด ปัญหาการแข่งขันในรูปแบบต่าง ๆ ปัญหาครอบครัวซึ่งก่อเกิดความทุกข์ ความวิตกกังวล ความเครียด การปรับตัวที่ไม่เหมาะสมหรืออื่น ๆ ที่เป็นผลเสียต่อสุขภาพจิตและสภาพกายของทุกคนที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น ภาพความสำเร็จที่เกิดจากการพัฒนานักเรียนให้เป็นไปตามความมุ่งหวังนั้น จึงต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายทุกคน โดยเฉพาะบุคลากรครูทุกคนในโรงเรียน ซึ่งมีครูที่ปรึกษาเป็นหลักสำคัญในการดำเนินการต่างๆเพื่อการดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างใกล้ชิดด้วยความรักและเมตตาที่มีต่อศิษย์ และภาคภูมิใจในบทบาทที่มีส่วนสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนให้เติบโตงอกงาม เป็นบุคลที่คุณค่าของสังคมต่อไป
ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของนักเรียน ให้มีความสมบูรณ์พร้อมอย่างเป็นองค์รวม ทั้งด้านร่างกาย สติปัญญา ความรู้ความสามารถ คุณธรรมจริยธรรม ตลอดจนให้มีทักษะในการดำรงชีวิต จึงจำเป็นที่ทุกโรงเรียน ในฐานะหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบในการสร้างเสริมคุณภาพชีวิตผู้เรียน และแก้วิกฤติสังคม จึงควรนำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนมาประยุกต์ใช้และพัฒนาให้เหมาะสมกับบริบทของแต่ละโรงเรียน ซึ่ง เมื่อกล่าวถึงระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน จะหมายถึง กระบวนการดำเนินงานดูแลช่วยเหลือนักเรียนอย่างเป็นระบบ มีขั้นตอนชัดเจน พร้อมทั้งมีวิธีการและเครื่องมือที่มีมาตรฐาน คุณภาพ และมีหลักฐานการทำงานที่ตรวจสอบได้โดยมีครู ประจำชั้น/ครูที่ปรึกษาเป็นบุคลากรหลักในการดำเนินงาน โดยการมีส่วนร่วมของบุคลากรทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งภายใน และนอกสถานศึกษา ได้แก่ คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง ชุมชน ผู้บริหาร และครูทุกคน มีวิธีการและเครื่องมือ ที่ชัดเจน มีมาตรฐานคุณภาพ และมีหลักฐานการทำงานที่ตรวจสอบได้ ซึ่งกระบวนการและขั้นตอนของระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีองค์ประกอบ 5 ประการ คือ 1. การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคล 2. การคัดกรองนักเรียน 3. การป้องกันและแก้ไขปัญหา 4. การพัฒนาและส่งเสริมนักเรียน 5. การส่งต่อ
นักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ เป็นกลุ่มหนึ่งที่โรงเรียนจะต้องทำการค้นพบ และดูแลช่วยเหลือให้พวกเขาสามารถเรียนรู้ร่วมกับนักเรียนคนอื่น ๆ ได้อย่างเต็มตามศักยภาพ ซึ่งเด็กที่มีความต้องการพิเศษ หมายถึง เด็กที่มีสภาพความบกพร่องในลักษณะต่างๆ ไม่ว่าจะทางด้านพัฒนาการทางร่างกาย อารมณ์ สังคม ภาษา หรือสติปัญญา และไม่สามารถปฏิบัติงานในชีวิตประจำวันได้ดังเช่น เด็กปกติทั่วๆไป รวมถึงทางด้านการจัดการศึกษาซึ่งต้องจัดให้มีการเรียนการสอนที่ต่างไปจากเด็กปกติ เพื่อให้สอดคล้องและเหมาะสมกับสภาพของความบกพร่องของเด็ก ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ได้ แบ่งลักษณะของเด็กที่มีความต้องการพิเศษหรือผิดปกติทางร่างกาย สติปัญญา และทางจิตใจ ออกเป็นประเภทต่างๆ 9 ประเภทคือ
1. เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น
2. เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน
3. . เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา
4. เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ
5. เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้
6. เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดและภาษา
7. เด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรมและอารมณ์
8. เด็กออทิสติก
9. เด็กพิการซ้อน
ตามพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 ได้กล่าวถึงสิทธิและหน้าที่ทางการ
ศึกษาสำหรับคนพิการไว้ว่า คนพิการมีสิทธิได้รับการศึกษาโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตั้งแต่แรกเกิดหรือพบความ
พิการจนตลอดชีวิต พร้อมทั้งได้รับเทคโนโลยี สิ่งอำนวยความสะดวก สื่อ บริการและความช่วยเหลืออื่นใดทาง
การศึกษา และมีสิทธิเลือกบริการทางการศึกษา สถานศึกษา ระบบและรูปแบบการศึกษา โดยคำนึงถึง
ความสามารถ ความสนใจ ความถนัด และความต้องการจำเป็นของบุคคลนั้น รวมถึงได้รับการศึกษาที่มี
มาตรฐานและประกันคุณภาพการศึกษา รวมทั้งการจัดหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้การทดสอบทาง
การศึกษา ที่เหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการจำเป็นพิเศษของคนพิการแต่ละประเภทและบุคคล
หากปราศจาก การนำระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนไปปฏิบัติในโรงเรียน ก็จะเป็นการยากที่ครูผู้สอนจะเข้าใจสภาพที่เป็นปัญหาของผู้เรียน และคงไม่สามารถช่วยเหลือหรือส่งเสริมศักยภาพทางการเรียนรู้ของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าในการการช่วยเหลือส่งเสริมนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ครูจะต้องรู้จักนักเรียนอย่างลึกซึ้ง การรู้จักนักเรียนเป็นรายบุคคลจะช่วยให้ครูมีข้อมูลที่ช่วยในการตัดสินใจดำเนินการช่วยเหลือให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียน ในกระบวนการคัดกรองนั้น ครูผู้สอนก็ต้องอาศัยข้อมูลจากบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับผู้เรียนมาประกอบในการวิเคราะห์สภาพที่เป็นปัญหาเหล่านั้น ตามที่กำหนดในเครื่องมือคัดกรอง เพื่อที่จะได้สามารถวางแผนการแก้ปัญหา หรือการพัฒนาส่งเสริมได้อย่างถูกต้องแม่นยำ หากว่าปัญหาของผู้เรียนต้องใช้ความร่วมมือจากบุคลากร หรือผู้รู้อื่น ๆ มาช่วยในการแก้ไข ก็จำเป็นต้องมีกระบวนการส่งต่อข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ จึงจะทำให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเหมาะสม และเรียนรู้ในโรงเรียนร่วมกับนักเรียนปกติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเต็มตามศักยภาพของผู้เรียน สนองตามบทบัญญัติในพระราชบัญญัติการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการ พ.ศ. 2551 ดังกล่าวข้างต้น
สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปราจีนบุรี เขต 1 ได้พัฒนาการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ เพื่อสนับสนุนให้สถานศึกษาเกิดความเข้มแข็งในการพัฒนาระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน โดยมีกิจกรรมสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ การพัฒนาระบบคัดกรองโดยการให้ความรู้ครูผู้สอนให้มีความรู้ ความเข้าใจกระบวนการคัดกรอง ตามเครื่องมือคัดกรองนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษแต่ละประเภท การพัฒนาผู้คัดกรอง การพัฒนาความรู้ความเข้าใจการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับครูผู้สอน การจัดค่ายพัฒนาศักยภาพนักเรียนที่มีความต้อง การพิเศษ การพัฒนาชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพระหว่างครูผู้สอนนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษโดยมีชมรมครูการศึกษาพิเศษเป็นกลจักรสำคัญ และการคัดเลือกครูต้นแบบเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการพัฒนานักเรียน โดยกลุ่มนิเทศติดตามและประเมินผลการจัดการศึกษาได้ใช้กระบวนการดำเนินงานตามรูปแบบ N2I (เอ็น ทู ไอ) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษของโรงเรียนในสังกัด
รายละเอียดของกระบวนการ N2I ที่ใช้ขับเคลื่อนการพัฒนาคุณภาพ ประกอบด้วย
1. Networking การใช้ระบบเครือข่ายในการพัฒนา ซึ่งเครือข่ายที่ใช้ประกอบด้วย เครือข่ายดิจิตัล
( Digital Network ) เครือข่ายสถานศึกษา ( School Network ) และเครือข่ายครู (Teacher Network )
2. Information การใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศในการพัฒนาการดำเนินงาน ซึ่งข้อมูลที่ใช้
ประกอบด้วย ข้อมูลพื้นฐานในด้านต่าง ๆ เพื่อประกอบการวางแผน ตัดสินใจ ( Based-line Information ) ข้อมูลระหว่างการดำเนินงานเพื่อพัฒนากระบวนการทำงาน ( Developed Information ) และข้อมูลสรุปผลการดำเนินงาน เพื่อใช้กำหนดจุดการพัฒนาต่อไป ( Conclusion Information )
3. Inspiration การสร้างแรงบันดาลใจ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาแก่ครู และผู้บริหารในสังกัด
โดยการมอบขวัญกำลังใจในการปฏิบัติงาน ผ่านกิจกรรมการนิเทศอย่างกัลยาณมิตร
จากการพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาสำหรับนักเรียนที่มีความต้องการพิเศษ ส่งผลให้สถานศึกษาในสังกัดเกิดความเข้มแข็งในการดำเนินระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน สามารถให้ความช่วยเหลือ และส่งเสริมพัฒนาผู้เรียนในสังกัดได้อย่างทั่วถึง และตรงตามสภาพปัญหา สัมพันธภาพระหว่างครูกับนักเรียนเป็นไปด้วยดี และอบอุ่น นักเรียนรู้จักตนเอง และควบคุมตนเองได้ นักเรียนเรียนรู้อย่างมีความสุข และได้รับการส่งเสริมพัฒนาเต็มตามศักยภาพอย่างรอบด้าน เกิดการประสานความร่วมมือระหว่างผู้เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพนักเรียน ซึ่งในปีงบประมาณ 2562 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาปราจีนบุรี เขต 1 มีผลการพัฒนาดีเด่นด้านการบริหารจัดการระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ได้รับรางวัลระดับทอง ของเขตตรวจราชการที่ 9 และรางวัลระดับเงิน จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน และในปี 2563 โรงเรียนในสังกัด ได้แก่โรงเรียนชุมชนวัดหนองจวงได้รับรางวัล ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนดีเด่นระดับทอง จากเขตตรวจราชการที่ 9 และรางวัลระดับยอดเยี่ยม จากสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
ในเมื่อโรงเรียนเป็นหน่วยงานในการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน ซึ่งไม่มีสิทธิ์ในการคัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย หรือปฏิเสธการให้บริการการศึกษาแก่นักเรียนที่ผ่านเข้ามาได้ ในบางครั้งเราอาจไม่ทราบเลยว่า นักเรียนในความดูแลของเราที่ดูเหมือนจะเป็นเด็กปกติ ซึ่งน่าจะมีความสามารถเรียนรู้ได้เหมือนเพื่อนๆทั่วไป แต่แท้จริงแล้ว เป็นนักเรียนกลุ่มพิเศษ ที่โรงเรียนต้องจัดการศึกษาให้พวกเขาเป็นกรณีเฉพาะ ให้ตรงตามความต้องการของพวกเขา หากโรงเรียนไม่สามารถค้นพบพวกเขาได้อย่างทันท่วงที ก็ย่อมทำให้พวกเขาเหล่านั้นขาดโอกาสในการพัฒนา และอาจส่งผลเชิงลบที่ไม่พึงประสงค์ตามมา การพัฒนานักเรียนที่มีความต้องการพิเศษจึงเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่บุคลากรในสถานศึกษาต้องร่วมด้วยช่วยกันในการดำเนินงาน ทั้งนี้เพื่อให้นักเรียนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึงและตรงกับสภาพปัญหาความต้องการ ส่งผลให้ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียนในสถานศึกษาเกิดความเข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมากขึ้นตามไปด้วย