ชื่อเรื่อง การพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากล
ของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม
ผู้วิจัย นางสาวขวัญใจ แก้วรัตน์
ปีที่วิจัย ปี พ.ศ.2563
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศ
ตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม 2) เพื่อนำผลการศึกษาไปสร้างรูปแบบการการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนในระยะต่อไป ขอบเขตของการศึกษาเป็นไปตามแนวทางการการดำเนินงานโรงเรียนมาตรฐานสากลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน 3 ด้าน คือ 1) ด้านการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ (Quality System Management) 2) ด้านการจัดการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล (World-Class Standard) และ 3) ด้านคุณลักษณะของผู้เรียนมีศักยภาพเป็นพลโลก (World Citizen) ประชากรที่ใช้ในการศึกษาได้แก่ผู้บริหารโรงเรียน ครู กรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐานผู้เรียนและผู้ปกครองผู้เรียนของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม กำหนดขนาดของกลุ่มตัวอย่างจากตารางของเครจซี่ และมอร์แกน (Krejcie & Morgan) เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม (Questionnaire) ที่ผู้วิจัยจัดทำขึ้น จำนวน 5 ฉบับ แบบสอบถามแต่ละฉบับ แบ่งออกเป็น 2 ตอน ตอนที่ 1 เป็นแบบสำรวจรายการ (Checklist) สอบถามเกี่ยวกับสถานภาพ ตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ของลิเคิร์ท (Likert Rating Scale) สอบถามเกี่ยวกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากล หาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม (Reliability) โดยหาค่าสัมประสิทธิอัลฟาของครอนบาค (Cronbach) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป
ผลการวิจัยพบว่า
การพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม โดยภาพรวม อยู่ในระดับมากค่าเฉลี่ย 3.90 ( = 3.90, S.D= 0.78 และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าอยู่ในระดับมากทุกด้าน
1. ด้านการพัฒนาด้านการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.95 และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยข้อ (2) การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ
มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 4.09 และ ข้อ (4) การสร้างและพัฒนาเครือข่ายร่วมพัฒนามีค่าเฉลี่ยต่ำสุด 3.82
2. ด้านการจัดการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.85 เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ พบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยข้อ (3) การวิจัยและพัฒนามีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3.89 และข้อ (2) การพัฒนาคุณภาพของครูผู้สอน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด 3.82
3. ด้านการพัฒนาด้านคุณลักษณะผู้เรียน อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.90 เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยข้อ (3) ล้ำหน้าทางความคิด มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3.97 และข้อ (2) สื่อสารสองภาษา ค่าเฉลี่ยต่ำสุด 3.83
ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
ความก้าวหน้าทางวิทยากรของโลกในยุคปัจจุบัน ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของโลก
อย่างรวดเร็ว ทั้งด้าน สังคม เศรษฐกิจฐานความรู้ (Knowledge-based Economy) และความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศ ทำให้แต่ละประเทศไม่สามารถปิดตัวอยู่โดยลำพังได้ แต่จะต้องร่วมมือและพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน การดำรงชีวิตของคนในแต่ละประเทศมีการติดต่อสื่อสารกันมากขึ้น มีความร่วมมือในการปฏิบัติภารกิจและแก้ปัญหาต่างๆ ร่วมกันมากขึ้น ในขณะเดียวกัน สังคมโลกในยุคปัจจุบัน
ก็เต็มไปด้วยข้อมูลข่าวสาร ทำให้คนต้องคิดวิเคราะห์ แยกแยะ และมีการตัดสินใจที่รวดเร็ว เพื่อให้ทันกับเหตุการณ์ในสังคมที่มีความสลับซับซ้อนมากขึ้น สิ่งเหล่านี้ นำไปสู่สภาวการณ์ของการแข่งขันทางเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมระหว่างประเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้หลายประเทศต้องปฏิรูปการศึกษา คุณภาพของการจัดการศึกษาจึงเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญประการหนึ่งสำหรับความพร้อมในการเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และการมีศักยภาพในการแข่งขันในเวทีโลกของแต่ละประเทศ ดังนั้น ประเทศที่จะอยู่รอดได้หรือคงความได้เปรียบก็คือประเทศที่มีอำนาจทางความรู้ และเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society)
นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังปรากฏสภาพปัญหาที่คนทั่วโลกต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ร่วมกัน ในเรื่องความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อมวลมนุษย์โดยทั่วไปสะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มว่าคนยุคใหม่จะต้องเผชิญ กับความเปลี่ยนแปลงอันหลากหลายเป็นสัญญาณเตือนว่าโลกในยุคหน้าจะมีปรากฏการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นเกินกว่าจะคาดคิด ด้วยเหตุนี้จำเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละประเทศต้องเตรียมคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะและความสามารถในการปรับตัวให้มีคุณลักษณะสำคัญในการดำรงชีวิตในโลกยุคใหม่ได้อย่างรู้เท่าทัน สงบสันติ มีความสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี เหมาะสมเพียงพอการจัดหลักสูตรการเรียนการสอนต้องมีความเป็นพลวัต ก้าวทันกับสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติได้ผลักดันให้มีการปรับเปลี่ยน เพื่อเพิ่มศักยภาพการจัดการศึกษาไทยให้พร้อมสำหรับการแข่งขันในเวทีโลก ทั้งนี้เพราะเครื่องมือในการพัฒนาคนของชาติให้มีคุณภาพเป็นไปตามที่ต้องการ ส่งผลต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ เพื่อให้คนไทยสามารถอยู่ในสังคมโลกอย่างมีความสุขได้ก็คือการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพทัดเทียมกับนานาประเทศได้
การส่งเสริมและสนับสนุนผู้เรียน เพื่อพัฒนาคุณภาพสู่ระดับสากล เริ่มต้นจากโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล โดยผลักดันให้โรงเรียนที่มีความพร้อมและศักยภาพ เป็นโรงเรียนที่มีระบบการพัฒนาผู้เรียน สถานศึกษา แหล่งเรียนรู้ สภาพแวดล้อม หลักสูตรและการจัดการเรียนรู้ที่เอื้ออำนวยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต มีนิสัยใฝ่เรียนรู้ มีความสามารถคิดวิเคราะห์ แก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ มีคุณธรรมนำความรู้ รักความเป็นไทยและสามารถก้าวไกล
ในระดับนานาชาติ โดยเข้าร่วมเป็นโรงเรียนในโครงการ ในระยะแรกดำเนินการในโรงเรียนมัธยมศึกษา จำนวน 381 โรงเรียน และโรงเรียนประถมศึกษา จำนวน 119 โรงเรียน รวมทั้งสิ้น 500 โรงเรียน โดยการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของเยาวชนไทย โดยสนับสนุนปัจจัยที่ส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ทั้งโรงเรียนและผู้เรียนที่อ่อนด้อยอย่างเพียงพอ มุ่งเน้นความเป็นเลิศ สร้างผู้เรียนที่มีความรู้และทักษะในระดับสูงให้มีสัดส่วนมากขึ้น เพราะผู้เรียนกลุ่มนี้ คือเยาวชนรุ่นใหม่ของการแข่งขันในโลกเศรษฐกิจที่มีความรู้เป็นฐาน ยกระดับมาตรฐานการเรียนรู้สู่ความก้าวหน้าระดับมาตรฐานเดียวกับประเทศพัฒนาแล้ว
การดำเนินงานโรงเรียนมาตรฐานสากลเริ่มต้นในปีการศึกษา 2553 จนถึงปัจจุบัน โดยมีภาพคุณลักษณะที่บ่งบอกถึงความสำเร็จในโรงเรียนมาตรฐานสากล 3 ด้าน คือ 1) ผู้เรียนมีศักยภาพเป็นพลโลก (World Citizen) 2) การจัดการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล (World-Class Standard) 3) บริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ (Quality System Management) แต่ผลจากการกำกับติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนในโครงการที่ผ่านมา พบว่าโรงเรียนมาตรฐานสากลในโครงการนี้ก็ยังพบปัญหาอุปสรรคบางประการ เช่น เกิดความซ้ำซ้อนของสาระการเรียนรู้เพิ่มเติมกับหลักสูตรนานาชาติของบางประเทศและการจัดหลักสูตรของสถานศึกษาหลายแห่ง ในส่วนของสาระการเรียนรู้เพิ่มเติมที่ขาดความสอดคล้อง กับโครงสร้างเวลาเรียนที่กำหนดในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 และปัญหาทักษะและความสามารถที่จำเป็นที่จะช่วยทำให้เด็กและเยาวชนไทย สามารถพัฒนาตนเองไปสู่ความเป็นสากล ได้แก่ การคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ การแสวงหาความรู้ ทักษะด้านเทคโนโลยีและความสามารถในการทำงานร่วมกับผู้อื่นยัง ไม่อยู่ในระดับที่น่าพอใจ
จากเจตนารมณ์ของโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล ที่มีจุดมุ่งหมายและความคาดหวังว่า ผู้เรียนจะได้รับการพัฒนาให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ ซึ่งหมายถึงเป็นคนดี คนเก่ง คนที่สามารถดำรงชีวิตได้อย่างมีคุณค่าและมีความสุขบนพื้นฐานของความเป็นไทย ภายใต้บริบทสังคมโลกยุคใหม่ รวมทั้งเพิ่มศักยภาพและความสามารถในระดับสูงด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการสื่อสาร เพื่อให้สามารถพึงพาต้นเองและมีสมรรถนะในการแข่งขัน โรงเรียนยกระดับคุณภาพสูงขึ้นสู่มาตรฐานสากล ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพตามเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (OBECQA) และเกณฑ์รางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA) เป็นโรงเรียนยุคใหม่ที่จัดการศึกษาแบบองค์รวมและบูรณาการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม ศาสนาและการเมือง เพื่อพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน โดยมีภาคีเครือข่ายการจัดการเรียนรู้และร่วมพัฒนากับสถานศึกษาระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับชาติและนานาชาติ รวมทั้งเครือข่ายสนับสนุนจากสถาบันอุดมศึกษาและองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนเป็นศูนย์และร่วมเป็นเครือข่ายพัฒนาความรู้ให้กับประชาชนในชุมชนและบุคคลทั่วไป เพื่อเป็นการสนองเจตนารมณ์ดังกล่าว สำนักบริหารงานการมัธยมศึกษาตอนปลาย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยคณะทำงาน จึงได้ศึกษาสังเคราะห์เอกสารที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นจากโรงเรียนและผู้ทรงคุณวุฒิ แล้วจัดทำเป็นเอกสารแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนมาตรฐานสากล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้โรงเรียนในโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากลได้เข้าใจในเจตนารมณ์ ขอบข่ายความสำเร็จ ทิศทาง และกรอบการดำเนินงาน ตลอดจนสามารถนำไปเป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนายกระดับโรงเรียนสู่มาตรฐานสากล และขับเคลื่อนการดำเนินงานให้บังเกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมตามแผนกลยุทธ์ต่อไป
โรงเรียนชัยนาทพิทยาคม ได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล รุ่นที่ 2 (2557-2558) และผ่านการประเมิน ScQA รุ่น ปี พ.ศ. 2558 และ OBECQA รุ่น ปี พ.ศ. 2561 และในปีการศึกษา 2562 โรงเรียนมีความประสงค์จะรักษาระดับคุณภาพรวมทั้งพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ดียิ่งขึ้น ก้าวเข้าสู่ความเป็นเลิศระดับสากล และเห็นว่าแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนมาตรฐานสากลของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นแนวทางที่ตอบสนองความจำเป็นทั้งหลายดังกล่าวข้างต้น จึงได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนชัยนาทพิทยาคมตามแนวทางการดำเนินงานโรงเรียนมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่องและจริงจัง โดยปรับประยุกต์ให้เข้ากับบริบทของโรงเรียน จากความสำคัญดังกล่าว ผู้วิจัยจึงต้องการศึกษาแนวทางดำเนินงานด้านต่าง ๆ ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม เพื่อนำผลมาใช้ดำเนินการพัฒนารูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนต่อไป จึงได้ดำเนินการวิจัย เรื่องการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม
วัตถุประสงค์การวิจัย
1. เพื่อศึกษาการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม
2. เพื่อนำผลการศึกษาไปพัฒนาเป็นรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศระดับสากล ของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคมในปีต่อไป
วิธีดำเนินการวิจัย
ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยได้ศึกษา การพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม โดยดำเนินการวิจัยตามขั้นตอนและวิธีการ ดังนี้
1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
ประชากร ได้แก่ผู้บริหาร ครู คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้เรียน และผู้ปกครองผู้เรียนโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม จำนวนรวมทั้งสิ้น 5,123 คน คำนวณจำนวนกลุ่มตัวอย่างโดยใช้ตารางของ Krejcie and Morgan ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 791 คน และใช้วิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน
(Multi-Stage Random Sampling)
2. เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล
เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม (Questionnaire) ที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง โดยสังเคราะห์จากการศึกษาหลักการ กรอบแนวคิด และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากล แบบสอบถามมีจำนวน 5 ฉบับ
ฉบับที่ 1 ใช้สอบถามผู้บริหารโรงเรียน
ฉบับที่ 2 ใช้สอบถามครู
ฉบับที่ 3 ใช้สอบถามกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน
ฉบับที่ 4 ใช้สอบถามผู้เรียน
ฉบับที่ 5 ใช้สอบถามผู้ปกครองผู้เรียน
ซึ่งแต่ละชุดจะมีรายการที่สอบถามเหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่และความเกี่ยวข้องกับเรื่อง
ที่สอบถาม แบบสอบถามทุกฉบับแบ่งออกเป็น 2 ตอน ดังนี้
ตอนที่ 1 เป็นแบบสำรวจรายการ (Checklist) สอบถามเกี่ยวกับสถานภาพของผู้ตอบ
แบบสอบถาม
ตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ ตามแบบของลิเคิร์ท (Likert Rating Scale) สอบถามเกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม
3. การสร้างเครื่องมือเพื่อการวิจัย
ผู้วิจัยสร้างเครื่องมือตามลำดับขั้นตอน ดังนี้
1. ศึกษาเอกสาร หลักการ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเครื่องมือ และหลักการ แนวคิดและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศระดับสากลของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม
2. สร้างแบบสอบถาม โดยนำแบบสอบถามที่เสนอให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวน 5 ท่าน เพื่อตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหา (Content Validity) ได้ค่าเฉลี่ยระหว่าง 0.80 1.00 และหาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถาม (Reliability) โดยนำแบบสอบถามไปทดลองใช้กับประชากรที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 40 คน แล้วหาค่าความเชื่อมั่นด้วยวิธีสัมประสิทธิอัลฟาของครอนบาค (Cronbach) ได้ค่าความเชื่อมั่น เท่ากับ 0.96
4. การเก็บรวบรวมข้อมูล
ผู้วิจัยดำเนินการเก็บข้อมูลโดยขอความร่วมมือจากโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม ออกหนังสือถึงผู้เกี่ยวข้องในการตอบแบบสอบถาม เพื่อขอความอนุเคราะห์ในการจัดเก็บข้อมูลโดยผู้วิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเองได้รับแบบสอบถามกลับคืน 791 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 100
5. การวิเคราะห์ข้อมูล ได้ตรวจสอบความถูกต้อง ความสมบูรณ์ของการตอบแบบสอบถามแล้วนำไปใส่รหัสข้อมูล คำนวณผลด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
สรุปผลการวิจัย
1.ผลการวิจัย
การพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากล
ของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม โดยภาพรวม อยู่ในระดับมากค่าเฉลี่ย 3.90 ( = 3.90, S.D= 0.78 และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่าอยู่ในระดับมากทุกด้าน
1. ด้านการพัฒนาด้านการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.95
และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยข้อ (2) การพัฒนาระบบการบริหารจัดการ
มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 4.09 และ ข้อ (4) การสร้างและพัฒนาเครือข่ายร่วมพัฒนามีค่าเฉลี่ยต่ำสุด 3.82
2. ด้านการจัดการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.85
เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยข้อ (3) การวิจัยและพัฒนา มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3.89 และข้อ (2) การพัฒนาคุณภาพของครูผู้สอน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด 3.82
3. ด้านการพัฒนาด้านคุณลักษณะผู้เรียน อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.90 เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยข้อ (3) ล้ำหน้าทางความคิด มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3.97 และข้อ (2) สื่อสารสองภาษา ค่าเฉลี่ยต่ำสุด 3.83
2. อภิปรายผลการวิจัย
จากผลการศึกษาการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม ในภาพรวม อยู่ในระดับมากค่าเฉลี่ย 3.90 และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าอยู่ในระดับมาก ทุกด้านนั้น แสดงให้เห็นถึงผลการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นไปในทางที่ดี ผู้วิจัยได้แบ่งการอภิปรายผลเป็น 3 ประเด็นดังนี้
1. ผลการศึกษาด้านการพัฒนาด้านการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.95 และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ แสดงว่าสภาพการบริหารสถานศึกษาสู่โรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคม ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง ทั้งนี้เนื่องจากผู้บริหารมีวิสัยทัศน์นำโรงเรียนสู่มาตรฐานสากลและเล็งเห็นถึงความสำคัญของครูบุคลากรและผู้เกี่ยวข้อง โดยขับเคลื่อนให้บุคลากรเข้ารับการอบรมประชุมสัมมนาพัฒนาตนเอง พัฒนาสถานที่ อาคารเรียน ให้เพียงพอเพื่อพร้อมสู่การเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล และบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพได้อย่างมีประสิทธิภาพซึ้งสอดคล้องกับงานวิจัยของ มนต์ชัย ปาณธูป (บทคัดย่อ : 2557) ได้ศึกษาการบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาอย่างมีคุณภาพตามเกณฑ์มาตรฐานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (TQA)ในโรงเรียนมาตรฐานสากลที่พัฒนาอย่างเข้มข้น (Intensive-School) ผลการศึกษาพบว่า การบริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาโดยใช้เกณฑ์มาตรฐานรางวัลคุณภาพแห่งชาติ (Thailand Quality Award)อันประกอบด้วย 1) การนำองค์กร 2) การวางแผนกลยุทธ์ 3) การมุ่งเน้นผู้เรียนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย 4) การวัดการวิเคราะห์และการจัดการเรียนรู้ 5) การมุ่งเน้นบุคลากร 6) การจัดการกระบวนการ 7) ผลลัพธ์ มีผลต่อระดับการพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนอย่างมาก นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับผลการวิจัยของ สมาพร ลี้ภัยรัตน์ (บทคัดย่อ : 2558) ทำการวิจัยเรื่อง รูปแบบการบริหารคุณภาพโรงเรียนมาตรฐานสากล ระดับประถมศึกษา ผลการวิจัยพบว่า องค์ประกอบสำคัญของการบริหารคุณภาพสู่โรงเรียนมาตรฐานสากล ได้แก่ ภาวะผู้นำของผู้บริหาร การพัฒนาบุคลากร และการสร้างเครือข่ายร่วมพัฒนา มีผลต่อการพัฒนาการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ โรงเรียนชัยนาทพิทยาคมได้ผ่านเกณฑ์การประเมินคุณภาพโรงเรียนมาตรฐานสากลแล้วตั้งแต่ปี 2561 แต่จากการศึกษาการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเลิศตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนชัยนาทพิทยาคมครั้งนี้ ในรายละเอียด พบว่า ส่วนที่ยังไม่น่าพอใจและอาจเป็นปัญหาได้ ได้แก่ การสร้างและพัฒนาเครือข่ายร่วมพัฒนาซึ่งมีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ทั้งนี้โรงเรียนควรดำเนินการจัดหาเครือข่ายร่วมพัฒนาเพิ่มเติม และประสานงานให้มีการพัฒนาและมีกิจกรรมด้านคุณภาพการศึกษาร่วมกันของโรงเรียนเครือข่ายให้มากขึ้น
2. ผลการศึกษาด้านการจัดการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากล พบว่าอยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.85 เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยข้อ (3) การวิจัยและพัฒนา มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3.89 และข้อ (2) การพัฒนาคุณภาพของครูผู้สอน มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด 3.82 ซึ่งค่าเฉลี่ยของการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้านนี้ยังมีค่าเฉลี่ยต่ำกว่าการดำเนินงานด้านอื่น จึงสามารถกล่าวได้ว่า ในการจัดการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากลนี้ โรงเรียนยังต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งที่จะพัฒนาสู่ระดับสูงสุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาครูผู้สอนให้สามารถสอนวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นภาษาอังกฤษ และการจัดหลักสูตรที่ทำให้ผู้เรียนสามารถเทียบโอนกับโรงเรียนอื่นในระดับนานาชาติได้ ยังเป็นปัญหาสำคัญในด้านจำนวนบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถในการใช้ภาษายังมีไม่เพียงพอ ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ภานุภัทร จรัสนูพิพัฒน์ (2554 : 82) พบว่า ปัญหาการใช้หลักสูตรสถานศึกษาของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล ครูขาดการมีส่วนร่วมในการวางแผนการบริหารหลักสูตรสถานศึกษา โรงเรียนให้บริการและสนับสนุนการสอนของครูไม่เพียงพอต่อความต้องการของครู ซึ่งสิ่งที่โรงเรียนควรดำเนินการ ปรับลดเนื้อหาเพิ่มความเข้มข้นโดยเทียบเคียงกับหลักสูตรสากลปรับลดเวลาในการสอนของครูในห้องเรียนและเพิ่มเวลาเรียนรู้นอกห้องเรียนให้มากขึ้นเพื่อพัฒนาผู้เรียนอย่างต่อเนื่องและจัดหาและส่งเสริมให้ครูใช้สื่อนวัตกรรมเทคโนโลยีและวิทยาการใหม่ๆ เกี่ยวกับภาษาต่างประเทศเพื่อพัฒนาตนเอง อีกทั้งสอดคล้องกับงานวิจัยของ สุขสวัสดิ์ บุญศรี (2555: 86) พบว่า โรงเรียนควรมีการฝึกอบรมด้านภาษาให้ครูมีความรู้ทางด้านภาษาเพิ่มขึ้น สามารถสื่อสารกันได้และนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้และการจัดหลักสูตรที่ส่งเสริมความเป็นเลิศตอบสนองต่อความถนัดศักยภาพและความต้องการของผู้เรียนควรมีการจัดการแข่งขันทักษะวิชาการหรือคัดเลือกผู้เรียนที่มีศักยภาพทางด้านต่างๆมาส่งเสริมเพิ่มขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนสามารถแข่งขันในระดับสากลได้
3. ผลการศึกษาด้านการพัฒนาด้านคุณลักษณะผู้เรียน อยู่ในระดับมาก ค่าเฉลี่ย 3.90 เมื่อพิจารณารายข้อพบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ โดยข้อ (3) ล้ำหน้าทางความคิด มีค่าเฉลี่ยสูงสุด 3.97 และข้อ (2) สื่อสารสองภาษา ค่าเฉลี่ยต่ำสุด 3.83 การที่ผู้เรียนได้รับการพัฒนาคุณลักษณะ ในที่นี่
หมายถึง ความมีคุณลักษณะของความเป็นพลโลก น่าจะเป็นเพราะนอกจากโรงเรียนจะให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาเทียบเคียงมาตรฐานสากลแล้ว อีกประการหนึ่งน่าจะมาจากการที่ผู้เรียนสามารถเข้าถึงแหล่งความรู้ได้หลากหลายช่องทาง ระบบการให้บริการด้านอินเตอร์เน็ตที่ก้าวหน้าทำให้การติดต่อสื่อสาร การค้นคว้าหาความรู้เป็นไปอย่างกว้างขวาง และทุกคนรับรู้ว่าในโลกยุคปัจจุบันทุกสิ่งทุกอย่างในโลกล้วนเกี่ยวเนื่องกันและส่งผลถึงกันไม่มากก็น้อย ซึ่งสอดคล้องกับ วจีพร แก้วหล้า (2558) ได้ทำการวิจัยเรื่อง การบริหารสถานศึกษาสู่โรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนสังกัดสานักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 37 ผลการวิจัยพบว่า ด้านคุณลักษณะผู้เรียนควรสนับสนุนผู้เรียนที่มีความสามารถความถนัดเฉพาะทาง ที่ได้คัดสรรแล้วไปแสดงในระดับชาติและนานาชาติ และจัดกิจกรรมและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์กล้าเผชิญความเสี่ยง สามารถใช้ความคิดระดับสูง มีเหตุผลและการวางแผนการจัดการสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ การจัดการศึกษา เพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยจะต้องพัฒนาศักยภาพที่มีอยู่ในตัวตนให้ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่ทำให้เป็นคนที่รู้จักการคิดวิเคราะห์ รู้จักแก้ปัญหา มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ รู้จักการเรียนรู้ด้วยตนเองสามารถเชื่อมโยงความรู้ทักษะและค่านิยมที่ดีงามในการดำเนินชีวิต สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว มีคุณธรรมจริยธรรม รู้จักการพึ่งตนเองและสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข
ข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยไปใช้
1. ควรนำข้อมูลที่ได้จากสรุปผลการวิจัยครั้งนี้ ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากลต่อไป
1.1 ด้านการบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพผู้บริหารควรนำระบบบริหารคุณภาพเข้ามาใช้ในการดำเนินงานให้ครอบคลุมทุกระบบงานของโรงเรียน เรื่องที่ควรดำเนินการก่อนได้แก่การพัฒนาระบบเครือข่ายร่วมพัฒนา
1.2 ด้านการจัดการเรียนการสอนเทียบเคียงมาตรฐานสากลผู้บริหารต้องเข้ามาที่ส่วนร่วมในการจัดการให้ความรู้แก่บุคลากรทุกคนในโรงเรียนให้ได้รับการอบรมเพื่อเพิ่มพูนความรู้เพื่อพัฒนาให้ครูมีทักษะและขีดความสามารถในระดับสากล
1.3 ด้านคุณลักษณะผู้เรียนควรจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์สามารถใช้ความคิดระดับสูง มีเหตุผล โดยสิ่งที่ควรให้ความสำคัญต้องรีบพัฒนาก่อนคือความสามารถด้านภาษาของผู้เรียน
2. ควรให้บุคลากรทุกฝ่ายของโรงเรียนได้ศึกษาผลการวิจัยและนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพงานในส่วนที่รับผิดชอบต่อไป
ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรวิจัยศึกษาปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความสำเร็จต่อการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากล
2. ควรนำข้อมูลการวิจัยครั้งนี้ ไปพัฒนาโดยสร้างรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการศึกษาสู่ความเป็นเลิศตามแนวทางโรงเรียนมาตรฐานสากลของโรงเรียนต่อไป