ชื่อเรื่อง รูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียน ที่เน้นจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม
ผู้วิจัย นายไพบูลย์ เสือทองหลาง
ผู้อำนวยการสถานศึกษา โรงเรียนวังหมีพิทยาคม วิทยฐานะ ผู้อำนวยการชำนาญการพิเศษ
ปีที่พิมพ์ 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยรูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นจิตอาสา เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม ครั้งนี้ ผู้วิจัยดำเนินการพัฒนารูปแบบการพัฒนาครูด้วยกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีวัตถุประสงค์การวิจัย ดังนี้ 1) เพื่อศึกษาสภาพปัญหาความต้องการ แนวทางและองค์ประกอบในการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียน ที่เน้นจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม 2) เพื่อสร้างรูปแบบในการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นจิตอาสา เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม 3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียน ที่เน้นจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม และ 4) เพื่อประเมินผลประเมินผลรูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นจิตอาสา เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม ซึ่งมีขั้นตอนการดำเนินการ 4 ขั้นตอน มีรายละเอียด ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 การวิจัย (Research : R1) เป็นการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (Analysis) ดำเนินการ ดังนี้ ขั้นที่ 1 ศึกษาเอกสาร แนวคิด ทฤษฏี และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ขั้นที่ 2 การสนทนากลุ่ม (Focus Group Discussion) ขั้นที่ 3 วิเคราะห์หาประเด็นในการพัฒนารูปแบบการพัฒนาครู ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนา (Development : D1) เป็นการออกแบบและพัฒนารูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม ดำเนินการ ดังนี้ ขั้นที่ 1 การสร้างโครงร่างรูปแบบการพัฒนาครู ขั้นที่ 2 การตรวจสอบโครงร่างรูปแบบการพัฒนาครู ขั้นที่ 3 การปรับปรุงโครงร่างรูปแบบการพัฒนาครู ขั้นตอนที่ 3 การวิจัย (Research : R2) เป็นการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นจิตอาสา เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม ดำเนินการโดยนำรูปแบบการพัฒนาครูไปทดลองใช้กับครูโรงเรียนวังหมีพิทยาคม จำนวน 14 คน แบบแผนการทดลองใช้รูปแบบการทดลองแบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (One Group Pretest-Posttest Design) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง ได้แก่ 1) แบบทดสอบวัดความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับคุณลักษณะการเป็นผู้ที่มีจิตอาสา เป็นแบบทดสอบแบบเลือกตอบ 4 ตัวเลือก มีค่าความยากง่ายอยู่ระหว่าง 0.30 - 0.70 และค่าอำนาจจำแนกอยู่ระหว่าง 0.26 - 0.77 ค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.92 2) แบบประเมินสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน มีค่าความเชื่อมั่น ทั้งฉบับ เท่ากับ 0.83 3) แบบสอบถามความคิดเห็นของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการตามรูปแบบการพัฒนาครู มีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับ เท่ากับ 0.80 4) แบบประเมินทักษะการปฏิบัติกิจกรรมจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม และ 5) แบบวัดระดับคุณลักษณะการเป็นผู้มีจิตอาสา ขั้นตอนที่ 4 การพัฒนา (Development : D2) เป็นการประเมินผลรูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นจิตอาสา เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม ดำเนินการโดย 1) ประเมินแบบประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการพัฒนาครู ด้วยระดับคุณภาพตามมาตรฐานการประเมิน 2) สอบถามความพึงพอใจต่อรูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นจิตอาสา เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน มีค่าความเชื่อมั่น ทั้งฉบับ เท่ากับ 0.83
ผลการวิจัย พบว่า
1. ผลการการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลพื้นฐาน (Analysis : A) พบว่า กระบวนการศึกษาข้อมูลพื้นฐานและแนวคิดทฤษฎี และการพัฒนารูปแบบการพัฒนาครู รวมถึงการตรวจสอบคุณภาพรูปแบบการพัฒนาครู และการทดลองใช้รูปแบบ ตามแนวคิดของคีฟ (Keeves, 1997) เป็นรูปแบบเชิงภาษา (Semantic Model) ใช้ภาษา ในการอธิบาย แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ของรูปแบบ อธิบายถึงกระบวนการ ปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างผู้ให้การพัฒนากับผู้รับการพัฒนา ในการสนับสนุน ส่งเสริม ช่วยเหลือ หรือให้คำชี้แนะเกี่ยวกับการจัดกิจกรรม การพัฒนาหรือปรับปรุงคุณภาพการ จัดการศึกษาของครูให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลกับผู้เรียน คุณลักษณะการเป็นผู้มีจิตอาสา ประกอบด้วย 1) การเสียสละ 2) การช่วยเหลือผู้อื่น 3) การไม่หวังผลตอบแทน และ 4) การทำเพื่อส่วนรวม
2. ผลการสร้างและพัฒนาพัฒนารูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียน ที่เน้นจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม รูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียน ที่เน้นจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม มีองค์ประกอบ ดังนี้ คือ 1) หลักการและเหตุผล 2) จุดมุ่งหมาย 3) หลักการของรูปแบบการพัฒนาครู 4) ลักษณะสำคัญของรูปแบบการพัฒนาครู 5) โครงสร้างเนื้อหา 6) กระบวนการพัฒนาครู 7) การประเมินประสิทธิภาพและประสิทธิผลของรูปแบบ 8) เป้าหมาย และสภาพบ่งชี้การบรรลุเป้าหมาย ลักษณะสำคัญของรูปแบบ มีชื่อ เรียกว่า PTTER Model ประกอบด้วยกระบวนการ 5 ขั้น คือ การวางแผน (Planning) การอบรม (Training) การปฏิบัติ (Take Action) การประเมินผล (Evaluation) และการสะท้อนผล (Reflection)
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียน ที่เน้นจิตอาสา เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม
3.1 ผลการประเมินการเรียนรู้ของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรม พบว่า ครูผู้เข้าอบรมมีคะแนนเฉลี่ย หลังการอบรมเท่ากับ 28.21 คิดเป็นร้อยละ 94.03 สูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนการอบรมเท่ากับ 17.14 คิดเป็นร้อยละ 57.13 ซึ่งผู้เข้าอบรม มีคะแนนการพัฒนาร้อยละ 36.90
3.2 ผลการประเมินสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม พบว่า สมรรถนะการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นจิตอาสา โดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย = 4.65,ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.49)
3.3 ผลการวิเคราะห์แบบสอบถามความคิดเห็นของครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมตามรูปแบบ การพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียนที่เน้นจิตอาสา เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม พบว่า ระดับความคิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย= 4.40,ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.63)
3.4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลแบบประเมินทักษะการปฏิบัติกิจกรรมจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์
สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม พบว่า ระดับคุณภาพทักษะการปฏิบัติกิจกรรมจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โดยรวมมีคุณภาพระดับดี คิดเป็นร้อยละ 47.19 มีคุณภาพระดับพอใช้ คิดเป็นร้อยละ 51.20 และอยู่ในระดับปรับปรุง คิดเป็นร้อยละ 1.61 เมื่อพิจารณาระดับคุณภาพพอใช้ถึงดี คิดเป็นร้อยละ 98.39
3.5 ผลการประเมินแบบวัดระดับคุณลักษณะการเป็นผู้มีจิตอาสา พบว่า ระดับความ
คิดเห็นโดยรวม อยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย= 4.64, S.D. = 0.55)
4. ผลการประเมินรูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการพัฒนาผู้เรียนที่เน้น จิตอาสาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โรงเรียนวังหมีพิทยาคม
4.1 ผลการหาประสิทธิภาพของรูปแบบการพัฒนาครู เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะการ
พัฒนาผู้เรียนที่เน้นจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โรงเรียนวังหมีพิทยาคม พบว่า รูปแบบการพัฒนาครู มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานการประเมิน ด้านการใช้ประโยชน์ ด้านความเป็นไปได้ ด้านความเหมาะสม และด้านความถูกต้อง โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.41, ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.31) และเมื่อพิจารณาเป็นรายตัวบ่งชี้ พบว่า ทั้ง 30 ตัวบ่งชี้ มีประสิทธิภาพอยู่ในระดับมาก ถึงมากที่สุด โดยมีค่าเฉลี่ยอยู่ระหว่าง 3.94 - 4.81
4.2 ผลการสอบถามความพึงพอใจต่อรูปแบบการพัฒนาครู ที่เน้นจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์
สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม พบว่า ครูผู้เข้ารับการฝึกอบรมได้ประเมินความพึงพอใจต่อรูปแบบการพัฒนาครูที่เน้นจิตอาสาเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในชุมชน โรงเรียนวังหมีพิทยาคม โดยรวม มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก (ค่าเฉลี่ย = 4.41,ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน = 0.58)