ชื่อเรื่อง การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model)
ร่วมกับแบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง สมบัติ
ของเลขยกกำลัง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ผู้วิจัย นางนิตยา พรมกอง
โรงเรียน บัวใหญ่ ปีที่พิมพ์ 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) เพื่อพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์
โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) ร่วมกับแบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลัง สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) เพื่อพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนคณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) ร่วมกับแบบฝึกทักษะ
ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 2 ให้มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 และจำนวนนักเรียนไม่น้อยกว่า
ร้อยละ 80 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป 3) เพื่อศึกษากระบวนการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลัง โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) ร่วมกับแบบฝึกทักษะ และ 4) เพื่อศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อ
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) ร่วมกับแบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษา
ปีที่ 2
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/5 ที่เรียนวิชาคณิตศาสตร์ 3 รหัสวิชา ค22101 ในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2561 โรงเรียนบัวใหญ่
อำเภอบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา จำนวน 40 คน
ซึ่งได้มาจากการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการทดลองปฏิบัติการ ได้แก่ แผนการจัดการเรียนรู้ เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลัง สำหรับนักเรียน
ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) ร่วมกับแบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ จำนวน 12 แผน 12 ชั่วโมง 2) เครื่องมือที่ใช้ในการสะท้อนผลการปฏิบัติการ ได้แก่ แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมการสอนของผู้วิจัย แบบบันทึกการสังเกตพฤติกรรมของนักเรียน แบบบันทึกผลหลังการใช้แผนการจัดการเรียนรู้ 3) เครื่องมือที่ใช้
ในการประเมินประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้แก่ แบบทดสอบย่อยท้ายวงจรปฏิบัติการ แบบปรนัยชนิด 4 ตัวเลือก วงจรละ 10 ข้อ และแบบอัตนัย เพื่อวัดทักษะ
การแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ จำนวน 2 ข้อ แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ แบบปรนัยชนิด 4 ตัวเลือก แบบอัตนัยเพื่อวัดทักษะการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ จำนวน 2 ข้อ
รูปแบบวิจัยเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการมีวงจรปฏิบัติการ 3 วงจร สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าร้อยละและสรุปความเรียง
ผลการวิจัย พบว่า
1. การพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลัง
สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) ร่วมกับแบบฝึกทักษะ
ที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เป็นรูปแบบการสอนที่มีประสิทธิภาพ กระบวนการ
จัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ สร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง ได้เรียนรู้กระบวนการควบคู่ไปกับการปฏิบัติ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและใช้กระบวนการแก้ปัญหาของโพลยา 4 ขั้นตอน ในการแก้สถานการณ์ปัญหา ซึ่งมีขั้นตอน
ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 7 ขั้นตอน ดังนี้ 1. ขั้นทบทวนความรู้เดิม เป็นขั้นตอนการดึงความรู้เดิมของนักเรียน เพื่อใช้ในการเชื่อมโยงกับความรู้ใหม่ โดยครูอาจใช้วิธีการที่หลากหลายในการจัดกิจกรรม และเป็นการกระตุ้นให้นักเรียนฝึกคิด ตื่นตัวและพร้อมที่จะเรียนรู้ ซึ่งมีกิจกรรมที่แตกต่าง หลากหลายในแต่ละแผนการจัดการเรียนรู้ เช่น การสนทนา การซักถาม กระตุ้นความคิด การนำเสนองาน หรือการออกมาแสดงวิธีทำโจทย์หน้ากระดาน นักเรียนทั้งชั้นให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี เนื่องจากผู้วิจัยมีของรางวัลให้กับผู้ที่ออกมานำเสนอหน้าชั้น 2. ขั้นแสวงหาความรู้ใหม่ เป็นขั้นตอนนี้นักเรียนจะแสวงหาข้อมูลความรู้ใหม่จากแบบฝึกทักษะ แหล่งข้อมูลอื่น ๆ หรือแหล่งความรู้ต่าง ๆ ที่ครูจัดเตรียมไว้ให้นักเรียน หรือครูแนะนำแหล่งข้อมูลความรู้เพื่อให้นักเรียนได้ไปแสวงหา
ด้วยตนเอง นักเรียนทุกกลุ่มร่วมกันศึกษาความรู้ใหม่และทำความเข้าใจร่วมกันเป็นอย่างดี เด็กเก่งอธิบายให้เด็กอ่อนฟัง 3. ขั้นศึกษาและสร้างความเข้าใจข้อมูลและเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม
เป็นขั้นตอนนี้นักเรียนจะต้องทำความเข้าใจกับข้อมูลความรู้ใหม่ที่หามาได้โดยอาศัยการเชื่อมโยง
กับความรู้เดิม และใช้กระบวนการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ของโพลยาในการแก้สถานการณ์ปัญหา ซึ่งมี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นทำความเข้าใจปัญหา ขั้นการวางแผนแก้ปัญหา ขั้นดำเนินการตามแผน
และขั้นตรวจสอบ สรุป อภิปรายผล ลงในแบบฝึกทักษะที่ผู้วิจัยแจกให้ นักเรียนส่วนใหญ่สามารถทำแบบฝึกทักษะได้อย่างถูกต้อง มีเพียงนักเรียนบางคนเท่านั้นที่ยังไม่สามารถทำแบบฝึกทักษะได้ถูกต้อง 4. ขั้นการแลกเปลี่ยนความรู้เข้ากับกลุ่ม เป็นขั้นตอนที่นักเรียนจะอาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจที่นักเรียนสร้างขึ้น ได้แลกเปลี่ยนความรู้ความคิดของตนเอง รวมทั้งนักเรียนจะได้ขยายความรู้ ความเข้าใจของตนให้กว้างขึ้น และใช้กระบวนการแก้ปัญหา
คณิตศาสตร์ของโพลยาในการแก้สถานการณ์ปัญหา ซึ่งมี 4 ขั้นตอน คือ ขั้นทำความเข้าใจปัญหา
ขั้นการวางแผนแก้ปัญหา ขั้นดำเนินการตามแผน และขั้นตรวจสอบ สรุป อภิปรายผล สมาชิก
ในกลุ่มได้ใช้การบวนการคิดและกระบวนการกลุ่มในการอภิปรายและสรุปความเข้าใจเกี่ยวกับ
การแก้ปัญหานั้น ๆ นักเรียนทุกกลุ่มสามารถปฏิบัติกิจกรรมกลุ่มได้เป็นอย่างดี สมาชิกในกลุ่ม
ส่วนใหญ่รู้จักบทบาทหน้าที่ของตนเอง ในขั้นนี้นักเรียนอาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือในการตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของตนเอง รวมทั้งขยายความรู้ความเข้าใจของตนเองให้กว้างขึ้น ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนได้แบ่งปันความรู้ ความเข้าใจของตนเองแก่ผู้อื่น และได้รับประโยชน์จากความรู้ ความเข้าใจของผู้อื่นไปพร้อม ๆ กัน 5. ขั้นสรุปและจัดระเบียบความรู้ เป็นขั้นตอนนี้นักเรียนจะจัดระเบียบความรู้ที่ได้รับทั้งหมด ทั้งที่ความรู้เดิมและความรู้ใหม่ จัดสิ่งที่เรียนให้เป็นระบบระเบียบ
เพื่อช่วยให้ผู้เรียนจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ง่าย รวมทั้งวิเคราะห์กระบวนการเรียนรู้ทั้งหมดที่เกิดขึ้น พบว่านักเรียนส่วนใหญ่สามารถอภิปราย แสดงความคิดเห็น ร่วมกันสรุปเป็นความรู้ที่ได้รับได้อย่างถูกต้องและกระชับ 6. ขั้นแสดงผลงาน เป็นขั้นตอนที่นักเรียนแต่ละกลุ่มจะได้แสดงผลงานจากการทำ
แบบฝึกทักษะที่ได้ทำมา โดยการนำเสนอหน้าชั้นเรียนหรือนำเสนอบนป้ายนิเทศหน้าชั้นเรียน เพื่อให้ผู้อื่นรับรู้และช่วยส่งเสริมให้นักเรียนได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์
7. ขั้นประยุกต์ใช้ความรู้ เป็นขั้นตอนที่จะส่งเสริมให้นักเรียนได้นำความรู้ ความเข้าใจของตนไปประยุกต์ใช้ ฝึกฝน เช่น การไปศึกษาหาโจทย์ที่เกี่ยวกับเนื้อหาที่เรียน พร้อมกับหาคำตอบมาส่งผู้วิจัยซึ่งต้องทำนอกเวลา หรือผู้วิจัยมอบหมายเป็นการบ้าน ซึ่งนักเรียนส่วนใหญ่สามารถทำได้ถูกต้องมากกว่าร้อยละ 80 ผลคะแนนจากการทดสอบย่อยท้ายวงจรปฏิบัติการที่ 1, 2 และ 3
คิดเป็นร้อยละ 79.75, 81.75 และ 82.25 ตามลำดับ ซึ่งจะเห็นว่าคะแนนมีการพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนสามารถผ่านเกณฑ์ที่ผู้วิจัยกำหนด และในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในครั้งนี้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาผ่านรูปแบบการสอนแบบซิปปา (CIPPA Model) ร่วมกับแบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ ทำให้ผู้เรียนสร้างความรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้ด้วยตนเองและพึ่งตนเองแล้วยังต้องมีการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน ๆ และสิ่งแวดล้อมรอบตัว รวมทั้งต้องอาศัยทักษะกระบวนการต่าง ๆ จำนวนมากเป็นเครื่องมือในการสร้างความรู้ โดยให้นักเรียนมีความพร้อมในการรับรู้และเรียนรู้อย่างตื่นตัว นักเรียนได้มีการเคลื่อนไหวทางร่างกายอย่างเหมาะสมและจะทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี เข้าใจลึกซึ้งและคงทนมากขึ้น หากนักเรียนมีโอกาสนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์
ที่หลากหลาย
2. การพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาคณิตศาสตร์ โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) ร่วมกับแบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลัง ของนักเรียนนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเฉลี่ยร้อยละ 81.58 และจำนวนนักเรียนร้อยละ 82.50 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป
3. การศึกษากระบวนการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลัง โดยใช้รูปแบบซิปปาร่วมกับแบบฝึกทักษะ โดยใช้แบบทดสอบย่อย
ท้ายวงจรปฏิบัติการ แบบอัตนัย วงจรละ 2 ข้อ และแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ แบบอัตนัย 2 ข้อ พบว่า ผลคะแนนจากการทดสอบย่อยท้ายวงจรปฏิบัติการที่ 1, 2 และ 3 คิดเป็นร้อยละ 79.50, 82.25 และ 82.75 ตามลำดับ และมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนด้านทักษะกระบวนการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์เฉลี่ยร้อยละ 82.00 และจำนวนนักเรียนร้อยละ 82.50 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนตั้งแต่ร้อยละ 80 ขึ้นไป
4. ผลการศึกษาความพึงพอใจของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์
โดยใช้รูปแบบซิปปา (CIPPA Model) ร่วมกับแบบฝึกทักษะที่เน้นกระบวนการแก้ปัญหาคณิตศาสตร์ เรื่อง สมบัติของเลขยกกำลัง ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 อยู่ในระดับมากที่สุด (x̄=4.68 )