ชื่อเรื่อง การพัฒนากิจกรรมการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา
โรงเรียนเทศบาลศรีเมืองพลประชานุเคราะห์
ผู้วิจัย นางพรนภา แพทย์กุล
สถานศึกษา โรงเรียนเทศบาลศรีเมืองพลประชานุเคราะห์ สังกัดกองการศึกษา
เทศบาลเมืองเมืองพล อำเภอพล จังหวัดขอนแก่น
ปีที่พิมพ์ 2562
บทคัดย่อ
การอ่านทำให้บุคคลเกิดการเรียนรู้ การเรียนรู้ทำให้บุคคลสามารถพัฒนาตนเองได้ตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ บุคคลที่มีนิสัยรักการอ่าน มีความสามารถในการอ่าน และมีโอกาสได้อ่านหนังสือมาก ๆ จะทำให้เป็นผู้มีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกล สามารถปรับตัวอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขและมีความรู้ในเรื่องต่าง ๆ ได้ดี ดังนั้น การวิจัยครั้งนี้จึงมีความมุ่งหมาย 1) เพื่อศึกษาสภาพความต้องการในการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษากลุ่มเป้าหมาย จำนวน 287 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 3 คน ครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 6 จำนวน 27 คน นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 - 6 จำนวน 120 คน ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 6 จำนวน 120 คน และคณะกรรมการสถานศึกษา ขั้นพื้นฐาน จำนวน 14 คน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 2) เพื่อสร้างและพัฒนากิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา กลุ่มเป้าหมายคือ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาไทยและผู้เชี่ยวชาญด้านการวัดและประเมินผล จำนวน 5 คน โดยพิจารณาใน 4 ด้าน คือ ด้านความมีประโยชน์ ด้านความเป็นไปได้ ด้านความถูกต้อง และด้านความเหมาะสม การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน 3) เพื่อทดลองใช้กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านกับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา กลุ่มเป้าหมายคือ นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาที่สมัครเข้าร่วมชุมนุม รักการอ่าน จำนวน 120 คน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ 4) เพื่อประเมินประสิทธิผลของการใช้กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา กลุ่มเป้าหมาย จำนวน 150 คน ประกอบด้วย ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 3 คน ครูผู้สอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 6 จำนวน 27 คน นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 6 จำนวน 120 คน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการวิจัยพบว่า
1. การศึกษาสภาพความต้องการในการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ในภาพรวมกลุ่มเป้าหมายเห็นว่า สถานศึกษามีการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านในระดับปานกลาง กิจกรรมส่งเสริมการอ่านที่กลุ่มเป้าหมายต้องการให้สถานศึกษาจัดให้กับนักเรียน คือ กิจกรรมเล่านิทาน เชิดหุ่น หรือแสดงละคร กิจกรรมเกมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน กิจกรรมแข่งขันตอบปัญหาจากการอ่าน กิจกรรมบันทึกการอ่าน กิจกรรมแนะนำหนังสือที่หลากหลาย และใช้กิจกรรมกลุ่มเพื่อส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน
2. การสร้างและพัฒนากิจกรรมการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านสำหรับนักเรียนระดับ
ชั้นประถมศึกษา ผู้วิจัยนำข้อค้นพบจากการศึกษาสภาพความต้องการในการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัย
รักการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ในระยะที่ 1 มาพิจารณาร่วมกับการสังเคราะห์
กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านจากหน่วยงานทางการศึกษา และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน นำมาสร้างโครงร่างคู่มือการใช้กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ซึ่งประกอบด้วยส่วนต่าง ๆ คือ หลักการ เป้าหมาย วัตถุประสงค์ กิจกรรมแนวทางการดำเนินกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน ระยะเวลาในการจัดกิจกรรม สื่อ อุปกรณ์ และแหล่งเรียนรู้ การวัดและประเมินผลโครงสร้างกิจกรรม และแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน สำหรับกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านสำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา มี 7 กิจกรรม คือกิจกรรมปฐมนิเทศ กิจกรรมมารู้จักหนังสือกันเถอะ กิจกรรมอ่านเป็นจับประเด็นได้ กิจกรรมพี่เก่งชวนน้องอ่าน กิจกรรมนิทานสำราญใจ กิจกรรมการทายปัญหาจากหนังสือและกิจกรรมสารานุกรมพาชมโลกกว้าง ส่วนผลการตรวจสอบคุณภาพของโครงร่างกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาโดยผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 ท่าน พิจารณาในด้านความมีประโยชน์ด้านความเป็นไปได้ ด้านความถูกต้อง และด้านความเหมาะสมในภาพรวมมีคุณภาพอยู่ในระดับมากที่สุด
3. การทดลองใช้กิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา
พบว่า พฤติกรรมการอ่านของนักเรียนระหว่างการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่าน โดยรวม
นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านอยู่ในระดับสูง พฤติกรรมระหว่างร่วมกิจกรรมและผลงานนักเรียน
โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด และนิสัยรักการอ่านของนักเรียนโดยรวมนักเรียนมีนิสัยรักการอ่าน
อยู่ในระดับสูง
4. การประเมินประสิทธิผลของการใช้กิจกรรมการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านสำหรับ
นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา ด้านความเป็นประโยชน์ของกิจกรรม โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุดด้านความเหมาะสมของกิจกรรม โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด ส่วนผลการสอบถามความคิดเห็นของนักเรียนที่มีต่อการจัดกิจกรรมส่งเสริมนิสัยรักการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาโดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด
โดยสรุป การพัฒนากิจกรรมการส่งเสริมนิสัยรักการอ่านสำหรับนักเรียนระดับชั้น
ประถมศึกษา โรงเรียนเทศบาลศรีเมืองพลประชานุเคราะห์ บรรลุเป้าหมายของการส่งเสริมนิสัย
รักการอ่าน โดยนักเรียนชอบอ่านหนังสือและพัฒนาการทางการอ่านดีขึ้นมาก อย่างไรก็ตามควรดำเนินการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลูกฝังค่านิยมที่ดีงามในการส่งเสริมให้นักเรียนมีนิสัยรักการอ่านหนังสือ และการอ่านกว้างขึ้น สามารถแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง และนำความรู้ต่าง ๆ ที่ได้จากการอ่านหนังสือไปใช้ในชีวิตประจำวัน