บทคัดย่อ
การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) ศึกษาสภาพปัญหาด้านการจัดประสบการณ์ทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 2) พัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 3) ศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 การวิจัยเป็นการวิจัยและพัฒนา แบ่งการวิจัยออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 การศึกษาสภาพปัญหาด้านการจัดประสบการณ์ทักษะทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 กลุ่มตัวอย่างในการวิจัยคือ ครูผู้สอนระดับชั้นอนุบาล จำนวน 36 คน ได้มาโดยใช้ตารางของเครจซีและมอร์แกน กลุ่มเป้าหมายคือ ครูผู้สอนระดับชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 8 คน และนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 จำนวน 24 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง
ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนเทศบาล 3 ห้าธันวาคม สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองยโสธร
ระยะที่ 2 การสร้างและทดลองใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อเสริมสร้าง ทักษะทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 กลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวน 7 คน และผู้เชี่ยวชาญ จำนวน 5 คน ได้มาโดยการเลือกแบบเจาะจง
ระยะที่ 3 ศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่พัฒนาขึ้น กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยคือ นักเรียนอนุบาลปีที่ 3/1 ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2562 โรงเรียนเทศบาล 3 ห้าธันวาคม สังกัดกองการศึกษา เทศบาลเมืองยโสธร จำนวน 31 คนซึ่งกลุ่มตัวอย่างได้มาโดยการสุ่มแบบกลุ่ม (Cluster Random Sampling) โดยใช้ห้องเรียนเป็นหน่วยสุ่ม
เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่ 1) รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น 2) แผนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ จำนวน 20 แผน ๆ ละ 1 ชั่วโมง 3) แบบทดสอบวัดทักษะทางภาษาแบบองค์รวม จำนวน 32 ข้อ ค่าความยากง่ายตั้งแต่ 0.37 0.77 ค่าอำนาจจำแนก ตั้งแต่ 0.21 0.68 และค่าความเชื่อมั่นทั้งฉบับเท่ากับ 0.87 4) แบบวัดความพึงพอใจ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบด้วย t-test (Dependent Sample)
ผลการวิจัยพบว่า
1. ผลการศึกษาสภาพปัญหาด้านการจัดประสบการณ์ทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 พบว่า การจัดประสบการณ์เพื่อพัฒนาทักษะทางภาษาแบบองค์รวมยังไม่ประสบผลสำเร็จและต้องพัฒนาเพิ่มขึ้น แนวทางการพัฒนา คือ ควรพัฒนาทักษะทางภาษาตามความสามารถ ตามวัยของนักเรียน ใช้วิธีการที่สอดคล้องกับความต้องการและความสนใจ ควรจัดประสบการณ์ทางภาษาที่หลากหลายเน้นการลงมือปฏิบัติจริง และแนวทางการพัฒนาทักษะทางภาษาแบบองค์รวม คือ ควรจัดประสบการณ์ที่เน้นทักษะทางภาษาแบบองค์รวมอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้นักเรียนมีพัฒนาการทางภาษาในแต่ละด้านสูงขึ้น การพัฒนาทักษะทางภาษาขึ้นอยู่กับประสบการณ์ และสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับธรรมชาติการเรียนรู้ภาษาของนักเรียนชั้นอนุบาลในแต่ละช่วงอายุ โดยสามารถนำแนวคิด ทฤษฎีการเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้สนับสนุนได้
2. ผลการพัฒนารูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 พบว่า รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ มีชื่อว่า REAEA Model มีองค์ประกอบดังนี้ 1) หลักการของรูปแบบ 2) วัตถุประสงค์ของรูปแบบ 3) ขั้นตอนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 4) ระบบสังคม 5) หลักการตอบสนอง และ 6) ระบบสนับสนุน โดยมีขั้นตอนการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ 5 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียมความพร้อม (Readiness : R) ขั้นที่ 2 ขั้นจัดประสบการณ์ (Experience : E) ขั้นที่ 3 ขั้นปฏิบัติ (Action : A)
ขั้นที่ 4 ขั้นแลกเปลี่ยนและสรุป (Exchanging and conclusion : E) และ ขั้นที่ 5 ขั้นนำความรู้ไปใช้และประเมินผล (Application and evaluation : A) ผลการประเมินความเหมาะสมของรูปแบบโดยผู้เชี่ยวชาญ พบว่า รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ มีความเหมาะสมระดับมากที่สุด
3. การศึกษาผลการใช้รูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาแบบองค์รวม สำหรับนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 พบว่า 1) ประสิทธิภาพของรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาแบบองค์รวมที่พัฒนาขึ้น มีประสิทธิภาพ (E1/E2) เท่ากับ 84.29/83.97 ซึ่งมีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ 80/80 ที่ตั้งไว้ 2) นักเรียนที่ได้รับการจัดประสบการณ์ด้วยรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ที่พัฒนาขึ้น มีทักษะทางภาษาแบบองค์รวมหลังได้รับการจัดประสบการณ์สูงกว่าก่อนได้รับการจัดประสบการณ์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ทั้งโดยรวมและรายด้าน และ 3) ความพึงพอใจของนักเรียนชั้นอนุบาลปีที่ 3 ที่มีต่อรูปแบบการจัดประสบการณ์การเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างทักษะทางภาษาแบบองค์รวม มีความพึงพอใจอยู่ในระดับมาก