การพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC ในการพัฒนาวิชาชีพครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
นางสาวนิภาพร ชาติสุข ตำแหน่งครู
ปีที่ศึกษา 2561
บทคัดย่อ
การพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC ในการพัฒนาวิชาชีพครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญการศึกษาครั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC และพัฒนารูปแบบการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC ในการใช้พัฒนาวิชาชีพครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (Participatory Action Research: PAR) กลุ่มเป้าหมายคือบุคลากรในโรงเรียนหนองนาคำวิทยาคม และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ผลการดำเนินการ พบว่าองค์ประกอบของชุมชนแห่งการเรียนรู้วิชาชีพ ประกอบด้วย 4 องค์ประกอบ ได้แก่ 1) การมีค่านิยมและวิสัยทัศน์ร่วม (Share values and vision) 2) การแลกเปลี่ยนการปฏิบัติงานระหว่างบุคคล (Shared personal practice) 3) การสนับสนุนและการมีภาวะผู้นำร่วมกัน (Supportive and Shared leadership) และ 4) ทีมร่วมแรงร่วมใจ (Collaborative teamwork)
การดำเนินการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC มีกิจกรรมดังนี้ 1) มีการประชุม อบรมให้ความรู้สร้างความตระหนัก และสร้างข้อตกลงร่วมกัน (MOU) ในการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC สู่สถานศึกษา 2) มีการนิเทศติดตามการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูและสังเกตชั้นเรียนอย่างเข้มข้น 3) มีการจัดเวทีการสะท้อนคิดและสะท้อนผลการปฏิบัติงานที่ดีที่สุด (Best practice) ยกย่องเชิดชูเกียรติ และจัดประชุมเพื่อสรุปผลการปฏิบัติงานและพัฒนาคู่มือการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC สู่สถานศึกษา 4) มีการกระตุ้นการการเรียนรู้ของนักเรียน สร้างค่านิยมและวิสัยทัศน์ร่วมกันในการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนเป็นสำคัญอย่างจริงจัง 5) มีการพัฒนาคู่มือการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC สู่สถานศึกษา มีแผนการขับเคลื่อน PLC ในสถานศึกษาที่ชัดเจน และสร้างต้นแบบ Log Book ให้กับคณะครูทุกคน 6) มีการใช้กระบวนการ PLC ในการพัฒนาวิชาชีพครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญทุกกลุ่มสาระการเรียนรู้และข้ามกลุ่มสาระการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ และ 7) มีการพัฒนาเครื่องมือนิเทศ กำกับ ติดตาม และประเมินผลการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC ในสถานศึกษา
จากการนำนวัตกรรมกระบวนการ PLC มาใช้พบว่ามีผลดังนี้
ประเด็นที่ 1 นักเรียนเกิดพลังการเรียนรู้ จากการปฏิบัติงานพบว่านักเรียนเกิดพลังการเรียนรู้ คือ มีความสุขในการเรียนรู้มากขึ้น สามารถอ่านหนังสือออก เขียนหนังสือเป็น และสามารถคิดวิเคราะห์แก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ สามารถทำงานเป็นทีมได้ และเรียนรู้ร่วมมือกันอย่างมีความสุข
ประเด็นที่ 2 ครูและบุคลากรทางการศึกษาลดความโดดเดี่ยวและมีความผูกพันต่อพันธะกิจและเป้าหมายของโรงเรียน จากการปฏิบัติงานค้นพบว่า ครูลดความโดดเดี่ยวในการทำงานลง เนื่องจากมีเพื่อนร่วมงานที่สามารถหาสาเหตุของปัญหาที่พบในชั้นเรียน จากการใช้กระบวนการสะท้อนคิดและสะท้อนผลการปฏิบัติงานระหว่างครูในกลุ่มสาระฯ เดียวกัน และครูต่างกลุ่มสาระฯ ทำให้ครูมีเพื่อนในการทำงาน และหลังจากการเรียนการสอนยังได้รับการสะท้อนผลจากเพื่อนครูด้วยกัน และจากทีมนิเทศการสอน ทำให้ครูมีกำลังใจในการทำงาน และทำงานได้ง่ายขึ้น ลดความโดดเดี่ยวในการทำงาน
ประเด็นที่ 3 โรงเรียนได้รูปแบบการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC สู่การพัฒนาวิชาชีพครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญที่มีประสิทธิภาพ และมีความเหมาะสมกับโรงเรียน โดยมีการลดภาระงานครู ให้ครูช่วยเหลือครูด้วยกัน และมีทีมนิเทศที่ให้คำปรึกษาในการเรียนการสอนของครูด้วย ส่งผลไปยังนักเรียนที่ได้รับการสอนในชั้นเรียนที่มีประสิทธิภาพ นักเรียนเรียนในชั้นเรียนได้ผลดียิ่งขึ้น นอกจากนี้แล้ว ในงานวิจัยยังเน้นว่า นักเรียนที่ครูต้องรู้จักมีความต้องการครูที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีนวัตกรรม ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้มีการพัฒนาแนววิถีการเรียนรู้และพัฒนาขององค์กรแบบโรงเรียนที่เรียกว่า PLC อย่างหลากหลายรูปแบบในบริบทต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนผ่านให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของในยุคศตวรรษที่ 21
ประเด็นที่ 4 รูปแบบกระบวนการ PLC มีการทำงานเป็นวงรอบ จำนวน 2 วงรอบ วงรอบละ 4 ขั้นตอน จนได้รูปแบบการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC สู่การพัฒนาวิชาชีพครูที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ประกอบด้วย 1) การวางแผนการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC ในสถานศึกษา 2) การดำเนินการขับเคลื่อนกระบวนการ PLC สู่การปฏิบัติในสถานศึกษา 3) การตรวจสอบคุณลักษณะของ PLC ในสถานศึกษา 4) การทบทวนการดำเนินงาน PLC สู่การปฏิบัติในสถานศึกษา เพื่อนำกระบวนการ PLC ของโรงเรียนที่ได้ใช้นำมาพัฒนาต่อยอด PLC สู่การปฏิบัติในสถานศึกษาที่ยั่งยืน