ชื่อวิจัย: การพัฒนาการจัดประสบการณ์แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค LT ร่วมกับหนังสือภาพประกอบ
คำคล้องจองเพื่อส่งเสริมทักษะทางสังคม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2
ผู้วิจัย: นางสาวธิราภรณ์ ทับทุ่ง ตำแหน่ง ครู วิทยฐานะ ครูชำนาญการ
โรงเรียน: โรงเรียนอนุบาลปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองปากพูน
ปีการศึกษา: 2562
บทคัดย่อ
การจัดประสบการณ์ในระดับชั้นอนุบาลเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนานักเรียน ซึ่งในการวิจัยครั้งนี้มีความมุ่งหมายของการพัฒนาเพื่อ 1) พัฒนาการจัดประสบการณ์แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค LT ร่วมกับหนังสือภาพประกอบคำคล้องจองเพื่อส่งเสริมทักษะทางสังคม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 และ 2) เปรียบเทียบทักษะทางสังคมของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ก่อนและหลังจัดประสบการณ์ด้วยการจัดประสบการณ์แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค LT ร่วมกับหนังสือภาพ ประกอบคำคล้องจอง กลุ่มเป้าหมาย คือ นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 17 คน โดยใช้วิธีการเลือกแบบเจาะจง (Purposive Samplin) ซึ่งผู้วิจัยเป็นครูประจำชั้น เครื่องมือที่ใช้ในการพัฒนา ได้แก่ 1)แผนการจัดประสบการณ์แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค LT ร่วมกับหนังสือภาพประกอบคำคล้องจองเพื่อส่งเสริมทักษะทางสังคม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 7 หน่วย 2)หนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง เพื่อส่งเสริมทักษะทางสังคม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 จำนวน 7 เล่ม 3)แบบประเมินทักษะทางสังคม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ชนิดรูปภาพ 3 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ มีค่าความยากง่ายตั้งแต่ 0.27 ถึง 0.71 ค่าอำนาจจำแนกตั้งแต่ 0.32 ถึง 0.79 และมีค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.663 สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าประสิทธิภาพ และการทดสอบค่าที (t-test Dependent Samples)
ปรากฏผลการพัฒนาดังนี้
1. ประสิทธิภาพการจัดประสบการณ์แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค LT ร่วมกับหนังสือภาพ ประกอบคำคล้องจองเพื่อส่งเสริมทักษะทางสังคม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 เท่ากับ 85.38/83.53
2. ทักษะทางสังคมของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลปากพูน หลังการจัดประสบการณ์ (x̄=16.71,S.D=1.36) สูงกว่าก่อนการจัดประสบการณ์ (x̄=7.29,S.D=1.76) ด้วยการจัดประสบการณ์แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค LT ร่วมกับหนังสือภาพประกอบคำคล้องจอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
สรุปได้ว่า การพัฒนาการจัดประสบการณ์แบบกลุ่มร่วมมือเทคนิค LT ร่วมกับหนังสือภาพ ประกอบคำคล้องจองเพื่อส่งเสริมทักษะทางสังคม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 ที่ผู้วิจัยพัฒนาขึ้น ช่วยให้นักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลปากพูน อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เกิดทักษะทางสังคมและส่งผลต่อพัฒนาการทางด้านอื่น ๆ เพิ่มขึ้นตามลำดับต่อไป