เรื่อง ผลการจัดประสบการณ์ด้วยกิจกรรมเกมการศึกษาแบบเพื่อนคู่คิด Think-Pair-Share ที่มีต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาและความสามารถพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ของเด็กชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 2 - 3 ปี)
ผู้วิจัย นางขวัญทิพย์ วงศ์ษาปัน
หน่วยงาน ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาลตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน
ปีที่เผยแพร่ 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาแผนการจัดประสบการณ์ด้วยกิจกรรมเกมการศึกษาแบบเพื่อนคู่คิด Think-Pair-Share สำหรับเด็กปฐมวัย ชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 2-3 ปี) ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 และประเมินพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กปฐมวัย ชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 2-3 ปี) เปรียบเทียบความสามารถพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กปฐมวัยชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 2-3 ปี) และประเมินความพึงพอใจต่อการเรียนของเด็ก กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นเด็กชั้นเตรียมอนุบาล(อายุ 2-3 ปี) ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กเทศบาล ตำบลบ้านโฮ่ง อำเภอบ้านโฮ่ง จังหวัดลำพูน จำนวน 10 คน ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ แผนการจัดประสบการณ์ด้วยกิจกรรมเกมการศึกษาแบบเพื่อนคู่คิด Think-Pair-Share แบบประเมินพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็ก แบบทดสอบความสามารถพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็ก และแบบสัมภาษณ์ความพึงพอใจต่อการเรียนของเด็กปฐมวัยระดับเตรียมอนุบาล(อายุ 2-3 ปี) ที่มีต่อการจัดประสบการณ์ด้วยกิจกรรมเกมการศึกษาแบบเพื่อนคู่คิด Think-Pair-Share วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าเฉลี่ย ร้อยละ และทดสอบสมมุติฐานของการวิจัย โดยใช้สถิติ The Wilcoxon matched pairs signed ranks test ผลการวิจัย พบว่า
1. แผนการจัดประสบการณ์ด้วยกิจกรรมเกมการศึกษาแบบเพื่อนคู่คิด Think-Pair-Share ที่มีต่อพัฒนาการด้านสติปัญญาและความสามารถพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 23 ปี) มีประสิทธิภาพเท่ากับ 87.71/83.33 เป็นไปตามเกณฑ์ 80/80 ที่กำหนดไว้
2. เด็กปฐมวัยชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 2-3 ปี) ที่ได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยกิจกรรมเกมการศึกษาแบบเพื่อนคู่คิด Think-Pair-Share มีพัฒนาการด้านสติปัญญาโดยเฉลี่ยเท่ากับ 36.14 คิดเป็นร้อยละ 72.28 แปลว่า มีพัฒนาการระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน สามารถเรียงลำดับคะแนนจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์ มีพัฒนาการคิดเป็นร้อยละ 85.00 ด้านการคิดและการแก้ปัญหาได้เหมาะสมกับวัย มีพัฒนาการคิดเป็นร้อยละ 74.93 ด้านเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้และมีทักษะในการแสวงหาความรู้ มีพัฒนาการคิดเป็นร้อยละ 72.64 และด้านการใช้ภาษาสื่อสารได้เหมาะสมกับวัย มีพัฒนาการคิดเป็นร้อยละ 64.11 ตามลำดับ โดยคะแนนพัฒนาการด้านสติปัญญาของเด็กปฐมวัยชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 2-3 ปี) มีแนวโน้มของพัฒนาการด้านสติปัญญาที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. เด็กปฐมวัยชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 2-3 ปี) ที่ได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยกิจกรรมเกมการศึกษาแบบเพื่อนคู่คิด Think-Pair-Share มีความสามารถพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. เด็กปฐมวัยชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 2-3 ปี) ที่ได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยกิจกรรมเกมการศึกษาแบบเพื่อนคู่คิด Think-Pair-Share มีความพึงพอใจโดยภาพรวม อยู่ในระดับมากที่สุด ( = 4.65) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ปรากฏว่า เด็กปฐมวัยชั้นเตรียมอนุบาล (อายุ 2-3 ปี) มีความพึงพอใจระดับมากที่สุด 14 ข้อ และมีความพึงพอใจระดับมาก 1 ข้อ เรียงลำดับความพึงพอใจสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ เด็กชอบใจที่ครูคอยชื่นชมและให้กำลังใจ (= 4.9) เด็กสนใจกิจกรรมที่ครูชวนให้ทำอย่างหลากหลาย ( = 4.8) เด็กชอบใจที่ครูแนะนำให้ปรับปรุงการทำงาน (= 4.8) เด็กสนุกกับการได้ทำงานตามจินตนาการของตนเอง ( = 4.7) และเด็กชอบใจที่ได้โชว์ผลงานให้เพื่อนชื่นชม ( = 4.7) ตามลำดับ