ชื่อเรื่อง : การพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดขั้นสูงในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ผู้วิจัย : นายคารม พลีดี
ที่ทำงาน : โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ ตำบลท่าอิฐ อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
ปีที่วิจัย : 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์ 1) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดขั้นสูงในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 2) เพื่อหาประสิทธิผลของรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดขั้นสูงในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โดยเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ศึกษาเปรียบเทียบทักษะการคิดขั้นสูงในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน 3) ศึกษาความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ และ 4) เพื่อขยายผลการใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดขั้นสูงในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ เป็นนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลท่าอิฐ จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 40 คน กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการขยายผล เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนเทศบาลวัดท้ายตลาด (กวีธรรมสาร) จังหวัดอุตรดิตถ์ จำนวน 40 คน ซึ่งไม่ใช่กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย รูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ แผนการจัดการเรียนรู้ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน แบบวัดความสามารถในการคิดขั้นสูง และแบบสอบถามความคิดเห็นที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สถิติทีแบบไม่อิสระและแบบอิสระ
ผลการวิจัยพบว่า
1. รูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์นี้มีชื่อว่า PPPCAS Model ประกอบด้วย องค์ประกอบเชิงหลักการและวัตถุประสงค์ องค์ประกอบเชิงกระบวนการและองค์ประกอบเชิงเงื่อนไขการนำรูปแบบไปใช้ รูปแบบการเรียนการสอนมี 6 ขั้นตอน คือ ขั้นที่ 1 ขั้นการนำเข้าสู่บทเรียน (Preparation : P) ขั้นที่ 2 ขั้นการนำเสนอเนื้อหา (Presentation : P) ขั้นที่ 3 ขั้นการฝึกทักษะ (Practice : P) ขั้นที่ 4 ขั้นการสร้างองค์ความรู้ (Constructivism : C) ขั้นที่ 5 ขั้นการประยุกต์ใช้ความรู้ (Application: A) และ ขั้นที่ 6 ขั้นสรุป (Summary : S ค่าประสิทธิภาพ (E1/E2) ของรูปแบบการเรียนการสอนเท่ากับ 84.20/85.61 เมื่อเทียบกับเกณฑ์ 80/80 ปรากฏว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้
2. ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์เพื่อส่งเสริมทักษะการคิดขั้นสูงในศตวรรษที่ 21 ของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 (PPPCAS Model) พบว่านักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิทยาศาสตร์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3. ความสามารถในการคิดขั้นสูงด้านการคิดวิเคราะห์และด้านการคิดแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์ ของนักเรียนหลังการเรียนการสอนโดยใช้รูปแบบการเรียนการสอน (PPPCAS Model) โดยภาพรวมอยู่ในระดับสูงมากและสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ระดับความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ ในภาพรวมพบว่า นักเรียนมีความเห็นด้วยอยู่ในระดับมากที่สุด
5. ผลการจากการนำรูปแบบการเรียนการไปขยายผล พบว่า ผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิทยาศาสตร์ของนักเรียนกลุ่มขยายผลหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ความสามารถในการคิดขั้นสูงด้านการคิดวิเคราะห์และด้านการคิดแก้ปัญหาทางวิทยาศาสตร์โดย ภาพรวมอยู่ในระดับสูงมากและสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และในด้านความคิดเห็นของนักเรียนกลุ่มขยายผลที่มีต่อการใช้รูปแบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์มีความเห็นด้วยอยู่ในระดับมากที่สุด