รูปแบบการสอน MATH HAPPY Model
นางสาวรุ่งนิรันดร์ โพธิ์เพชรเล็บ ตำแหน่ง ครู โรงเรียนน้ำโสมพิทยาคม
หลักการ
การจัดกระบวนการเรียนการสอนตามรูปแบบ “MATH HAPPY” เป็นการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างเจตคติที่ดีต่อรายวิชาคณิตศาสตร์ และมุ่งเน้นให้นักเรียนได้ศึกษาค้นคว้า สืบค้นข้อมูล คิดแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ด้วยตนเองตามขั้นตอนการแก้ปัญหาของโพลยา ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และมีการแลกเปลี่ยนความรู้ โดยอาศัย E-Learning เป็นสื่อเสริม สื่อเติม สื่อหลัก ในกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ ภายใต้การบูรณาการปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
แนวคิด
1. การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
การเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ แนวการจัดการเรียนการสอนที่เน้นให้ผู้เรียนสร้างความรู้ใหม่และสิ่งประดิษฐ์ใหม่โดยการใช้กระบวนการทางปัญญา(กระบวนการคิด) กระบวนการทางสังคม (กระบวนการกลุ่ม) และให้ผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมในการเรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้ โดยผู้สอนมีบทบาทเป็นผู้อำนวยความสะดวกจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้ผู้เรียน การจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญต้องจัดให้สอดคล้องกับความสนใจ ความสามารถและความถนัดเน้นการบูรณาการความรู้ในศาสตร์สาขาต่าง ๆ ใช้หลากหลายวิธีการสอนหลากหลายแหล่งความรู้สามารถพัฒนาปัญญาอย่างหลากหลายคือ พหุปัญญา รวมทั้งเน้นการวัดผลอย่างหลากหลายวิธี (พิมพันธ์ เดชะคุปต์, 2550)
โดยปัจจัยสำคัญที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อวิธีการศึกษา ได้แก่ แนวคิดพื้นฐานในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยสรุปได้ 4 ประการ คือ
1. ความแตกต่างระหว่างบุคคล (Individual Different)
2. ความพร้อม (Readiness)
3. การใช้เวลาเพื่อการศึกษา
4. ประสิทธิภาพในการเรียน
2. โพลยา (Polya, 1957: 16-17)
ได้เสนอขั้นตอนการแก้ปัญหาไว้ 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นที่ 1 ทำความเข้าใจปัญหา (Understanding the problem)
ขั้นที่ 2 วางแผนการแก้ปัญหา (Devising a plan)
ขั้นที่ 3 ดำเนินการตามแผน (Carrying out the plan)
ขั้นที่ 4 ตรวจสอบผล (Looking back)
3. E-Learning
คำว่า e-Learning โดยทั่ว ๆ ไปจะครอบคลุมความหมายที่กว้างมาก กล่าวคือ จะหมายถึง การเรียนในลักษณะใดก็ได้ ซึ่งใช้การถ่ายทอดเนื้อหาผ่านทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ เครือข่ายอินเตอร์เน็ต อินทราเน็ต เอ็กทราเน็ต หรือทางสัญญาณโทรทัศน์ หรือสัญญาณดาวเทียม (Satellite) ก็ได้ ซึ่งเนื้อหาสารสนเทศอาจอยู่ในรูปแบบการเรียนที่เราคุ้นเคยกันมาพอสมควร เช่น คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer-Assisted Instruction) การสอนบนเว็บ (Web-Based Instruction) การเรียนออนไลน์ (On-line Learning) การเรียนทางไกลผ่าน ดาวเทียม หรืออาจอยู่ในลักษณะที่ยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายนัก เช่น การเรียนจากวิดีทัศน ์ตามอัธยาศัย (Video On-Demand) เป็นต้น
4. ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชน จนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์
วัตถุประสงค์
การจัดกระบวนการเรียนการสอนตามรูปแบบ “MATH HAPPY” มีวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
1. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีการศึกษาค้นคว้า สืบค้นข้อมูล และเรียนรู้ด้วยตนเอง
2. เพื่อส่งเสริมความสามารถในการคิดแก้ปัญหาให้ผู้เรียนอย่างเป็นขั้นตอน
3. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้ มีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น และมีการแลกเปลี่ยนความรู้
4. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีเจตคติที่ดีต่อรายวิชาคณิตศาสตร์
กิจกรรมและขั้นตอนการดำเนินงาน
1. ขั้นนำ
M (Mouth) หมายถึง พูดคุย
คำอธิบาย: เป็นการพูดคุยระหว่างครูกับนักเรียนเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน เพื่อสร้างความเป็นกันเอง สร้างบรรยากาศที่ดีในชั้นเรียน และเตรียมความพร้อมในการเรียน
2. ขั้นสอน
A (Activity) หมายถึง กิจกรรม
คำอธิบาย: ครูจัดกิจกรรม จัดการเรียนการสอนเนื้อหาแก่นักเรียนทั้งชั้นโดยรวมก่อน อาจใช้อุปกรณ์การสอนต่าง ๆ มาช่วยในการสอน เนื้อหาที่สอนจะเป็นหน่วยการเรียนที่จะให้นักเรียนศึกษา
3. ขั้นสืบค้น
T (Technology) หมายถึง เทคโนโลยี
คำอธิบาย: กระบวนการค้นหาข้อมูลที่ต้องการจากฐานข้อมูลต่าง ๆ โดยใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี เช่น คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟน ในการสืบค้นเพื่อให้ได้ความรู้มา
H (How?) หมายถึง อย่างไร?
คำอธิบาย: การอภิปรายข้อค้นพบจากการสืบค้น
H (Higher Thinking) หมายถึง การคิดขั้นสูง
คำอธิบาย: การนำข้อมูล/ข้อค้นพบ จากการสืบค้นมาประมวลผล โดยใช้วิจารณญาณหรือการตัดสินอย่างมีเหตุผลรอบด้าน เพื่อแก้ปัญหา ตัดสินใจและสร้างแนวคิดใหม่ ๆ
A (Adjustment) หมายถึง การปรับให้เหมาะสม
คำอธิบาย: การนำแนวคิดที่ได้จากการประมวลผลมาปรับให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัญหาของตนเอง
4. ขั้นนำเสนอ
P (Present) หมายถึง นำเสนอ
คำอธิบาย: การที่ผู้เรียนได้นำรายละเอียดผลของการแก้ปัญหามานำเสนอแก่ครูผู้สอน เพื่อนร่วมชั้น ได้รับทราบถึงวิธีการ/กระบวนการ/ขั้นตอน/แนวคิด ในการได้มาซึ่งคำตอบหรือผลลัพธ์ที่ค้นพบ และมีการแลกเปลี่ยน ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้นำเสนอในการปรับปรุงหรือพัฒนาผลงานให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้อาจมีการจัดแสดงผลงานแก่บุคคลภายนอก เช่น การจัดป้ายนิเทศ การเผยแพร่สู่สังคมออนไลน์ (Social Media) เป็นต้น
5. ขั้นปฏิบัติ
P (Problem-solving) หมายถึง การแก้ปัญหา
คำอธิบาย: การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้และประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยกระบวนการแก้ปัญหาตามแนวคิดของโพลยา (Polya) ดังนี้
ขั้นที่ 1 ทำความเข้าใจโจทย์ (Understanding the problem)
- ทำความเข้าใจถ้อยคำต่าง ๆ ในปัญหา
- แยกแยะให้ออกว่าสิ่งที่ต้องการหาคืออะไร
- ข้อมูลและเงื่อนไขกำหนดให้มีอะไรบ้าง เพียงพอที่จะหาคำตอบได้หรือไม่
ขั้นที่ 2 วางแผนแก้ปัญหา (Devising a plan)
2.1 มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาในลักษณะนั้น ๆ มาก่อน
- พิจารณาสิ่งที่ต้องการหา
- เลือกปัญหาเก่าที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับปัญหาที่จะแก้ ทำให้ได้แนวทาง
- ปรับปรุงแนวทางในการแก้ปัญหาเก่าให้สอดคล้องเหมาะสมกับปัญหาใหม่
- วางแผนแก้ปัญหา
2.2 ไม่มีประสบการณ์ในการแก้ปัญหาลักษณะนี้มาก่อน
- พิจารณาสิ่งที่ต้องการหา
- หาวิธีการเพื่อให้ได้ความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่ต้องการหากับข้อมูลที่มีอยู่
- พิจารณาดูว่า ความสัมพันธ์นั้นสามารถหาคำตอบได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม หรือหาความสัมพันธ์ในรูปแบบอื่น
- วางแผนแก้ปัญหา
2.3 ดำเนินการแก้ปัญหาตามแผนที่วางไว้ เมื่อวางแผนเสร็จแล้วก็ดำเนินการแก้ปัญหาตามแผนที่วางไว้ ระหว่างการดำเนินการ ถ้าเห็นแนวทางอื่นที่ดีกว่าก็สามารถนำมาปรับเปลี่ยนได้
2.4 ตรวจสอบการแก้ปัญหา เมื่อได้วิธีการแก้ปัญหาแล้ว จำเป็นต้องตรวจสอบว่าวิธีการที่ใช้ให้ผลลัพธ์ที่ถูกต้องหรือไม่
ขั้นที่ 3 ปฏิบัติตามแผน (Carrying out the plan)
เมื่อได้มีการวางแผนแล้วก็ดำเนินการแก้ปัญหา ระหว่างการดำเนินการแก้ปัญหา อาจทำให้เห็นแนวทางที่ดีกว่าที่คิดไว้ก็สามารถปรับเปลี่ยนได้
ขั้นที่ 4 ตรวจสอบ (Looking back)
เป็นขั้นตอนสุดท้ายที่จำเป็นต้องมีการตรวจสอบผลลัพธ์ว่า ได้ดำเนินการแก้ปัญหาตามแผนที่วางไว้ถูกต้องหรือไม่
6. ขั้นสรุป
Y (Yes or No?) หมายถึง กิจกรรมใช่หรือไม่?
คำอธิบาย: กิจกรรมสรุปบทเรียนโดยใช้รูปแบบการถาม-ตอบ ระหว่างครูกับนักเรียน และระหว่างนักเรียนกับนักเรียน เพื่อสร้างเป็นความคิดรวบยอด (Concept) ของเนื้อหาที่เรียนผ่านมา