ชื่องานวิจัย แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียน
เทศบาลวัดกู่คำ จังหวัดเชียงใหม่
ผู้วิจัย ว่าที่ร้อยตรี ชสิทธิ์ภิวัฒน์ กันยายน
ปีที่พิมพ์ 2563
บทคัดย่อ
การวิจัยเรื่อง แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ด้วยกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นรูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research : PAR) ซึ่งประกอบด้วยการวิจัยเชิงปริมาณ(quantitative method) และการวิจัยเชิงคุณภาพ (qualitative method) โดยมีวัตถุประสงค์การวิจัย คือ 1)เพื่อศึกษาสภาพปัจจุบันของแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียน 2)เพื่อหาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียน 3)เพื่อนำแนวทางการพัฒนาการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายใน มาใช้เพื่อศึกษาการดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียน 4)เพื่อประเมินผล สร้างคู่มือจากการทดลองใช้รูปแบบกระบวนการนิเทศภายใน 5)เพื่อนำรูปแบบแนวทางการพัฒนาการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายใน ที่พัฒนาแล้วมาทำการทดลองซ้ำและ 6) เพื่อประเมินผลสร้างคู่มือมือที่ได้จากรูปแบบแนวทางการพัฒนาการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในที่พัฒนาแล้ว ซึ่งผู้วิจัยได้ดำเนินการตามขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนาแบ่งเป็น 6 ขั้นตอน ประกอบด้วย ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาสภาพปัจจุบันของแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายใน ของโรงเรียน (R1) ขั้นตอนที่ 2 หาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียน (D1) ขั้นตอนที่ 3 นำแนวทางการพัฒนาการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายใน มาใช้เพื่อศึกษาการดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียน (R2) ขั้นตอนที่ 4 ประเมินผล สร้างคู่มือจากการทดลองใช้รูปแบบกระบวนการนิเทศภายใน (D2) ขั้นตอนที่ 5นำรูปแบบแนวทางการพัฒนาการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในที่พัฒนาแล้วมาทำการทดลองซ้ำ (R3) และขั้นตอนที่ 6 ประเมินผล สร้างคู่มือมือที่ได้จากรูปแบบแนวทางการพัฒนาการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายใน ที่พัฒนาแล้ว (D3) ผู้ให้ข้อมูลที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ประกอบด้วย ครูผู้สอน บุคลากรทางการศึกษา จำนวน 13 คน ผู้ปกครองนักเรียน จำนวน 149 คน เครือข่ายผู้ปกครอง จำนวน 9 คน คณะกรรมการสถานศึกษา จำนวน 9 คน ของโรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ ปีการศึกษา 2561-2562 เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลการวิจัย ประกอบด้วย แบบสังเกต แบบสัมภาษณ์ แบบสอบถามความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ จังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลแบบผสานวิธี(mixed methods) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและข้อมูลเชิงคุณภาพ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลประกอบด้วย การวิเคราะห์เนื้อหา(content analysis) ค่าเฉลี่ย(mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (standard deviations) และนำเสนอผลโดยพรรณนาความ
สรุปผลการวิจัย
แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ จังหวัดเชียงใหม่ สรุปผลได้ดังนี้
1.ผลการศึกษาสภาพปัจจุบันของแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียน (R1)
จากการศึกษาค้นคว้าเอกสาร สังเกต สัมภาษณ์ สอบถามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับข้อมูลพื้นฐาน สภาพปัจจุบัน สภาพปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียนในช่วงระยะเวลาผ่านมา พบว่าสภาพปัญหาและข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียนในภาพรวมนั้นยังต้องการปรับปรุงและพัฒนาให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยังไม่เป็นที่น่าพึงพอใจในระดับที่ยอมรับได้ คุณภาพผู้เรียนยังไม่อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สภาพการจัดการเรียนรู้ของโรงเรียนไม่เอื้ออำนวยต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ครูไม่มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะกระบวนการจัดการเรียนรู้ วิธีสอน การวัดและประเมินผลการเรียนรู้ พฤติกรรมการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ จึงจำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนด้วยการนิเทศภายใน
2. ผลการหาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียน (D1)
ผลการหาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายใน จากการสังเกต สัมภาษณ์ สอบถามและสนทนากลุ่ม( Focus Group) ผู้เกี่ยวข้องกับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียนพบว่า
2.1 สภาพปัจจุบันของการปฏิบัติงานตามกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ การสำรวจความต้องการจำเป็นของโรงเรียน การวางแผนการนิเทศ การดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียน การประเมินผลการนิเทศ และการปรับปรุงแก้ไข
2.2 ความต้องการในการนิเทศภายในของครูผู้สอนโรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ จังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย 5 ด้าน ได้แก่ ด้านการนิเทศ ด้านหลักสูตร ด้านการจัดการเรียนการสอน ด้านสื่อการเรียนการสอน และด้านการวัดผลประเมินผล
2.3 แนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในจากผลการวิเคราะห์ข้อมูลสภาพปัจจุบัน ปัญหาในการปฏิบัติงานตามกระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน รวมถึงการนำผลการสรุปแนวคิด สนทนากับผู้เชี่ยวชาญ เกี่ยวกับแนวทางการพัฒนาการปฏิบัติงานตามกระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน เพื่อกำหนดทิศทางในการพัฒนาปฏิบัติงานตามกระบวนการนิเทศภายในโรงเรียน นั้นควรประกอบด้วย
ขั้นที่ 1 การกำหนดผู้รับผิดชอบและภารกิจการนิเทศและการจัดระบบข้อมูลและสารสนเทศ
ขั้นที่ 2 การวางแผนการนิเทศ
ขั้นที่ 3 ดำเนินการนิเทศภายใน
ขั้นที่ 4 การประเมินผลการนิเทศและการรายงานผล
ขั้นที่ 5 การปรับปรุงแก้ไข
3. ผลการนำแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายใน มาใช้เพื่อศึกษาการดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียน (R2)
3.1 ผลการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ จากการนำแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายใน มาใช้เพื่อศึกษาการดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียน ทำให้ครูมีความรู้ ความสามารถ ในการพัฒนาตนเองให้เป็นครูที่มีคุณลักษณะที่ดี เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะในการปฏิบัติงาน จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถสรุปผลที่เกิดขึ้นได้ดังนี้
3.1.1 ด้านการจัดการเรียนการสอน
ครูมีความรู้ดี มีความสามารถในการสอนดี จากการพัฒนาตนเองอยู่เสมอทำให้ครูเป็นผู้มีความรอบรู้และมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน ด้วยความเอาใจใส่มุ่งมั่นรับผิดชอบต่องานและการจัดการเรียนการสอน
1) ครูมีการพัฒนาแผนการสอนอยู่เสมอ เพื่อจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับชีวิตธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับความสนใจของนักเรียนและความต้องการของชุมชนท้องถิ่นทำให้ครูมีแผนการสอนที่เหมาะสมและสนองตอบต่อจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
2) ครูมีความสามารถในการผลิต จัดหา พัฒนาสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน โดยเน้นที่สื่อ เครื่องมือที่นักเรียนเป็นผู้ใช้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียน เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนและเพื่อแสวงหาความรู้
3.1.2 ด้านทางสังคม
1) เป็นผู้มีความสุภาพเรียบร้อย มีมนุษยสัมพันธ์ กับเพื่อนร่วมงานและบุคคลทั่วไป
2) ครูเป็นผู้มีความรับผิดชอบ เสียสละ อุทิศเวลาให้กับงานและโรงเรียน
3) รักษาความสามัคคีของหมู่คณะ ทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจ มีความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมกันทำงานไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มีความกลมเกลียวช่วยเหลือซึ่งกันและกันและมีความเห็นอกเห็นใจกัน
3.1.3 ด้านส่วนตัวของครู
1) เป็นผู้ใฝ่รู้ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม มาพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ตั้งใจทำงานรักเด็กเอาใจใส่และรับผิดชอบต่อการเรียนการสอน อุทิศเวลาทำงานเต็มความสามารถ
2) ได้รับความก้าวหน้า เลื่อนวิทยฐานะในมาตรฐานและวิชาชีพของครู
3.2 ความพึงพอใจของครูผู้สอนต่อรูปแบบกิจกรรมการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ ปีการศึกษา 2562 พบว่า โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก จำนวน 5 ข้อ อยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 11 ข้อโดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก ได้แก่ การเยี่ยมนิเทศชั้นเรียน การสังเกตการจัดการเรียนรู้การสาธิตการจัดการเรียนรู้ ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การระดมความคิด
4. ผลการประเมินผลและพัฒนาแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียน (D2)
1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนทั้ง 6 ระดับชั้นโดยภาพรวม คะแนนเฉลี่ย ลดลง เมื่อพิจารณาเป็นรายกลุ่มสาระการเรียนรู้ พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเพิ่มขึ้น 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ คณิตศาสตร์ สังคมศึกษาฯ สุขศึกษาฯ และการงานอาชีพฯ และภาษาต่างประเทศ และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนลดลง 3 กลุ่มสาระการเรียนรู้ คือ ภาษาไทย วิทยาศาสตร์และศิลปะ
2. คะแนนคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนเมื่อพิจารณาตามเกณฑ์โดยรวมเพิ่มขึ้น เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ มาตรฐาน อยู่ในระดับ ดีมาก เมื่อสิ้นสุดการพัฒนาคุณภาพการศึกษา การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียน พบว่า ด้านผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ค่าเฉลี่ยรวมลดลง แต่คะแนนเฉลี่ยบางกลุ่มสาระการเรียนรู้เพิ่มขึ้น และด้านคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของนักเรียนเพิ่มขึ้น
3. ความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีต่อการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ จังหวัดเชียงใหม่ จำแนกตามรายด้าน พบว่าโดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อยได้แก่ ด้านการประเมินผลการนิเทศและการรายงานผล ด้านการดำเนินการนิเทศภายใน ด้านการปรับปรุงแก้ไข ด้านการกำหนดผู้รับผิดชอบและภารกิจการนิเทศ และการวางแผนการนิเทศ ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่า
3.1 ด้านการกำหนดผู้รับผิดชอบและภารกิจการนิเทศ โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ทุกข้อมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก ได้แก่ การแต่งตั้งคณะกรรมการนิเทศภายใน การกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการนิเทศภายใน และการกำหนดขอบข่ายและเนื้อหาของการนิเทศภายใน ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การสร้างเครื่องมือการนิเทศภายใน
3.2 ด้านการวางแผนการนิเทศ โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ทุกข้อมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก ได้แก่ การจัดกิจกรรมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการนิเทศภายในให้กับครูและบุคลากร การจัดกิจกรรมศึกษาดูงานนอกสถานที่ และการเชิญวิทยากรภายนอกมาให้ความรู้เกี่ยวกับการนิเทศภายใน ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการนิเทศของครูและบุคลากร
3.3 ด้านการดำเนินการนิเทศภายในโดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ทุกข้อมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก ได้แก่ ผู้บริหารสนับสนุนส่งเสริมการนิเทศภายในทั้งด้านวิชาการและด้านงบประมาณ คณะกรรมนิเทศภายในดำเนินการตามแผนที่วางไว้ ผู้บริหาร กำกับ ควบคุม ดูแลการนิเทศภายในให้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือการจัดอบรม สัมมนาทางวิชาการให้กับครูและบุคลากร
3.4 ด้านการประเมินผลการนิเทศและการรายงานผล โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด 4 ข้อ ระดับมาก 3 ข้อ โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก ได้แก่ การกำหนดประเด็นการประเมินให้ครอบคลุมทุกกิจกรรม การวิเคราะห์ผลการประเมินในด้านปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้น การประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการประเมินผลการนิเทศภายใน ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การสร้างเครื่องมือการประเมิน
3.5 ด้านการปรับปรุงแก้ไข โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ทุกข้อมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก ได้แก่ การเสริมแรงให้ขวัญกำลังใจ การจัดทำรายงานผลการประเมิน การนำผลการประเมินในด้านปัญหา อุปสรรคที่มาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การรายงานผลประเมินการนิเทศภายในให้หน่วยงานภายนอกทราบ
5.ผลการนำแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในที่พัฒนาแล้วมาทำการศึกษาซ้ำ (R3)
1. ผลการดำเนินการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในโรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ จากการนำแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในมาใช้เพื่อศึกษาการดำเนินการนิเทศภายในโรงเรียน ที่พัฒนาแล้วมาทดลองซ้ำ ทำให้ครูมีความรู้ ความสามารถ ในการพัฒนาตนเอง ให้เป็นครูที่มีคุณลักษณะที่ดี เป็นผู้มีความรู้ มีทักษะในการปฏิบัติงาน จัดการเรียนการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น สามารถสรุปผลที่เกิดขึ้นได้ดังนี้
1.1 ด้านการจัดการเรียนการสอน ครูมีความรู้ดี มีความสามารถในการสอนดีจากการพัฒนาตนเองอยู่เสมอทำให้ครูเป็นผู้มีความรอบรู้และมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอน ด้วยความเอาใจใส่มุ่งมั่นรับผิดชอบต่องานและการจัดการเรียนการสอน
1) ครูมีการพัฒนาแผนการสอนอยู่เสมอ เพื่อจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับชีวิตธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับความสนใจของนักเรียนและความต้องการของชุมชนท้องถิ่น ทำให้ครูมีแผนการสอนที่เหมาะสมและสนองตอบต่อจุดมุ่งหมายของหลักสูตร
2) ครูมีความสามารถในการผลิต จัดหา พัฒนาสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน โดยเน้นที่สื่อ เครื่องมือที่นักเรียนเป็นผู้ใช้ เพื่อพัฒนาศักยภาพของนักเรียน เช่น การใช้คอมพิวเตอร์ช่วยสอนและเพื่อแสวงหาความรู้
3) ครูมีความสามารถในการวัดผลประเมินผลตามสภาพจริง เน้นการวัดและประเมินผลพฤติกรรมนักเรียน และเน้นทักษะกระบวนการพัฒนาผู้เรียน เช่น กระบวนการคิด กระบวนการแก้ปัญหา การแสวงหาความรู้ และสรุปองค์ความรู้ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ความสามารถเต็มศักยภาพ
4) ครูมีความสามารถในการแสวงหาคิดค้น วิธีการจัดการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ ด้วยวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย ด้วยการคิด การปฏิบัติการจริง มุ่งปลูกฝังนักเรียนมีพฤติกรรมใฝ่รู้ใฝ่เรียนเช่น การสอนด้วยโครงงาน การให้นักเรียนสร้างผลงานและชิ้นงาน การใช้แหล่งเรียนรู้ในและนอกโรงเรียน ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น แล้วสรุปความรู้ด้วยตนเอง
1.2 ด้านทางสังคม
1) เป็นผู้มีความสุภาพเรียบร้อย มีมนุษยสัมพันธ์ กับเพื่อนร่วมงานและบุคคลทั่วไป
2) ครูเป็นผู้มีความรับผิดชอบ เสียสละ อุทิศเวลาให้กับงานและโรงเรียน
3) รักษาความสามัคคีของหมู่คณะ ทำงานร่วมกันด้วยความเข้าใจ มีความเป็น น้ำหนึ่งใจเดียวกัน ร่วมกันทำงานไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน มีความกลมเกลียวช่วยเหลือซึ่งกันและกันและมีความเห็นอกเห็นใจกัน
4) มีวินัยในตนเองรับผิดชอบงานตนเองให้เกียรติเอาใจเพื่อนร่วมงานและประพฤติตนอยู่ในระเบียบวินัยของทางราชการที่ดี
5) มีเจตคติที่ดีต่องานและเพื่อนร่วมงาน ตลอดจนเพื่อนร่วมอาชีพมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อบุคคลทั่วไปให้เกียรติและยกย่องเพื่อนร่วมงานและบุคคลในชุมชน ทำให้ชุมชนศรัทธาต่อครูและโรงเรียน
1.3 ด้านส่วนตัวของครู
1) เป็นผู้ใฝ่รู้ ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม มาพัฒนาตนเองอยู่เสมอ ตั้งใจทำงาน รักเด็ก เอาใจใส่และรับผิดชอบต่อการเรียนการสอน อุทิศเวลาทำงานเต็มความสามารถ
2) เป็นแบบอย่างที่ดีแก่นักเรียน มีความซื่อสัตย์ สุจริต เป็นที่น่าเชื่อถือ เคารพยกย่องถือแก่นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน
3) ได้รับความก้าวหน้า เลื่อนวิทยฐานะในมาตรฐานและวิชาชีพของครู
2. ความพึงพอใจของครูผู้สอนต่อรูปแบบกิจกรรมการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ ปีการศึกษา 2562 พบว่า โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก จำนวน 4 ข้อ อยู่ในระดับมากที่สุด จำนวน 12 ข้อโดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก ได้แก่ การเยี่ยมนิเทศชั้นเรียน การสาธิตการจัดการเรียนรู้ การสังเกตการจัดการเรียนรู้ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การให้ศึกษาเอกสารทางวิชาการ
6. ผลการประเมินผลแนวทางการพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วยกระบวนการนิเทศภายในของโรงเรียนที่พัฒนาแล้ว และประเมินความพึงพอใจ (D3)
1. ความพึงพอใจของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องที่มีต่อการนิเทศภายในของโรงเรียนเทศบาลวัดกู่คำ จังหวัดเชียงใหม่ จำแนกตามรายด้าน พบว่าโดยภาพรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุดเมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก 2 ด้าน ระดับมากที่สุด 3 ด้าน โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ได้แก่ ด้านการประเมินผลการนิเทศและการรายงานผล ด้านการกำหนดผู้รับผิดชอบและภารกิจการนิเทศ ด้านการดำเนินการนิเทศภายใน ด้านการปรับปรุงแก้ไข และการวางแผนการนิเทศ ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า
1.1 ด้านการกำหนดผู้รับผิดชอบและภารกิจการนิเทศ โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก จำนวน 2 ข้อ ระดับมากที่สุด จำนวน 3 ข้อ โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก ได้แก่ การกำหนดขอบข่ายและเนื้อหาของการนิเทศภายใน การกำหนดกรอบและความรับผิดชอบในการนิเทศภายในของคณะกรรมการนิเทศภายใน และการสร้างเครื่องมือการนิเทศภายใน ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การกำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการนิเทศภายใน
1.2 ด้านการวางแผนการนิเทศ โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ส่วนใหญ่มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก ได้แก่ การประชุมครูและบุคลากรร่วมวางแผนการนิเทศภายใน การจัดทำแผนการนิเทศประจำปี และการวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการนิเทศของครูและบุคลากร ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การเชิญวิทยากรภายนอกมาให้ความรู้เกี่ยวกับการนิเทศภายใน
1.3 ด้านการดำเนินการนิเทศภายในโดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก จำนวน 4 ข้อ ระดับมากที่สุด จำนวน 5 ข้อ โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก ได้แก่ ผู้บริหารสนับสนุนส่งเสริมการนิเทศภายในทั้งด้านวิชาการและด้านงบประมาณ คณะกรรมนิเทศภายในดำเนินการตามแผนที่วางไว้ และการประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการดำเนินการนิเทศภายในตามแผนที่วางไว้ ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือการจัดอบรม สัมมนาทางวิชาการให้กับครูและบุคลากร
1.4 ด้านการประเมินผลการนิเทศและการรายงานผล โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมากที่สุด เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ทุกข้อมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากที่สุด โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก ได้แก่ การวิเคราะห์ผลการประเมินในด้านปัญหา อุปสรรคที่เกิดขึ้น การกำหนดประเด็นการประเมินให้ครอบคลุมทุกกิจกรรม การประชุมชี้แจงเกี่ยวกับการประเมินผลการนิเทศภายใน ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การวิเคราะห์ผลการประเมินในด้านความสำเร็จ
1.5 ด้านการปรับปรุงแก้ไข โดยรวมมีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ ส่วนมากมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก โดยเรียงลำดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย 3 ลำดับแรก ได้แก่ การเสริมแรงให้ขวัญกำลังใจ การนำผลการประเมินในด้านปัญหา อุปสรรคที่มาปรับปรุงแก้ไข เพื่อให้การปฏิบัติงานมีประสิทธิภาพ การจัดทำรายงานผลการประเมิน ตามลำดับ ส่วนข้อที่มีค่าเฉลี่ยน้อยที่สุดคือ การรายงานผลประเมินการนิเทศภายในให้หน่วยงานภายนอกทราบ