ชื่อเรื่อง ผลการจัดกิจกรรมบูรณาการตามแนวคิด ไฮ สโคป เพื่อพัฒนาทักษะการสังเกต
สำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 2-3 ปี
ผู้วิจัย สุมาลี ศรีวันทนาสกุล
ปีที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาการพัฒนาทักษะการสังเกตของเด็กปฐมวัย อายุ 2-3 ปี ที่ได้รับการจัดกิจกรรมบูรณาการตามแนวคิด ไฮ สโคป ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมบูรณาการตามแนวคิด ไฮ สโคป และเพื่อเปรียบเทียบทักษะการสังเกตของเด็กปฐมวัย อายุ 2-3 ปี ก่อนและหลังการจัดกิจกรรมบูรณาการตามแนวคิด ไฮ สโคป
การวิจัยครั้งนี้ เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง (Quasi Experimental Design) ซึ่งผู้วิจัยได้ใช้ กลุ่มทดลองกลุ่มเดียว มีการประเมินก่อนและหลังการทดลอง (One Group Pretest Posttest Design) กลุ่มเป้าหมายในการวิจัย คือ เด็กปฐมวัยชาย หญิง อายุระหว่าง 2-3 ปี ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอรุณรุ่ง สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคเรียนที่ 2
ปีการศึกษา 2562 จำนวน 15 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย แผนการจัดประสบการณ์บูรณาการตามแนวคิด ไฮ สโคป เพื่อพัฒนาทักษะการสังเกต สำหรับเด็กปฐมวัย อายุ 2-3 ปี จำนวน 40 แผน และแบบประเมินทักษะการสังเกต สำหรับเด็กปฐมวัยอายุ 2-3 ปี สำหรับใช้ประเมินก่อนและหลังการจัดกิจกรรม ที่ครอบคลุมพฤติกรรมด้านการใช้ประสาทสัมผัสทั้งห้า ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การรับกลิ่น การรับรส และการสัมผัสจับต้อง วิเคราะห์โดยการคำนวณหาค่าเฉลี่ย
ร้อยละ และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
ผลการวิจัยพบว่า
เด็กปฐมวัย อายุ 2-3 ปี ของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กอรุณรุ่ง ที่ได้รับการจัดกิจกรรมบูรณาการตามแนวคิด ไฮ สโคป มีคะแนนเฉลี่ยทักษะการสังเกตโดยรวมและแยกรายด้าน ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน การรับกลิ่น การรับรส และการสัมผัสจับต้อง หลังการทดลองสูงกว่าก่อนการทดลอง คิดเป็นร้อยละ 80.36