ชื่อผลงานทางวิชาการ : การพัฒนาครูในการสร้างหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ
สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคล จังหวัดเพชรบูรณ์
ชื่อผู้วิจัย : นางสุภาพร ศรีวงศ์ ตำแหน่ง รองผู้อำนวยการสถานศึกษา
วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ
ปีที่ศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การพัฒนาครูในการสร้างหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคล จังหวัดเพชรบูรณ์ มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษากระบวนการพัฒนาครูในการสร้างหน่วย การเรียนรู้บูรณาการ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคล จังหวัดเพชรบูรณ์ 2) เพื่อศึกษาผลการใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) ในการพัฒนาครูสร้างหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น 3)เพื่อวัดความพึงพอใจของครูในการสร้างหน่วยการเรียนรู้บูรณาการสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคล จังหวัดเพชรบูรณ์ กระบวนการวิจัยมีจำนวน 2 วงรอบ ซึ่งในแต่ละวงรอบประกอบด้วย การวางแผน (Plan) การปฏิบัติ ตามแผน (Act) การสังเกต (Observe) และการสะท้อนผล (Reflect) กลุ่มเป้าหมายเป็นบุคลากรในโรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคล จังหวัดเพชรบูรณ์ ปีการศึกษา 2561 ประกอบด้วย ครูผู้สอนและครูสนับสนุนการสอนระดับช่วงชั้นที่ 2-3 (ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1-3) โรงเรียนเทศบาล บ้านศรีมงคล จังหวัดเพชรบูรณ์ ปีการศึกษา 2561 จำนวน 31 คน ตัวแทนชุมชนประกอบด้วยคณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ตำแหน่งผู้ทรงคุณวุฒิ ตัวแทนชุมชน และตัวแทนผู้ปกครอง รวมจำนวน 5 คน ผู้ให้ข้อมูลสำคัญ วิทยากร ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ดำเนินการนิเทศประกอบด้วยศึกษานิเทศก์และนักบริหารการศึกษา เทศบาลเมืองหล่มสัก ศึกษานิเทศก์ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาจังหวัดเพชรบูรณ์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นจังหวัดเพชรบูรณ์ เครื่องมือที่ใช้ ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณประกอบด้วย 1) แบบสอบถามความต้องการของครูในการพัฒนาหลักสูตรสาระการเรียนรู้ท้องถิ่น 2) แบบประเมินกระบวนการและสื่อในการพัฒนาครู และ3)แบบประเมินแผนการจัดการเรียนรู้ เครื่องมือเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลที่ได้จากการสังเกต การสัมภาษณ์ การศึกษาเอกสารและหลักฐานเชิงประจักษ์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการคำนวณค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์เชิงบรรยาย
ผลการวิจัยพบว่า กระบวนการพัฒนาครูในการสร้างหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคล จังหวัดเพชรบูรณ์ ประกอบด้วย 7 ขั้นตอนคือ 1) การศึกษาสภาพปัญหา และความต้องการในการพัฒนาหน่วยการเรียนรู้ สาระท้องถิ่น 2) จัดเตรียมความพร้อม ด้านบุคลากรและทรัพยากร 3) การกำหนดแนวทางพัฒนาหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น 4) การสร้างหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โดยกระบวนการมีส่วนร่วมและการสังเกตการณ์ 5) การประเมินหน่วยการเรียนรู้ 6) การนำแผนการจัดการเรียนรู้บูรณาการไปใช้ และ 7) การสะท้อนผลการปฏิบัติ
ผลการใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) ในการพัฒนาครูสร้างหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคล จังหวัดเพชรบูรณ์ ในวงรอบที่ 1 โดยใช้กลยุทธ์ การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน ในการวางแผน การลงมือปฏิบัติ การสังเกตการณ์เพื่อช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสะท้อนผลการปฏิบัติระหว่างคณะทำงาน ผู้วิจัย วิทยากรและผู้เชี่ยวชาญ นำผลจากการสังเกต การสัมภาษณ์ และประเมินหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น โรงเรียนเทศบาลบ้านศรีมงคล จังหวัดเพชรบูรณ์ ที่กลุ่มเป้าหมายสร้างขึ้นหลังการประชุมเชิงปฏิบัติการ พบว่ากลุ่มเป้าหมายมีความรู้ ความเข้าใจในการสร้างหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น สามารถนำไปปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาเพิ่มเติม ในวงรอบที่ 2 ต่อไป
ผลการพัฒนาในวงรอบที่ 2 โดยใช้กลยุทธ์ การประชุมเชิงปฏิบัติการและการนิเทศภายใน ในการทบทวนแผน การลงมือปฏิบัติ การสังเกตการณ์เพื่อช่วยเหลือ ให้คำแนะนำ ปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนเรียนรู้และการสะท้อนผลการปฏิบัติระหว่างคณะทำงาน ผู้วิจัย วิทยากรและผู้เชี่ยวชาญ พบว่า กลุ่มเป้าหมาย มีความรู้ความเข้าใจ สามารถนำหน่วยการเรียนรู้บูรณาการ สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น รายชั้นเรียนที่พัฒนาจากวงรอบที่ 1 นำไปปฏิบัติได้จริงในชั้นเรียนได้ในระดับที่น่าพอใจทุกหน่วย การเรียน และพบว่า การนำกระบวนการ วิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วมมาใช้ส่งผลให้สถานศึกษาสามารถระดมการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาการวิจัยได้ทุกขั้นตอนของการวิจัย