ชื่อเรื่อง : การพัฒนาความสามารถด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยแบบฝึกทักษะ ประกอบกิจกรรมเทคนิค STAD กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6
ผู้รายงาน : นางวรัญญา ยุ้งทอง
ปีที่ศึกษา : 2561
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาข้อมูลพื้นฐาน สภาพปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ วิชาภาษาไทย ของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 2) พัฒนาและหาประสิทธิภาพของการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยแบบฝึกทักษะ ประกอบการจัดกิจกรรมเทคนิค STAD 3) ทดลองจัดการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาความสามารถด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยแบบฝึกทักษะ ประกอบการจัดกิจกรรมเทคนิค STAD 4) ประเมินและปรับปรุงกระบวนการพัฒนาความสามารถด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยแบบฝึกทักษะ ประกอบการจัดกิจกรรมเทคนิค STAD การวิจัยครั้งนี้ใช้กระบวนการวิจัยแบบ R&D รวม 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 การศึกษาข้อมูลพื้นฐานและสภาพปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนรู้ด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ระยะที่ 2 การพัฒนาและหาประสิทธิภาพ ระยะที่ 3 ทดลองใช้ และ 4) ประเมินและปรับปรุงแก้ไข การจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ กลุ่มเป้าหมาย เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนมัธยมดงยาง อำเภอนาดูน สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดมหาสารคาม ในปีการศึกษา 2561 จำนวน 20 คน เครื่องมือ ได้แก่ 1) แบบสอบถาม 2) แบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ 3) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 15 แผน 5) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ จำนวน 50 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบสมมุติฐานด้วย t-test (Dependent Sample) ผลการวิจัยปรากฏ ดังนี้
1. ผลการศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการในการจัดการเรียนรู้ ด้านการอ่านภาษาไทย ที่เชื่อมโยงการพัฒนาความสามารถการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ พบว่า ครูส่วนมากยังขาดการสนับสนุนให้ผู้เรียนใช้ศักยภาพในการอ่านอย่างมีวิจารณญาณเท่าที่ควร โดยเฉพาะวิธีการคิดออกแบบเนื้อหาและเลือกใช้ข้อความในการอ่านที่มีเหตุผลหรือข้อโต้แย้ง เพื่อชักจูงโน้มน้าวให้ผู้อ่านคิดด้วยการไตร่ตรองและยอมรับเพื่อนำไปปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ผู้สอนเห็นว่าการอ่านอย่างมีวิจารณญาณเป็นสิ่งจำเป็นที่ควรนำมาพิจารณาดำเนินการจัดการเรียนรู้ให้เกิดประโยชน์ด้านการคิดไตร่ตรอง อีกทั้งนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ส่วนมากยังมีความสามารถพื้นฐานการอ่านอย่างมีวิจารณญาณในระดับพอใช้ และต้องการพัฒนาให้มีความสามารถด้านดังกล่าวเพิ่มขึ้นอีก โดยให้มีการพัฒนาแบบฝึกที่มีกิจกรรมหลากหลาย รูปเล่มมีภาพประกอบที่มีสีสันสวยงาม ภาษาที่ใช้เข้าใจง่าย สอดแทรกกิจกรรมที่หลากหลาย เนื้อหาของแต่ละแบบฝึกมีการเชื่อมโยงกัน ในแบบฝึกกิจกรรมตัวอักษรมีความชัดเจน สำนวนภาษา เนื้อหาที่เหมาะสมกับวัยและความสามารถของผู้เรียน ควรฝึกจากง่ายไปหายาก และเน้นการฝึกเป็นกลุ่ม
2. ผลการพัฒนาและหาประสิทธิภาพของการพัฒนาทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ วิชาภาษาไทย โดยใช้แบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยเทคนิค STAD พบว่า แบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ประกอบด้วย การอ่านนิทาน เพลง บทร้อยกรอง โฆษณา ข่าว พระบรมราโชวาท และบทความ ซึ่งแบบฝึกทักษะแต่ละชุด มีองค์ประกอบดังนี้ คือ คำนำ คำชี้แจง วัตถุประสงค์ ใบความรู้ แบบฝึกทักษะ และแบบทดสอบก่อนและหลังเรียน แบบฝึกทักษะมี 10 ชุด และแบบฝึกทักษะที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพ 85.80/82.50
3. ผลการทดลองพัฒนาทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ พบว่า 1) นักเรียนที่ได้รับการพัฒนาทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ มีความสามารถด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ค่าดัชนีประสิทธิผลของนักเรียนที่ได้การพัฒนาทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ มีค่าดัชนีประสิทธิผลเท่ากับ 0.6770 แสดงว่า นักเรียนมีความสามารถด้านการอ่านอย่างมีวิจารณญาณเพิ่มขึ้น 0.6770 หรือคิดเป็นร้อยละ 67.70 และนักเรียนมีความพึงพอใจต่อการพัฒนาทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ อยู่ในระดับมากที่สุด โดยนักเรียนมีความเห็นว่าแบบฝึกมีเนื้อหาน่าสนใจ เข้าใจง่าย มีการ์ตูนและภาพประกอบสวยงาม มีการเรียงลำดับขั้นตอนจากง่ายไปยากทำให้นักเรียนสามารถอ่าน และเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น
4. ผลการประเมินและปรับปรุง จากการสอบถามความคิดเห็น ของนักเรียนที่มีต่อแบบฝึกทักษะการอ่านอย่างมีวิจารณญาณ ด้วยเทคนิค STAD สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 พบว่า
ภาพรวมนักเรียนมีความคิดเห็นต่อแบบฝึกอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า ทุกด้านมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมากที่สุดทุกด้าน โดยเรียงวลำดับจากมากไปหาน้อย 3 อันดับ ได้แก่ ด้านบรรยากาศ ด้านประโยชน์ และด้านลักษณะของแบบฝึก