ผู้วิจัย มณเทียร สุริยา
โรงเรียน พิศาลปุณณวิทยา ตำบลบ้านหว้า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น
สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
ปีที่วิจัย 2562
บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัจจุบัน และข้อมูลพื้นฐานในการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชางานประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 2) พัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชางานประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้รูปแบบกลุ่มร่วมมือ เทคนิค STAD ร่วมกับรูปแบบผังกราฟิก (Graphic Organizer Instructional Model) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 3) ทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชางานประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้รูปแบบกลุ่มร่วมมือ เทคนิค STAD ร่วมกับรูปแบบผังกราฟิก (Graphic Organizer Instructional Model) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 4) ประเมินและปรับปรุงรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชางานประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้รูปแบบกลุ่มร่วมมือ เทคนิค STAD ร่วมกับรูปแบบผังกราฟิก (Graphic Organizer Instructional Model) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2
ดำเนินการวิจัยโดยใช้ระเบียบวิธีการวิจัยและพัฒนา (Research and Development) ด้วยการวิจัยแบบผสมผสานวิธี (Mixed Methods Research) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2/1 โรงเรียนพิศาลปุณณวิทยา สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ที่เรียนภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 จำนวน 35 คน โดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย (1) แผนการจัดการเรียนรู้และชุดการเรียน กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชางานประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้รูปแบบกลุ่มร่วมมือ เทคนิค STAD ร่วมกับรูปแบบผังกราฟิก (Graphic Organizer Instructional Model) (2) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ซึ่งเป็นแบบปรนัยเลือกตอบ ชนิด 4 ตัวเลือก จำนวน 40 ข้อ (3) แบบทดสอบวัดความคิดสร้างสรรค์ จำนวน 20 ข้อ และ (4) แบบสอบถามความพึงพอใจ ซึ่งเป็นแบบสอบถาม ชนิดมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) 5 ระดับ จำนวน 1 ฉบับ 20 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิจัย คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติการทดสอบที (Paired Sample t-test)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาข้อมูลพื้นฐาน เพื่อการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชางานประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ด้วยวิธีการเชิงปริมาณพบว่า นโยบายของสถานศึกษา บรรยากาศขององค์กรนวัตกรรมและการใช้เทคโนโลยี และการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมการคิดสร้างสรรค์ มีการปฏิบัติอยู่ในระดับน้อย และมีความต้องการอยู่ในระดับมาก ส่วนสภาพที่เป็นปัญหา ได้แก่ ครูผู้สอนขาดความรู้ความเข้าใจ และขาดเทคนิควิธีการสอนที่ส่งเสริมการคิดสร้างสรค์
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชางานประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้รูปแบบกลุ่มร่วมมือ เทคนิค STAD ร่วมกับรูปแบบผังกราฟิก (Graphic Organizer Instructional Model) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 ได้ รูปแบบการจัดการเรียนรู้: แสตดโก (STAD GO Model) (Student Teams and Achievement Divisions Graphic Model: STAD GO) ซึ่งมีขั้นตอนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 7 ขั้นตอนดังนี้ 1) ขั้นการชี้แจงวัตถุประสงค์/ทบทวนความรู้เดิม 2) ขั้นการนำเสนอบทเรียนทั้งชั้น 3) ขั้นกิจกรรมกลุ่มเพื่อศึกษากลุ่มย่อยและนำเสนอเนื้อหาด้วยแผนภาพความคิด 4) ขั้นการทดสอบย่อย/การทำความเข้าใจให้กระจ่าง 5) ขั้นการให้คะแนนความก้าวหน้าของแต่ละคน 6) ขั้นการนำเสนอปัญหาโดยแผนภาพเป็นกรอบในการแก้ปัญหา และ 7) ขั้นการยกย่องทีมที่มีคุณภาพ
3. ผลการทดลองใช้รูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชางานประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้รูปแบบกลุ่มร่วมมือ เทคนิค STAD ร่วมกับรูปแบบผังกราฟิก (Graphic Organizer Instructional Model) สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โดยผู้เชี่ยวชาญ 5 คน พบว่ารูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชางานประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพ และผลการตรวจสอบประสิทธิภาพเชิงประจักษ์ของรูปแบบ โดยนำไปใช้กับกลุ่มตัวอย่าง พบว่า ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชางานประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ มีประสิทธิภาพ E1 / E2 = 83.23/82.92 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้คือ 80/80 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนก่อน และหลังเรียน พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ.01 และความคิดสร้างสรรค์ของนักเรียนก่อนเรียนและหลังเรียน พบว่าความคิดสร้างสรรค์หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ.01
4. ผลการวัดความพึงพอใจของนักเรียน ที่มีต่อการเรียนด้วยรูปแบบการจัดการเรียนรู้วิชางานประดิษฐ์ เพื่อส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ โดยใช้รูปแบบกลุ่มร่วมมือ เทคนิค STAD ร่วมกับรูปแบบผังกราฟิก (Graphic Organizer Instructional Model) พบว่า นักเรียนมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก โดยมีค่าเฉลี่ย 4.38