การวิจัยในครั้งนี้ ใช้วิธีการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ร่วมกับหลักการ แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ (Instructional Models of Cooperative Learning) เทคนิค STAD (Student Teams and Achievement Divisions : STAD) เทคนิค LT (Learning Together) และ เทคนิค NHT (Numbered Heads Together) โดยมีแบบฝึกทักษะภาษาไทย เรื่อง อักษรไทยฝึกใช้ให้คล่อง เป็นสื่อในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน โดยมีนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โรงเรียนเทศบาล ศรีกิตติวรรณนุสรณ์ ที่กำลังเรียนอยู่ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 เป็นหน่วยการวิเคราะห์ มีวัตถุประสงค์ คือ (1) เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ ร่วมกับแบบฝึกทักษะภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง อักษรไทยฝึกใช้ให้คล่อง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (2) เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ ร่วมกับแบบฝึกทักษะภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง อักษรไทยฝึกใช้ให้คล่อง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (3) เพื่อทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ โดยมีวัตถุประสงค์ย่อย คือ (3.1) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ระหว่างก่อนและหลังเรียน จากการเรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ ร่วมกับแบบฝึกทักษะภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง อักษรไทยฝึกใช้ให้คล่อง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 (3.2) เพื่อเปรียบเทียบทักษะการอ่านและการเขียน ระหว่างก่อนและหลังเรียน จากการเรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ ร่วมกับแบบฝึกทักษะภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง อักษรไทยฝึกใช้ให้คล่อง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และ (4) เพื่อประเมินรูปแบบการเรียนรู้ โดยศึกษาความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ ร่วมกับแบบฝึกทักษะภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง อักษรไทยฝึกใช้ให้คล่อง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการทดลอง คือ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1/2 โรงเรียนเทศบาล 1 ศรีกิตติวรรณนุสรณ์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 30 คน ซึ่งได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ คือ (1) แบบบันทึกการประชุมกลุ่มย่อย (Focus groups) (2) แบบสัมภาษณ์เชิงลึก (3) แบบบันทึกการประชุมแบบมีส่วนร่วม และ (4) แบบประเมินร่างรูปแบบการเรียนรู้ และเครื่องมือในการทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้ คือ (1) แผนการจัดการเรียนรู้ จำนวน 20 แผนการจัดการเรียนรู้ มีค่าเฉลี่ยการประเมินคุณภาพ เท่ากับ 4.52 (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งเป็นแบบปรนัยเลือกตอบ ชนิด 3 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ ซึ่งมีค่าความยากง่าย ระหว่าง 0.20-0.80 มีค่าอำนาจจำแนก 0.20 ขึ้นไป และมีค่าความเชื่อมั่นที่ 0.7209 (3) แบบทดสอบวัดทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย เป็นแบบปรนัยเลือกตอบ ชนิด 3 ตัวเลือก จำนวน 30 ข้อ มีค่าเฉลี่ยการประเมินคุณภาพ เท่ากับ 4.44 และ (4) แบบสอบถามความพึงพอใจ ซึ่งเป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 1 ฉบับ 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบสมมติฐานใช้ t-test (Pair)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐานการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ ร่วมกับแบบฝึกทักษะภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง อักษรไทยฝึกใช้ให้คล่อง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่เกี่ยวกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และการพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียนภาษาไทย โดยใช้แบบประเมินค่าดัชนีความสอดคล้องของแบบบันทึกการประชุมกลุ่มย่อย (Focus Group) และแบบสัมภาษณ์เชิงลึก จากผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน พบว่า มีความสอดคล้อง โดยมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ 1.00 ทุกรายการ และพบว่า ควรมีการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ ร่วมกับแบบฝึกทักษะภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง อักษรไทยฝึกใช้ให้คล่อง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1
2. ผลการพัฒนารูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ ร่วมกับแบบฝึกทักษะภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง อักษรไทยฝึกใช้ให้คล่อง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1 พบว่า ร่างรูปแบบการเรียนรู้ ตามความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ พบว่า ได้รูปแบบการเรียนรู้ ควรมีองค์ประกอบ 5 ด้าน ได้แก่ หลักการแนวคิดทฤษฎี หลักการจัดการเรียนรู้ กระบวนการเรียนรู้ สิ่งสนับสนุนการเรียนรู้ และการประเมินผล ซึ่งผลการประเมินรูปแบบการเรียนรู้ ตามความคิดเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ มีความเหมาะสมมากที่สุด มีค่าเฉลี่ย 4.60
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ ร่วมกับแบบฝึกทักษะภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง อักษรไทยฝึกใช้ให้คล่อง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปีที่ 1 ซึ่งมีประสิทธิภาพที่ 84.00/86.33 และมีค่าดัชนีประสิทธิผล เท่ากับ 0.73 หรือคิดเป็นร้อยละ 73.00 พบว่า
3.1 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนกลุ่มตัวอย่าง ที่เรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ ร่วมกับแบบฝึกทักษะภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง อักษรไทยฝึกใช้ให้คล่อง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
3.2 ทักษะการอ่านและการเขียน ที่เรียนโดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ ร่วมกับแบบฝึกทักษะภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง อักษรไทยฝึกใช้ให้คล่อง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
4. ผลการประเมินรูปแบบการเรียนรู้ พบว่า นักเรียนกลุ่มตัวอย่างมีความพึงพอใจต่อการเรียนรู้ โดยใช้รูปแบบการเรียนรู้แบบกลุ่มร่วมมือ ร่วมกับแบบฝึกทักษะภาษาไทย เพื่อพัฒนาทักษะการอ่านและการเขียน เรื่อง อักษรไทยฝึกใช้ให้คล่อง สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยภาพรวมอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย 4.45