บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) พัฒนาแผนการจัดประสบการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ตามแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน ของชั้นอนุบาลปีที่ 1 (3 ปี) ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 75/75 2) ศึกษาระดับความพร้อมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 (3 ปี) เมื่อได้รับการจัดประสบการณ์ และ 3) เปรียบเทียบความพร้อมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 (3 ปี) ก่อนและหลังได้รับการจัดประสบการณ์ กลุ่มเป้าหมายที่ใช้ในการวิจัย เป็นเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 (3 ปี) ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านนาขาม สังกัดงานการศึกษา ศาสนา วัฒนธรรม กีฬาและนันทนาการ องค์การบริหารส่วนตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง จังหวัดสกลนคร จำนวน 12 คน ได้มาจากการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แผนการจัดประสบการณ์ กิจกรรมเสริมประสบการณ์ ชั้นอนุบาลปีที่ 1 (3 ปี) จำนวน 8 หน่วยการเรียนรู้
จำนวน 32 แผน และ 2) แบบประเมินวัดความพร้อมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ จำนวน 20 ข้อ ประกอบด้วย 1) ด้านการรู้ค่าจำนวน 5 ข้อ 2) ด้านการเปรียบเทียบ จำนวน 5 ข้อ 3) ด้านการบอกตำแหน่ง จำนวน 5 ข้อ และ 4) ด้านรูปทรง จำนวน 5 ข้อ สถิติที่ใช้ ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ( ) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) และใช้สถิติ The Wilcoxon Matched Pairs Signed-Ranks Test
ผลการวิจัย พบว่า
1. แผนการจัดประสบการณ์เพื่อเตรียมความพร้อมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ ตามแนวคิดการเรียนรู้ โดยใช้สมองเป็นฐาน ของชั้นอนุบาลปีที่ 1 (3 ปี) ที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพเท่ากับ 81.16/82.50 โดยค่าประสิทธิภาพของกระบวนการ (E1) เท่ากับ 81.16 และค่าประสิทธิภาพของผลลัพธ์ (E2) เท่ากับ 82.50 ตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้
2. ระดับความพร้อมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 (3 ปี) หลังการได้รับการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน โดยรวมอยู่ในระดับดี เป็นไปตามสมมติฐานที่ตั้งไว้ โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 16.50 เมื่อพิจารณาจำแนกรายทักษะ พบว่า ความพร้อมทางคณิตศาสตร์ ด้านการรู้ค่าจำนวน ด้านการเปรียบเทียบ ด้านการบอกตำแหน่ง และด้านรูปทรง อยู่ในระดับดี โดยมีคะแนนเฉลี่ยเท่ากับ 4.67, 4.33, 3.83 และ 3.67 ตามลำดับ
3. ความพร้อมทักษะพื้นฐานทางคณิตศาสตร์ของเด็กชั้นอนุบาลปีที่ 1 (3 ปี)
หลังได้รับการจัดประสบการณ์ตามแนวคิดการเรียนรู้โดยใช้สมองเป็นฐาน สูงกว่าก่อนเรียน
อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01