ชื่อเรื่อง การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนพลศึกษาด้านทักษะปฏิบัติ สำหรับนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ผู้วิจัย นายสุนันท์ หิรัตพรม
หน่วยงาน โรงเรียนจุมจังพลังราษฎร์ อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ สังกัดสำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ 1) เพื่อพัฒนาและหาประสิทธิภาพของรูปแบบการสอนพลศึกษาด้านทักษะปฏิบัติ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ให้มีประสิทธิภาพ (E1/E2) ตามเกณฑ์ 80/80 2) เพื่อเปรียบเทียบทักษะปฏิบัติของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่เรียนด้วยรูปแบบการสอนพลศึกษาด้านทักษะปฏิบัติ ก่อนเรียนกับหลังเรียน และ 3) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อการสอนด้วยรูปแบบการสอนพลศึกษาด้านทักษะปฏิบัติกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/1 ที่กำลังเรียนในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนจุมจังพลังราษฎร์ อำเภอ กุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์ นักเรียนจำนวน 23 คน ได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นกลุ่ม (Cluster) ด้วยการจับสลากมา 1 ห้อง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย รูปแบบการสอนพลศึกษาด้านทักษะปฏิบัติ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 เอกสารประกอบการสอนแบดมินตัน แผนการจัดการเรียนรู้พลศึกษาด้านทักษะปฏิบัติ แบบประเมินความสอดคล้องของรูปแบบการสอน แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบวัดความสามารถด้านทักษะกีฬา และแบบสอบถามความพึงพอใจ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
การทดสอบค่าทีแบบไม่อิสระ (t-test dependent) และการวิเคราะห์เนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนนี้มีชื่อเรียกว่า มีชื่อเรียกว่า อาร์ดีพีพีเอเอส (RDPPAS Model) มี 7 องค์ประกอบหลัก 1) หลักการ 2) วัตถุประสงค์ 3) กระบวนการจัดการเรียนรู้
4) สาระหลัก 5) สิ่งที่ส่งเสริมการเรียนรู้ 6) ระบบสังคม และ 7) ระบบสนับสนุนรูปแบบการเรียน
การสอนที่พัฒนาขึ้นมีกระบวนการเรียนการสอน ประกอบด้วย 6 ขั้นตอนคือ 1) ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียม
ความพร้อม (Readiness :R) 2) ขั้นอธิบายและสาธิต (Demonstration and Explanation : D)
3) ขั้นปฏิบัติทักษะย่อย (Practice Subskills : P) 4) ขั้นปฏิบัติให้ชำนาญ (Practice Expertise : P) 5) ขั้นประยุกต์ใช้ (Application : A) และ 6) ขั้นสรุป (Summarize : S) ตรวจสอบความสอดคล้องของรูปแบบการเรียนการสอนที่พัฒนาขึ้น โดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบการเรียนการสอนมีความสอดคล้องกัน (IOC = 0.89) และเมื่อนำไปหาประสิทธิภาพ (E1/E2) แบบกลุ่มใหญ่ (Filed Tryout) กับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1/3 โรงเรียนจุมจังพลังราษฎร์ ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2560 ที่เป็นนักเรียนเก่ง ปานกลาง และอ่อน จำนวน 30 คน โดยได้ค่าประสิทธิภาพของรูปแบบการเรียนการสอน เท่ากับ 84.42/82.67 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 80/80 ปรากฏว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ความสามารถด้านทักษะปฏิบัติกีฬาแบดมินตัน ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1
ที่เรียนด้วยรูปแบบการสอนพลศึกษาด้านทักษะปฏิบัติ ก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยความสามารถด้านทักษะกีฬาแบดมินตันหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
3. ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ที่มีต่อรูปแบบการสอนพลศึกษาด้านทักษะปฏิบัติ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจในภาพรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยนักเรียนพึงพอใจต่อการสอนด้วยรูปแบบการสอนพลศึกษาด้านทักษะปฏิบัติ
ด้านรูปแบบการเรียนการสอนมากที่สุด เพราะผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์และแสวงหาข้อมูลจากแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลาย ผู้เรียนเรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติทักษะกีฬาแบดมินตันด้วยตัวเอง และร่วมกันเรียนรู้กับผู้อื่น ครูเรียงลำดับเนื้อหาและกิจกรรมได้อย่างเหมาะสม และนักเรียนสามารถสรุปความรู้ เชื่อมโยงนำไปไปใช้ในชีวิตประจำวันได้